xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ยอมทบทวน สั่งปรับตัวเลขระบายน้ำ 45%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมคณะรัฐมนตรีในวานนี้ (28 ก.พ.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบในหลักการหลักเกณฑ์การช่วยเหลือทางการเงินในการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแก่ผู้ประกอบการนิคม อุตสาหกรรม เบื้องต้น 2 ใน 3 ของวงเงินช่วยเหลือ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน 2 ส่วนและอีก 1 ใน 3 เอกชนเป็นผู้จ่าย ซึ่งสามารถขอใช้แหล่งเงินกู้จากธนาคารออมสินในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพียงร้อยละ 0.01
ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและการสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เสนอ

**ให้แจงเบิกจ่ายงบลงทุนทุกสัปดาห์
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานราชการทั้งหมดรายงานข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555ให้ครม.รับทราบความคืบหน้าทุกสัปดาห์ โดยมอบหมายให้ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)และ กระทรวงการคลัง จัดทำระบบการรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณกลางในการฟื้นฟูและเยียวยาปัญหาอุทกภัย 120,000 ล้านบาท เพื่อให้การใช้จ่ายเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์จากการลงทุนต่างๆ อย่างแท้จริง ทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตตามแผนที่วางไว้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนต่างๆ เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรี ตั้งเป้าแผนการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนในปี 2555 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 72 ของงบประมาณการลงทุนรวมของประเทศ และต้องมีการใช้จ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 93 ของงบประมาณรายจ่ายรวมของประเทศที่ 2.1 ล้านล้านบาท ขณะที่การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2555 จะดูแลให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1.98 ล้านล้านบาท โดยจะไม่ให้จัดเก็บสูงกว่าเป้าหมายมากนัก เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการการคลังของประเทศ
นายกิตติรัตน์ กล่าวย้ำว่า ก่อนจะมีการจัดทำระบบการรายงานการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้การลงทุนเกิดขึ้นอย่างชัดเจน คณะรัฐมนตรี ต้องการให้หน่วยงานราชการนำภาพถ่ายแต่ละโครงการที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วมาแสดง เพื่อตรวจสอบความรวดเร็วการก่อสร้างโครงการต่างๆ ตามเม็ดเงินที่เบิกจ่ายจริง

**เซ็นคำสั่งตั้งกรรมการบริหารจัดการน้ำ
วันเดียวกัน ครม.เห็นชอบตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกฯที่ 62/2555 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติพ.ศ.2555 รวม 2 คณะ โดยที่ระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติพ.ศ.2555 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย การกำหนดแนวทาง การทำงาน การสั่งการและการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วมีความสอดคล้องเป็นเอกภาพเดียวกันในการอำนวยการและบริหารจัดการทุกพื้นที่ให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
อาศัยอำนาจตามความในข้อ5และข้อ10ของระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติพ.ศ.2555 นายกฯจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการบริหารจัดการและอุทกภัยแห่งชาติพ.ศ.2555 รวม 2 คณะโดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(กนอช.) นายสุเมธ ตันติเวชกุล มรว.ดิศนัดดา ดิศกุล นายดิศธร วัชโรทัย นายวีรพงษ์ รามางกูร นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายกิจจา ผลภาษี เป็นที่ปรึกษา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ เป็นรองประธาน
2.คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) นายกิจจา ผลภาษี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายวีระ วงศ์แสงนาค เป็นที่ปรึกษา นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเป็นรองประธาน

