xs
xsm
sm
md
lg

ยลภาพเขียนสีมังกรต้อนรับปีมะโรงที่ “พระราชวังพญาไท”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
หน้าสนามพระราชวังพญาไทมีพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6
ก่อนอื่นฉันต้องขอกล่าว สวัสดีปีใหม่ 2555 ขึ้นต้นปีมะโรงงูใหญ่ หรือที่บางแห่งเรียกว่าปีพญานาค และบางสำนักก็เรียกกันว่าเป็นปีมังกร ตามความเชื่อของชาวจีน ซึ่งชาวจีนจะให้ความหมายของมังกรแทนสิ่งที่สูงศักดิ์ เช่น เทพเจ้า กษัตริย์ ความยิ่งใหญ่ อำนาจบารมี

การขึ้นต้นปีนักษัตรมะโรงนี้ จึงทำให้ฉันนึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อเร็วๆนี้ฉันได้มีโอกาสไปเดินชม “พระราชวังพญาไท” และฉันก็ได้พบเห็นเจ้ามังกรที่สวยงาม ณ ที่แห่งนี้ จึงอยากให้ทุกคนได้เห็นในช่วงขึ้นปีใหม่ปีมังกรนี้ แต่ก่อนที่ฉันจะพาไปพบมังกร ก็เป็นธรรมเนียมที่เราจะต้องมารู้จักกับพระราชวังพญาไทกันเสียก่อน
ห้องท้องพระโรงที่ชั้นบนพระที่นั่งพิมานจักรี
ย้อนอดีตไปเมื่อพ.ศ.2451 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดซื้อที่สวนและนา บริเวณริมคลองสามเสนติดกับทุ่งพญาไทเป็นที่แปรพระราชฐาน เพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถและทดลองปลูกธัญพืชต่างๆ โดยจัดให้สร้างพระตำหนักที่ประทับหลังเล็กขึ้น พระราชทานนามว่า “พระตำหนักพญาไท”

พระตำหนักแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทำนา ปลูกผัก การเลี้ยงสัตว์ บริเวณทุ่งพญาไท อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีแรกนาขวัญ ต่อมาเมื่อทรงโปรดที่จะเสด็จประพาสพระตำหนักแห่งนี้บ่อยครั้งขึ้น จึงได้ทรงพระราชทานนามใหม่เป็น “วังพญาไท”
ห้องทรงพระอักษร พระที่นั่งพิมานจักรี
ล่วงมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดที่จะเสด็จมาประทับ ณ วังพญาไทแห่งนี้เป็นครั้งคราว และยังได้ทูลเชิญสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชมารดา มาประทับที่พระราชวังแห่งนี้ด้วย จนกระทั่งพระราชมารดาสวรรคตเมื่อปี 2463

และในปีนั้นเอง พระองค์ได้ทรงรื้อพระตำหนักพญาไท เหลือไว้เพียง “พระที่นั่งเทวราชสภารมย์” ซึ่งเป็นท้องพระโรง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งใหม่หลายพระองค์ รวมทั้งได้รับการสถาปนาวังพญาไทเป็น “พระราชวังพญาไท”
ห้องพระบรรทมและห้องสรงของร.6
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายดุสิตธานีจากพระราชวังดุสิตมาสร้างเป็นเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” หรือเมืองประชาธิปไตยย่อส่วนขึ้น ภายในพระราชวังพญาไท เพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ.2462

ต่อมาในปลายรัชสมัยรัชกาลที่6 พระองค์ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะเปลี่ยนแปลงพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของประเทศ เพื่อพระราชทานความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขาย แต่พระองค์ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน รัชกาลที่7 จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งขึ้นนามว่า “โฮเต็ลพญาไท” และเปิดบริการเมื่อปี 2468 ตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 6
ภาพพญามังกร 5 เล็บ เขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้ง
จากนั้นในปี 2473 ได้เปลี่ยนโฮเต็ลพญาไทเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง วิทยุแห่งแรกของไทย กระทั่งปี 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ย้ายสถานีวิทยุไปที่ศาลาแดง และให้สถานพยาบาลกองทัพบกเข้ามาอยู่แทน แต่เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เคยเป็นพระราชวังในรัชกาลที่ 6 มาแต่เดิม และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ กองทัพบทจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” ตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา

