xs
xsm
sm
md
lg

คีตาศิรวาท เบื้องพระยุคลบาทองค์ราชันย์ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต พิ้งค์-เปรมิกา สุจริตกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระอัจฉริยะภาพและพรสวรรค์ทางด้านดนตรีเป็นอย่างมาก ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง 48 บทเพลงของพระองค์ได้ถูกนำไปร้อง ไปแสดงในหลายรูปแบบ ได้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษให้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก และมาถึงวันนี้บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าเหล่านั้น ได้ถูกแปลและเรียบเรียงออกมาเป็นภาษาฝรั่งเศส โดย พิ้งค์-เปรมิกา สุจริตกุล

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฝรั่งเศส “พิ้งค์” เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำหนังสือทูลเกล้าถวายขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญเนื้อร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเรียบเรียงแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ด้วยความหวังให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสสัมผัสความไพเราะของเพลงพระราชนิพนธ์ และพระอัจฉริยะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า

“พิ้งค์เชื่อว่าเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเพลงที่อยู่ในดวงใจของคนไทยมาตลอด ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีภาษาฝรั่งเศส ซึ่งพวกเรารู้ว่าภาษาฝรั่งเศสก็เป็นภาษาแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาตั้งแต่พระชนมายุ 6 พรรษา ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็คิดว่าน่าจะมีภาษาที่ 3 อีกภาษาหนึ่งให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสสัมผัสความไพเราะและพระอัจฉริยะของพระองค์ ก็ตั้งใจแปลถวายพระองค์เลยทำหนังสือทูลเกล้าขอไปขอไปในนามเปรมิกา สุจริตกุล ตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว” พิ้งค์เล่าด้วยสีหน้าอิ่มเอิบ
หลังทูลเกล้าฯประยะหนึ่ง เธอก็ได้รับจดหมายจากท่านราชเลขาฯ แจ้งมาที่บ้านของเธอว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลได้ เธอบอกว่าวันนั้นเป็นวันที่เธอภูมิใจมาก

พิ้งค์-เปรมิกา เป็นบุตรสาวคนเล็กของ ศ.ดร.สมปอง และ ถ่ายเถา สุจริตกุล เกิดในเมืองไทย อายุได้ประมาณ 8 ขวบ คุณพ่อซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส ทำให้ เธอต้องติดตามคุณพ่อไปอยู่ที่นั่นตั้งแต่เด็ก และที่นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้สัมผัสสิ่งแวดล้อมใหม่พร้อมกับการเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสเพิ่ม

“จำได้ว่าตอนที่ไปนั้นอยู่ ป.2 ก็ได้ไปเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศสที่นั่น ไปอยู่ฝรั่งเศส 9 ปี ก่อนไปอิตาลี ฮอลแลนด์ ตรงนั้นก็ได้สัมผัสวัฒนธรรมต่างๆมา ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่คนใช้มากภาษาหนึ่งมีเอกลักษณ์ พิ้งค์ถือว่าโชคดีเป็นประสบการณ์ที่เราได้เอามาใช้งานตรงนี้ได้อย่างเต็มที่” พิ้งค์บอกพร้อมรอยยิ้ม
ด้วยแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นที่จะทำงานแปลถวายในหลวง เธอจึงทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับงานแปล ซึ่งหากใครได้ยินได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส และเข้าถึงภาษา จะรู้ได้ว่าไพเราะจับใจเพียงใด แต่การแปลบทเพลงอันทรงคุณค่าไม่ง่ายอย่างที่คิด กว่าจะผ่านการกลั่นออกมาแต่ละเพลง “พิ้งค์” บอกว่าต้องใช้เทคนิคพิเศษ เชี่ยวชาญเรื่องทักษะไวยากรณ์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าใจองค์ประกอบหลายอย่างรวมถึงความคุ้นเคยต่างๆในวัฒนธรรมฝรั่งเศส

“ตอนแรกที่แปลยอมรับว่าเครียดมาก การแปลไทยเป็นฝรั่งเศส ยากกว่าที่คิดคือ เราไม่สามารถแปลได้ตรงตัว ทักษะความรู้เรื่องไวยากรณ์ที่มีอย่างเดียวไม่พอ เราต้องรู้ ถึงวัฒนธรรมประเพณีด้วย สิ่งที่พิ้งค์ทำคือไม่ได้แปลตรงตัว เราต้องตีความหมาย นำตรงนี้มาถอดใจให้จินตนาการ แล้วสร้างสรรค์เป็นคำพูด จากคำพูดกลั่นกรองให้เป็นคำร้อง ในรูปแบบร้อยกรองที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับ ความหมายต้องไม่ผิด และต้องร้องได้ด้วย แล้วการเลือกหาคำฝรั่งเศสให้สอดคล้องกับเนื้อหาและท่วงทำนองให้ร้องได้ด้วยเราต้องจินตนาการตรงนี้แหละที่ต้องใช้เวลามาก” พิ้งค์อธิบายขั้นตอนและความยากในการทำงาน

