xs
xsm
sm
md
lg

กาชาดช่วยเรา เราช่วยกาชาด เที่ยว “พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ภายในพิพิธภัณฑ์ผสมผสานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ใครที่ผ่านไปผ่านมาแถวจุฬา สยาม พระราม 4 จะต้องคุ้นเคยกับถนนชื่อแปลกแห่งนี้ “ถนนอังรี ดูนังต์” ฉันคนหนึ่งที่สัญจรผ่านไปมาอยู่หลายครั้งก็นึกสงสัยถึงชื่อของถนนเส้นนี้ หลังจากไปหาข้อมูลดูก็ได้รู้ว่า ถนนอังรี ดูนังต์ มาจากชื่อของผู้กำเนิดการกาชาด นายอังรี ดูนังต์ ชาวสวิส

เหตุที่นำชื่อผู้กำเนิดการกาชาดมาตั้งเป็นชื่อถนนนั้นก็ เนื่องมากจากครั้งเมื่อครบรอบ 100 ปี สภากาชาดสากล ประเทศสมาชิกได้จัดทำอนุสรณ์รำลึกถึงอังรี ดูนังต์ สภากาชาดไทยจึงคิดกันว่า น่าจะตั้งชื่อสาธารณสมบัติสักอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เหมือนที่อังรี ดูนังต์ได้ทำไว้
ธงสภาอุณาโลมแดง
สภากาชาดไทยได้เห็นว่า “ถนนสนามม้า” ถนนที่อยู่ใกล้สภากาชาดไทยมากที่สุดนั้น มีชื่อที่ฟังแล้วรู้สึกไม่ดี จึงเปลี่ยนชื่อตามผู้ก่อตั้งกาชาดโลกที่ชื่อ "อังรี ดูนังต์" มาจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อได้รู้ถึงที่มาของชื่อถนนแห่งนี้ แล้ว ฉันก็ไม่พลาดที่จะต้องมาทำความรู้จักกับสภากาชาดไทย เจ้าของชื่อถนนแห่งนี้ ที่ “พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย”

โดยเมื่อปี พ.ศ.2546 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย มีพระราชดำริให้สภากาชาดไทยดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทยเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย
ส่วนจัดแสดงเรื่องบูรณาการสถานศึกษา
โดยมีพระราชประสงค์ให้นำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์สภากาชาดสากล ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เผยแพร่เรื่องราวความเป็นมา ภารกิจของสภากาชาดสากล และสภากาชาดไทย และได้เปิดตัวในวาระครบรอบวันสถาปนาสภากาชาดไทย 118 ปี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2544 ที่ผ่านมา