** "ปู" ยอมทบทวนตัวเลขระบายน้ำ
อีกด้านภายหลัง มีกระแสข่าว กรมชลประทานเริ่มมีความสบายใจกับนโยบายพร่องน้ำในเขื่อนภูมิพลหและเขื่อสิริกิตต์ให้เหลือ 45%ในวันที่ 1 พ.ค.นี้นั้น
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ถึงการปรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า จะปรับเรื่องระบบการระบายน้ำ โดยได้สั่งการให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอ รอบคอบ และต้องให้แน่ใจว่ามีการใช้น้ำอย่างมีประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมด้วย อย่างไรก็ตามยังจะต้องระบายน้ำเช่นนี้อยู่ แต่จะมีการทบทวนตัวเลขกันทุกเดือน อาจจะไม่ต้องลดระดับน้ำให้เหลือ 45% ก็ได้ บางเขื่อนอาจจะเหลือ 50-60 % โดยกรมชลประทานจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม แต่ตัวเลขเดิมที่กำหนดนั้น เฉพาะที่เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลเท่านั้น แต่จากที่ติดตามสถานการณ์ในวันนี้ อาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำแล้งด้วย จึงอาจจะมีการทบทวน แต่วันนี้ก็ต้องมีการระบายไปก่อน เพื่อเตรียมรองรับได้ทั้ง 2 สถานการณ์

**ลั่น1เดือนรู้ผลพื้นที่2ล้านไร่รับน้ำ
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการหาพื้นที่ทำแก้มลิงให้ครบ 2 ล้านไร่ว่า สิ้นเดือน ก.พ. นี้ กระทรวงเกษตรฯ จะรายงานให้รับทราบ ที่เป็นห่วงขณะนี้คือการทำโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่อาจล่าช้า เพราะเพิ่งได้งบประมาณ เพราะระเบียบของทางราชการต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการจัดซื้อจัดจ้าง จึงได้สั่งการทุกกระทรวงและทุกจังหวัดให้เร่งดำเนินการให้ทัน รวมทั้งได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางทบทวนวิธีการให้เร็วขึ้น แต่ต้องตรวจสอบได้ โปร่งใส และรัดกุม ต้องมีระบบติดตามการทำงานด้วย ยืนยันว่าการทำงานมีการบูรณาการของทุกหน่วยงาน และในวันนี้ (28 ก.พ.) ที่ประชุม ครม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กอนช.) แล้ว ซึ่ง กอนช.ก็จะรับแผนทั้งหมดไปปรับอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และจะมีการสื่อสารให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะ ๆ ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ให้ตั้งบรรษัทพัฒนาปลูกป่านั้น ถือเป็นแนวทางที่ดี ก็ต้องแล้วแต่ความสมัครใจ เพราะการปลูกป่าต้องมีการดูแลระยะยาว จึงอยากให้ชาวบ้านรู้สึกเป็นเจ้าของ ที่สำคัญต้องสร้างรายได้ในอนาคตได้ด้วย
ส่วนแผนที่ทำฟลัดเวย์ที่ออกมาตามหน้าสื่อต่าง ๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ฟลัดเวย์ แต่เป็นพื้นที่ที่เห็นว่าน้ำท่วมบ่อย ยืนยันว่าเราต้องการระบายน้ำทางเขื่อนเป็นหลัก จากนั้นก็ไปคูคลอง ที่เหลือก็เชื่อมตามลุ่มน้ำ และพื้นที่รับน้ำที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเป็นหลัก จะใช้พื้นที่ถนนน้อยมาก หรือถ้าใช้ก็เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เมื่อถามว่าการหาพื้นที่รับน้ำจะเสร็จทันก่อนฤดูฝนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนงานเราเตรียมไว้ทันแน่นอน ซึ่งในสัปดาห์หน้าตนก็จะลงไปดูพื้นที่ปลายน้ำ เพื่อดูการขุดลอกคูคลองต่าง ๆ และจะให้ทีมสำรวจลงไปดูหน้างานด้วย เพื่อติดตามความคืบหน้าของทุกหน่วยงาน ส่วนการดำเนินการของ กทม.นั้น เท่าที่ติดตามดูก็ได้เริ่มทำแล้ว แต่ยังทำไปไม่ได้มาก.