ภายในพระราชวังพญาไทประกอบด้วยพระที่นั่งที่สร้างในสมัยร.6หลายองค์ ได้แก่ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธาวาส พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ สำหรับพระที่นั่งองค์แรกที่ฉันได้ชมคือ “พระที่นั่งพิมานจักรี” เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังพญาไท
ภาพเขียนสีปูนแห้งรูปเทพน้อยลอยอยู่ในท้องฟ้าที่พระที่นั่งไวยกูณฐเทพยสถาน
พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับของร.6และพระมเหสี ลักษณะตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น สถาปัตยกรรมทรงโรมันเนสก์ผสมกับทรงกอธิค โดยจุดเด่นของพระที่นั่งองค์นี้อยู่ที่ยอดโดมสีแดงซึ่งในอดีตใช้สำหรับชักธงมหาราชขึ้นเหนือพระที่นั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ บานประตูเป็นแบบไม้จำหลักปิดทอง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อเหนือบานประตูว่า "ร.ร.๖" ซึ่งหมายถึง สมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ 6

โดยที่ชั้นล่างมี ห้องรับแขก ที่เคยใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะ, ห้องธารกำนัล เคยใช้เป็นที่เสด็จลงทรงรับแขก ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเป็นโฮเต็ลพญาไทจึงใช้ห้องนี้เป็นห้องอาหาร ส่วนในชั้นบนมี ห้องท้องพระโรง เป็นห้องเสด็จออกให้เฝ้าส่วนพระองค์, ห้องประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ภายในมีจิตรกรรมสีปูนแห้งบนฝ้าเพดานเป็นลายดอกไม้ ส่วนที่บัวฝ้าเพดานเป็นลายหางนกยูง สัญลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี, ห้องทรงพระอักษร เป็นห้องใต้โดมบนชั้นสอง ยังปรากฏตู้หนังสือแบบติดผนัง เป็นตู้สีขาวลายทองมีอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร. 6 และห้องพระบรรทมพร้อมห้องสรง
บรรยากาศที่บริเวณทางเดินพระที่นั่งพิมานจักรี
ซึ่งภายในห้องพระบรรทมของรัชกาลที่ 6 นี้เองที่มีภาพพญามังกร 5 เล็บ เขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้ง (fresco secco) หมายถึงสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชา และปีพระราชสมภพ อันถือเป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งของห้องนี้ และยังมีการตกแต่งลายเพดานเป็นภาพคัมภีร์ในศาสนาพุทธเขียนบนใบลานด้วย

ส่วนบริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี ยังมีอาคารเทียบรถพระที่นั่งแบบนีโอคลาสสิค สำหรับเป็นลานเทียบรถพระที่นั่งและห้องพักคอยผู้รอเข้าเฝ้ารัชกาลที่6 ด้วย ปัจจุบันถูกใช้เป็นร้านกาแฟนรสิงห์
ภาพเขียนสีแบบอาร์ต นูโว ที่พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส
จากพระที่นั่งพิมานจักรี ฉันไปต่อยัง “พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน” เป็นพระที่นั่งก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น และได้ต่อเติมเป็นพระที่นั่ง 3 ชั้นในภายหลัง พระที่นั่งองค์นี้มีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ในชั้นที่ 2 โดยชั้นที่ต่อเติมขึ้นมาในภายหลังจัดเป็นห้องพระบรรมทมและห้องสรงส่วนพระองค์ และเคยถูกใช้เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงด้วย
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เคยเป็นท้องพระโรงเดิม
สำหรับห้องพระบรรทมตั้งอยู่บนชั้นที่ 3 ภายในห้องมีจิตรกรรมเขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้งบนฝ้าเพดาน เป็นรูปเทพน้อย 4 องค์ พร้อมเครื่องดนตรีลอยอยู่ในท้องฟ้าเป็นวงกลม การจัดภาพและฝีมืองดงามมาก นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมบนฝ้าเพดานและเชิงฝ้าเพดานที่ห้องทรงพระอักษร ห้องพระสมุด ห้องพระภูษา ด้วยเช่นกัน
ภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์สีฉูกฉาด
จากนั้นฉันมาต่ออารมณ์ที่ “พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส” เดิมมีนามว่า “พระที่นั่งลักษมีพิลาส” ตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระชายา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น มียอดโดมเช่นเดียวกับพระที่นั่งพิมานจักรีแต่ขนาดเล็กกว่า ตัวอาคารมีสถาปัตยกรรมแบบอิงลิช กอธิค มีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานจักรีที่บริเวณชั้น 2