ภายในพิพิธภัณฑ์ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง แบ่งส่วนแสดงเป็น 7 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกได้แก่ “สถาปนาสันติธรรม” ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นสีของสภากาชาดไทยด้วย สื่อถึงอุณาโลมอันเป็นอุดมการณ์ของกาชาด จะจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาที่กำเนิดกาชาดสากลโดยนายอังรี ดูนังต์ ชาวสวิส เขาได้เดินทางไปแสวงโชคในทวีปอัฟริกา ขณะนั้นเป็นช่วงสงครามที่กองทัพฝรั่งเศสช่วยอิตาลีรบกับออสเตรีย
ระหว่างชมพิพิธภัณฑ์มีเกมกิจกรรมให้เล่นเพลิดเพลิน
ดูนังต์ได้เห็นผู้คนล้มตายและบาดเจ็บเกลื่อนกลาด โดยไม่มีผู้ใดให้ความช่วยเหลือ เขาจึงลงมือช่วยด้วยตนเองและขอร้องชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นให้มาช่วยด้วย และนี่เองเป็นจุดกำเนิดความคิดของการก่อตั้งการกาชาดขึ้น โดยมีหลักการ คือ มนุษยธรรม ไม่ลำเอียง เป็นกลาง เป็นอิสระ บริการอาสาสมัคร เป็นเอกภาพ และเป็นสากล
ส่วนโอสถบริรักษ์ใช้สีเหลือสื่อถึงความนุ่มนวล
สำหรับสภากาชาดไทยนั้น ถือกำเนิดในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทระหว่าง ประเทศสยามกับประเทศฝรั่งเศส เรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งส่งผลให้ทหารบาดเจ็บล้มตายมาก แต่ไม่มีองค์การกุศลหลักที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือพยาบาลและบรรเทาทุกข์ ดังนั้นท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ จึงได้ชักชวนสตรีอาสาสมัครขึ้น และได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้ง "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม"
ส่วนอภิบาลดรุณจัดแสดงเกี่ยวกับมูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท รัชกาลที่ 5 มีพระราชกระแสว่า เป็นความคิดอันดีตามแบบอย่างประเทศที่เจริญแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง "สภาอุณาโลมแดง" ขึ้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2436 ซึ่งถือเป็น "วันสถาปนาสภากาชาดไทย" นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็นสภาชนนี สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ทรงเป็นสภานายิกา และท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ เป็นเลขานุการิณีสภาอุณาโลมแดง
เข็มกลัดรูปแบบต่างๆสำหรับผู้บริจาคโลหิต
ส่วนจัดแสดงต่อมาคือ “บูรณาการสถานศึกษา” ใช้สัญลักษณ์สีแสด เพื่อสื่อถึงพระอาทิตย์หรือพลังแห่งการรักษา จัดแสดงภารกิจของสภากาชาดไทยด้านการแพทย์ การพยาบาล และการให้การศึกษาด้านแพทย์และพยาบาล ผ่านทางสถานศึกษาและหน่วยงานทางสาธารสุขที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ เราสามารถชมผ่านวีดิทัศน์ได้
มุมบุญเกษมแสดงภารกิจของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
ส่วนถัดไปคือ “โอสถบริรักษ์” ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ สื่อถึงความนุ่มนวล ภายในส่วนนี้จัดแสดงถึงภารกิจของสภากาชาดในการผลิตเซรุ่ม และวัคซีน เพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรคต่างๆ เช่น การเปิดสถานเสาวภา ซึ่งมีภารกิจในการผลิต ค้นคว้า และบริการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับป้องกันและวินิจฉัยโรค เช่น การผลิตเซรุ่มแก้พิษงู และแก้พิษสุนัขบ้า เป็นต้น
ส่วนบำเพ็ญคุณากรจัดแสดงเรื่องการให้ความช่วยเหลือของสภากาชาดไทย
จากโซนสีเหลือง ฉันเดินเข้าสู่โซน “อภิบาลดรุณ” ใช้สีเขียว สื่อถึงการเจริญเติบโตถือเป็นกำลังและอนาคตของชาติ ในโซนนี้จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังแสดงเรื่องของหน่วยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือ Day Care ด้วย

จากนั้นเข้าสู่ส่วนที่ 5 มุม “บุญเกษม” แทนด้วยสีน้ำเงิน สื่อถึงทรัพย์และการให้ มุมนี้แสดงภารกิจของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ที่มุ่งในการจัดหาโลหิตจากผู้บริจาคที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้เพียงพอและปลอดภัยสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ ซึ่งฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ไปบริจาคโลหิตอยู่เนืองๆ
โปสเตอร์เชิญชวนให้มาร่วมกับสภากาชาด
ต่อด้วยส่วน “บำเพ็ญคุณากร” ใช้สีครามสื่อถึงการให้ความช่วยเหลือของสภากาชาดไทยที่แพร่ไปทั่วโลก ภายในส่วนนี้จัดแสดงภารกิจในด้านการบรรเทาทุกข์โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมคุณภาพชีวิต

สุดท้ายฉันมาจบที่ส่วนจัดแสดงที่ 7 ส่วน “อมรสาธุการ” โดยใช้สีม่วง สื่อถึงสมเด็จพระเทพฯ อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ในส่วนนี้จัดแสดงยกย่องผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สภากาชาดไทย
ธงประเทศสมาชิกกาชาดโลก
เมื่อเราเดินชมครบทุกส่วนจัดแสดงแล้ว ลองเงยหน้ามองขึ้นไปด้านบนเพดาน จะเห็นธงชาตินานาประเทศที่เป็นสมาชิกของสภากาชาดโลกจัดแสดงไว้มากมายหลายสิบประเทศ ทำให้ห้องดูมีสีสันสวยงามสดใสมากเลยทีเดียว

ชม "พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย" แล้ว ทำให้ฉันรู้สึกสุขใจที่ท่ามกลางสังคมที่ตัวใครตัวมันมากขึ้น ยังมีองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่คอยบำบัดทุกข์บำรุงสุข และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เหมือนสโลกแกนที่พูดกันจนติดปากว่า เราช่วยกาชาด กาชาดช่วยเรา
อาคารพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย” ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานเสาวภา ถนนพระราม4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.0-2250-1849
กำลังโหลดความคิดเห็น