**ผุดระบบติดตามฟื้นฟูน้ำท่วม
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบระบบการติดตามความก้าวหน้าของการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยพัฒนาและจัดทำเว็บไซต์www.pmocflood.com ซึ่งสามารถเรียกดูได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2555 โดยรัฐบาลได้ออกแบบมาเพื่อการติดตามโครงการว่าก้าวหน้าถึงขั้นไหนอย่างไร หรือมีการจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 230 /2555 ลงวันที่ 4 พ.ย. โดยเจ้ากระทรวงทุกกระทรวง สามารถตัดสินใจหรือบริหารจัดการจากฐานข้อมูล สามารถเข้าไปดูและประเมินผลได้ทุกชั่วโมงจะมีความคืบหน้าตลอด ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการติดตามงบประมาณลงไปถึงพื้นที่หรือไม่ รายละเอียดจะมีการจัดทำชื่อโครงการ สถานที่ จังหวัดในการดำเนินโครงการ วงเงินจัดสรร วงเงินลงนามในสัญญา วันที่ลงนามสัญญา วันเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ ผลการเบิกจ่ายและความสำเร็จของการดำเนินงาน
ทั้งหมดจะเป็นเครื่องมือบริหารจัดการที่รัฐบาลจะใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจและวัดผลสัมฤทธิ์ของงาน ว่าโครงการใดอยู่ในระดับที่พึงพอใจหรือไม่ หรือหากล่าช้าจะต้องติดตามแก้ไขอย่างไร เป็นระบบที่ดีและภาคภูมิใจของรัฐบาล ประชาชนภาคเครือเรือนสามารถติดตามกรอบวงเงินการก่อสร้างถนน หรือโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้
“ระบบบริหารจัดการที่ครม.ใช้ตรวจสอบติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณกับรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจะติดตามไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแล โดยจะมีการทำบันทึกข้อมูลไว้ตลอดเวลา มีความทันสมัย ติดตามงานได้ทันที และอัพเดตกันนาทีต่อนาที ทั้งนี้จะมี 4 คุณลักษณะที่น่าสนใจคือ 1.หัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จะต้องติดตามความคืบหน้าของงาน โดยสามารถใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพและมาอัพโหลดขึ้นในเว็บไซต์ของการบริหารจัดการดังกล่าวได้ 2.มีการกำหนด GPS โครงสร้างทั้งหลายของพื้นที่การก่อสร้าง และพื้นที่ที่มีปัญหา 3.มีแผนงาน แผนที่เชื่อมโยงกับกยอ. และกยน.4.หน่วยงานระดับปฏิบัติการสามารถที่จะคีย์เข้ามูลเข้าไปเพื่อให้เกิดการประมวลผลได้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมุ่งมั่นจะแก้ไขทุกข์ภัยของพี่น้อง”นายอนุสรณ์กล่าว

** สมาคมโลกร้อนแฉรัฐลัดขั้นตอนฟลัดเวย์
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า เหตุจากความผิดพลาดล้มเหลว หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของรัฐบาลและหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเมื่อปี พ.ศ.2554 จนก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย เทือกสวน ไร่นา ทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ของประชาชนกว่า 65 จังหวัดทั่วประเทศ
ล่าสุดมีข้อมูลที่เปิดเผยออกมาจาก กยน.ว่าได้กำหนดให้มีแนวพื้นที่น้ำผ่านหรือฟลัดเวย์ (Floodway) ขึ้นทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านตามแนวฟลัดเวย์ ไม่เคยรู้เรื่องและทราบข้อมูลใด ๆ มาก่อนเลย อีกทั้งรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยไปเจรจากับชาวบ้าน
“เรื่องดังกล่าวรัฐบาลต้องออกกฎหมายเพื่อรอนสิทธิ และกำหนดมาตรการชดเชยการรอนสิทธิในพื้นที่ต่าง ๆ ตามแนวฟลัดเวย์ในจังหวัดดังกล่าวเสียก่อน จึงจะสามารถทำได้ที่สำคัญโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวเป็นโครงการประเภทรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งต้องมีการทำอีเอชไอเอ (EHIA) เสียก่อน ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ แต่หากรัฐบาลไม่ยอมดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเสียก่อนแล้ว เชื่อว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด"นายศรีสุวรรณกล่าว
ดังนั้นสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงได้ร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเวทีสัมมนาเรื่อง มหาอุทกภัยอยุธยา : ทางออก ผลกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ขึ้นในวันอังคารที่ 28 ก.พ.55 นี้ เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องประชุม 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา

**สมิทธ-ปราโมทย์รับน้ำท่วมปี54รบ.ผิดพลาด
นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยตอนหนึ่งในการสัมมนา โครงการท้องถิ่นร่วมใจแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่ จ.พระนครศรีอยุธยาว่า น้ำท่วมเมื่อปี 2554 สาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐบาล และหน่วยงานรัฐที่มีส่วนดูแลรับผิดชอบกว่า20 หน่วยงาน ที่ทำงานไม่ประสานข้อมูลกันและทำงานแบบไม่วางแผน ทำงานคนละทิศทาง อย่าไปโทษว่าน้ำท่วมเป็นอุบัติเหตุ และอย่าไปโทษว่าธรรมชาติลงโทษ
ที่ผ่านมาได้เสนอแนวคิด และเสนอแนวทางและพูดในเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการเตือนภัย และยอมรับว่าระยะหลังถูกรัฐบาล แนะนำว่าให้หยุดพูดหรือตำนิว่าพูดมากไปเช่นกัน แต่จะพูดต่อไปจนกว่าจะมีการทำงานที่สอดคล้องกันของรัฐบาลและหน่วยงาน 20หน่วยที่รับผิดชอบให้ทำงานได้ดีและสัมพันธ์กัน
“เราไปห้ามไม่ให้น้ำท่วมภาคกลางไม่ได้ เพราะพื้นทุ่มต่ำตามธรรมชาติ แต่เราสามารถลดความเสียหายของน้ำท่วมได้ หากมีการบริหารจัดการน้ำหลากที่ดี โดยจากท่วมมากท่วมนานให้ท่วมน้อยวันลง ทำอย่างไรให้ผลักดันน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด” นายสมิทธ กล่าว
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมี2หลัก คือหลักของการเตือนภัย เช่นกรมอุตินิยมวิทยาต้องพยากรณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ และหลักของการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และอยากจะขอให้หยุดคือเรื่องการทำนายแบบดูดวง หากใช้หลักความจริงหรือหลักวิทยาศาสตร์จะไม่ทำให้ประชาชนแตกตื่นได้
ด้านนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบกรมชลประทาน และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องยอมรับห้ามว่าน้ำท่วมภาคกลางห้ามไม่ได้ทั้งหมด เพราะเป็นทุ่งที่ลุ่มโดยเฉพาะจ.พระนครศรีอยุธยา หากบริหารจัดการน้ำที่ดีก็พอจะสามารถห้ามไม่ให้น้ำท่วมในบางจุดได้ และให้ท่วมในบางจุดได้ และการป้องกันก็ไม่ควรให้หน่วยงานใดหนึ่งทำตามลำพัง ทุกฝ่ายต้องช่วยกันวางระบบและช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
“ประเทศไทยทุกวันนี้ไม่มีระบบส่งน้ำอุทกภัยหรือน้ำหลากลงทะเล ซึ่งไม่มีทั้งระบบและไม่มีแผนที่ทำได้จริงที่ใช้กันทุกวันก็คือระยายน้ำเหนือหลากลงแม่น้ำ ลำคลองทางธรรมชาติและคลองที่ขุดในสมัย ร.5 เท่านั้นจึงทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ทุกปีทุกรัฐบาลไม่เคยคิดที่จะทำหรือวางระบบที่ชัดเจน”นายประโมทย์ กล่าว
อีกประเด็นที่มองว่าล้มเหลวคือ การทำคันกั้นน้ำ ทั้งของรัฐและเอกชน การทำแนวกั้นน้ำไม่ใช่นำดินมาโป๊ะตบให้เรียบเป็นคัน แต่การทำแนวกันน้ำต้องใช้ดินที่เหนียว และนำมาบดอัดเป็นชั้นๆให้แน่น มีฐานแผ่ที่กว้างมีความสูงที่มากกว่าระดับน้ำท่วม และยอดของแนวกั้นน้ำต้องเป็นถนน ไม่ใช่เป็นยอดแหลม และต้องความละเอียดในการทำจึงจะสามารถกันน้ำได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น