และเนื่องจากพระที่นั่งศรีสุทธนิวาสนี้ใช้เป็นที่รับรองของเจ้านายฝ่ายใน ภาพเขียนที่พระที่นั่งองค์นี้จึงมีความอ่อนช้อย มีจิตรกรรมลักษณะแบบ อาร์ต นูโว เป็นลายดอกไม้ และที่ห้องสำคัญเป็นภาพชายหญิงและแกะ ซึ่งเป็นภาพเขียนสีแบบตะวันตก
พระตำหนักเมขลารูจี องค์น้อยน่ารัก
ถัดไปได้แก่ “พระที่นั่งเทวราชสภารมย์” เคยเป็นท้องพระโรงเดิมที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบไบเซ็นไทน์ ในสมัยพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยยังปรากฏอักษรพระนามาภิไธย สผ ซึ่งเป็นพระนามเดิมคือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี มีโดมอยู่ตรงกลางรับด้วยหลังคาโค้งประทุน 4 ด้าน บนผนังมีจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา ทาสีฉูดฉาดหลายสี

ส่วน “พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์” เป็นอาคารสูง 2 ชั้นที่เรียบง่าย ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว เน้นบริเวณประตูทางเข้าและบันไดขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี และพระสุจริตสุดาพระสนมเอก ปัจจุบันใช้เป็นที่ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฏเกล้า
สวนโรมัน
นอกจากพระที่นั่งทั้ง 5 องค์นี้ ยังมี “พระตำหนักเมขลารูจี” เป็นตำหนักเรือนไม้สักองค์น้อยน่ารัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ภายในมีภาพเขียนสีลายนก สวยงาม และมีสระสรง ใช้เป็นที่สรงน้ำหลังจากทรงตัดผม และที่ด้านหลังมวลหมู่พระที่นั่งยังมี “สวนโรมัน” ประกอบด้วยศาลาทรงกลมตรงกลางมีหลังคาโดมรับด้วยเสาแบบคอรินเธียน ขนาบด้วยศาลาทรงสี่เหลี่ยมโปร่งไม่มีหลังคา มีการประดับด้วยตุ๊กตาหินอ่อนแบบโรมันบริเวณบันไดทางขึ้น ซึ่งต่อเนื่องกับด้านหน้าที่มีสระน้ำขนาดใหญ่

นอกจากนี้ยังมี “รูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูร” เชื่อกันว่าท้าวหิรันยพนาสูรนี้ เป็นอสูรชายรูปร่างล่ำสันใหญ่โต มีสัมมาทิษฐิและสัมมาปฏิบัติ คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวงให้กับรัชกาลที่6 และข้าราชบริพาร ตั้งแต่เมื่อครั้งเสต็จประพาสมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. 2449 พระองค์จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ช่างหล่อรูปท้าวหิรันยพนาสูรขนาดใหญ่ด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไท
ท้าวหิรันยพนาสูรและพระมหานาคชินะวรฯ
และยังมี"พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช" พระพุทธรูปประจำพระราชวังพญาไทซึ่งสร้างขึ้นในภายหลัง พระพุทธรูปปางนาคปรกองค์นี้จำลองแบบมาจากพระมหานาคชินะ ซึ่งรัชกาลที่6 ทรงสร้างไว้เมื่อครั้งทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งปีนี้ก็ถือเป็นปีของพญานาคเช่นกัน น่าที่จะมากราบไหว้ขอพร

ฉันคิดว่าในปีงูใหญ่ หรือปีมังกรนี้ เรามาเที่ยวชม "พระราชวังพญาไท" อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเราชาวไทย และยังได้มาชมภาพเขียนสีมังกร 5 เล็บ ที่ถือเป็นมังกรศักดิ์สิทธิ์ที่สวยงาม เข้ากับปีมะโรงนี้เป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นการอวยพรขึ้นปีใหม่ให้กับพี่น้องทุกคนอีกรูปแบบหนึ่งด้วย

****************************************
****************************************

“พระราชวังพญาไท” ตั้งอยู่ที่ ถ.ราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันเสาร์-อาทิตย์ พร้อมวิทยากรจากชมรมคนรักวัง ในเวลา 9.30 น. และ 13.30 น. สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคสมทบทุนในโครงการอนุรักษ์โบราณสถานพระราชวังพญาไทเพื่อนำไปบูรณะซ่อมแซมพระราชวังแห่งนี้ สามารถบริจาคได้ที่ “กองทุนพระราชวังพญาไท” ธ.ทหารไทย สาขารพ.พระมงกุฎฯ หมายเลขบัญชี 038-2-47657-0 หรือสอบถามได้ที่สำนักงานมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท โทร.0-2354-7732, 0-2354-7987
กำลังโหลดความคิดเห็น