ประธานวุฒิสภา แจ้งที่ประชุม ศาล รธน.รับวินิจฉัย พ.ร.ก.การเงิน 2 ฉบับแล้ว ขณะที่ “คำนูณ” เรียกร้องรัฐบาลเปิดประชุมร่วมรัฐสภา รับฟังความเห็นแผนสร้างอนาคตของประเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการก่อหนี้ใหม่จำนวนมหาศาล ด้าน “อนุรักษ์” จี้ “ปู” สร้างความชัดเจนแผนบริหารจัดการน้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา วันนี้ (13 ก.พ.) ซึ่งมี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมประธานในที่ประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงกรณีที่วุฒิสภาได้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 หรือไม่นั้นขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว และในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 หรือไม่นั้นศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้วเช่นเดียวกัน
ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวฝากไปถึงรัฐบาลว่าด้วยเรื่อง พ.ร.ก.การกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่อยู่ใน พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ และอาจจะมีกู้เพิ่มในปีงบประมาณต่อไป เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาท ซึ่งสองเรื่องผนวกกันคือ การปรับแผนการการบริหารจัดการน้ำจำนวนหนึ่ง และการสร้างอนาคตของประเทศ แต่ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ ประชาชนเจ้าของประเทศยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนในอนาคตของประเทศที่รัฐบาลวางไว้ และการใช้เงินมหาศาลมีรูปธรรมอะไรบ้าง จึงอยากเสนอให้ ครม.ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแถลงและรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับแผนการสร้างอนาคตของประเทศ และรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนว่าเห็นด้วยกับแผนดังกล่าวหรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการก่อหนี้ใหม่จำนวนมหาศาล
ด้าน นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตามที่มีการพร่องน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา จึงอยากถามนายกรัฐมนตรีว่าปีนี้น้ำจะท่วมเหมือนปีที่แล้วหรือไม่ เพราะเมื่อดูแผนป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วนปี 2555 มีการจัดสรรงบประมาณ 1.25 หมื่นล้านบาท
โดยนายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่าพร้อมจะดำเนินการได้ทันทีแต่มีหน่วยงาน 7 หน่วยงานออกมาประกาศต้องการรับงบประมาณที่จัดสรร แต่เอาเข้าจริง 5 ใน 7 หน่วยงาน ไม่พร้อมรับงบประมาณ ได้แก่ หน่วยงานของกรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ซึ่งมีการการขุดลอกคลองใต้แนวสะพาน 4 โครงการ โดยยังไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ความล่าช้าของหน่วยงานเหล่านี้เป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยราชการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภาพความชัดเจนของโครงการในสายตาของประชาชนจึงไม่ชัดเจน โดยทุกฝ่ายอยากรู้ว่าการลงทุนล่วงหน้าเพื่อป้องกันน้ำท่วมจะเสร็จเมื่อใด ประชาชนรอการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ปัจจุบันแผนลงทุนของรัฐบาลอยู่ในสภาวะติดหล่มที่ไม่สามารถดำเนินการได้ หากเป็นเช่นนี้จะสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไร นายกรัฐมนตรีควรเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก่อนที่พายุจะมาลากคนไทยจมน้ำกันอีกครั้ง