หลายครั้งที่นั่งทำงานที่ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนทำให้พิ้งค์รู้สึกท้อแท้ แต่เมื่อนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรชาวไทยแล้วทำให้เธอมีกำลังใจในการทำงานต่อ

“ยอมรับว่ามีช่วงท้อแท้คือเหนื่อยแบบไม่ไหวแล้ว ก็นั่งนึกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงงานหนักเพื่อพวกเรามาตลอด ความท้อแท้กับงานแปลตรงนี้ก็หายไป นอกจากนี้ก็มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณตาล - ศิรเวท ศุขเนตร ( สามีเปรมิกา ) คอยเป็นกำลังใจ ตรงไหนที่ติดก็จะช่วยให้คำแนะนำตลอด ความรู้สึกที่พิ้งค์เรียกว่า “ยาก” ก็เลยกลายเป็น “ความคุ้นเคย” อาจเป็นเพราะท่วงทำนองความไพเราะก็พาไป จาก “ความยากลำบาก” ก็กลายเป็น”ความลื่นไหล”"
บทเพลงที่ทรงคุณค่าจากองค์อัครศิลปิน “พิ้งค์” บอกว่ายิ่งแปลก็ยิ่งผูกพัน จากตอนแรกไม่รู้จักเพลงพระราชนิพนธ์มากนัก ได้ฟังบ่อยก็เช่น “ใกล้รุ่ง” “ยามเย็น” แต่พอยิ่งแปลเราได้รู้ว่ายังมีอีกหลายเพลงที่ไม่รู้จัก ฟังไปฟังมาเพลงนั้นก็เพราะ เพลงนี้ก็เพราะ จากที่คิดว่าจะแปลเพียง4 เพลงเลยกลายเป็น 27 เพลง และเมื่อเกิดความหลงใหล พิ้งค์จึงไม่หยุดแค่แปลเพลงะพระราชนำพนธ์เท่านั้น เธอยังทำงานต่อโดยจัดคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์ภาษาฝรั่งเศส หนังสือ และซีดี

“ยิ่งแปลก็รู้สึกรัก อยากทำต่อถึงตรงนี้เริ่มเยอะ พิ้งค์ก็ปรึกษาคุณตาล ได้ข้อสรุปตั้งมูลนิธิคีตาศิรวาท เป็นองค์กรเพื่อการศึกษาจดทะเบียนตามกฎหมาย มีทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุน ได้ทำคอนเสิร์ต“ตราบสิ้นดินฟ้า...คีตาศิรวาท ๘๔ พรรษา”

ซึ่งคอนเสิร์ตนี้ได้เปิดการไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา ณ หอประชุมราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช นอกจากนี้เธอยังได้จัดทำหนังสือที่ระลึกชุด ”Prestige”จัดจำหน่ายพร้อมกับ ซี.ดี. เพลงพระราชนิพนธ์ภาษาฝรั่งเศส “ตราบสิ้นดินฟ้า - คีตาศิรวาท 84 พรรษา” “Gitasiravadha-A Tout Jamais”

คอนเสิร์ตในครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก จนมูลนิธิคีตาศิรวาทร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม และประเทศฝรั่งเศส จึงเตรียมจัดคอนเสิร์ต “ตราบสิ้นดินฟ้า...คีตาศิรวาท 84 พรรษา” อีกครั้งที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในวันที่ 10 มีนาคมนี้

สำหรับหนังสือ “Prestige” มีเนื้อร้องทั้งภาษาไทยและฝรั่งเศส มีภาพสีน้ำฝีมือเธอเป็นภาพประกอบ รูปเล่มหรูหรา ภายในมีซีดี Paroles d'Amour เพลงพระราชนิพนธ์ภาษาฝรั่งเศส ขับร้องโดยศิลปินกิตติมศักดิ์เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศส อาทิ อ.สมิธิ ศิริภัทร์, ชาลี อมาตยกุล, น.พ. วิภู กำเนิดดี, ดร. นฎาประไพ สุจริตกุล, แคทลียา สตางค์มงคล, คริสตีน่า และเทเรซ่า อาร์กีล่า อรรถวดี จิระมณีกุล และ Christophe Descamps ฯลฯ

การทำความดีถวายพระองค์ ไม่ว่าทำงานอะไรก็ตามที่ก่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม สำหรับพิงค์-เปรมิกา ผู้หญิงตัวเล็กๆ กิริยาเรียบร้อยและอ่อนหวานคนนี้บอกเราก่อนจากว่า
“โดยส่วนตัวแล้วพิงค์คิดอยู่เสมอว่าเรานั้นเป็นเพียงเศษเถ้าธุลีดินฝุ่นที่อยู่ใต้ผ่าละอองธุลีพระบาท ถ้าหากได้ทำอะไรถวายพระองค์ถือว่าสิริมงคลต่อตัวเองเป็นอย่างยิ่ง แม้บางครั้งเราจะเกิดความท้อบ้าง แต่เมื่อคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นเทียบไม่ได้เลยกับพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อพวกเราทุกคน”