xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” แฉ ครม.ปู เขียนกรอบใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน แค่ 20 บรรทัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
ส.ว.คำนูณ แฉ ครม.ยิ่งลักษณ์ นำเสนอเอกสารกรอบการใช้เงิน 3.5 แสนล้าน ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ ให้รัฐสภาทราบแค่ 20 บรรทัด คิดเฉลี่ยนตกบรรทัดละ 1.7 หมื่นล้าน เป็นสุดยอดบทประพันธ์แห่งยุค

วันนี้ (5 มี.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ภาพหนังสือชี้แจงกรอบการใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ ที่คณะรัฐมนตรียื่นต่อรัฐสภา ลงในเฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” พร้อมอธิบายว่า “นี่ไง “กรอบการใช้จ่าย” เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทที่ ครม.เสนอต่อรัฐสภา “เพื่อทราบ” ตัดอารัมภบทและตัวบทออกไป นับได้ 20 บรรทัด หารแล้วมีค่าบรรทัดละ 17,500 ล้านบาท ถือเป็นสุดยอดบทประพันธ์แห่งยุค”

สำหรับรายละเอียดในเอกสารจากภาพที่นายคำนูณ โพสต์ลงในเฟซบุ๊กในส่วนของกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ระบุว่า

“การใช้จ่ายเงินจากการกู้จำนวน 350,000 ล้านบาทนั้น จะได้นำไปใช้จ่ายตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ได้ผ่านการกลั่นกรองและอนุมัติโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน บรรเทา และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัย ปรับปรุงประสิทธิภาพการเตือนภัย ตลอดจนสร้างความมั่นใจ ความมั่นคง เพิ่มรายได้ของประชาชน โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการในทุกพื้นที่ ทั้งพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ให้สอดคล้องกับสภาพความรุนแรงของปัญหา และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและบูรณาการ จึงกำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไว้ ดังนี้

1) แผนงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ โดยการปลูกป่า สร้างฝายแม้ว และอนุรักษ์ดินต้นน้ำ ของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ท่าจีน และป่าสัก การสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำป่าสัก และการบริหารจัดการเขื่อนกักเก็บน้ำ รวมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำ วงเงินจำนวน 60,000 ล้านบาท

2) แผนงานฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิม หรือตามแผนที่วางไว้ โดยการจัดทำทางน้ำหลาก (floodway) และหรือทางผันน้ำ (flood diversion channel) รวมทั้งถนนและอาคาร องค์ประกอบเพื่อรับน้ำหลากจากแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตะวันออก หรือทั้งสองฝั่ง การจัดทำผังการใช้ที่ดิน และหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินในผัง และการปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำส่วนที่เหลือ รวมทั้งการปรับปรุงยกระดับถนนและทางหลวงเพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชน และคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล วงเงินจำนวน 177,000 ล้านบาท

3) แผนงานพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และเตือนภัย โดยการจัดทำระบบฐานข้อมูลระบบพยากรณ์ ระบบเตือนภัย แผนเผชิญเหตุ รวมทั้งจัดตั้งองค์กร กฎระเบียบที่จำเป็นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน วงเงิน 3,000 ล้านบาท

4) แผนงานการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ โดยการปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานให้เป็นแก้มลิงแม่น้ำประมาณ 2 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่ชลประทานของโครงการพิษณุโลกและของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ และพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ วงเงินจำนวน 60,000 ล้านบาท

5) แผนการดำเนินการบริหารจัดการน้ำของ 17 ลุ่มน้ำที่เหลือ วงเงินจำนวน 40,000 ล้านบาท

6) แผนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ วงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท”

ภาพจากเฟซบุ้ค คำนูณ สิทธิสมาน
กำลังโหลดความคิดเห็น