xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ มอบ “เหลิม-โต้ง” รับมืออภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
“นายกฯ” กำชับทีมโฆษกรัฐบาล ตั้งใจทำงานสื่อสารกับ ปชช.ให้มากที่สุด มอบหมาย “เฉลิม-โต้ง” รับมืออภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับในสภาฯแทน ช่วงไปราชการที่ญี่ปุ่น กำชับทำเว็บไซต์เปิดเผยข้อมูล-งบประมาณรัฐบาล แสดงความโปร่งใสในการทำงาน ใช้เทคโนโลยีทันสมัย 1 มี.ค.สมบูรณ์แบบ

วันนี้ (28 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำขอให้ทีมโฆษกทั้งทีมตั้งใจทำงาน และแสดงบทบาทในฐานะที่เป็นโฆษกของรัฐบาล ให้มุ่งเน้นและสื่อสารกับประชาชนให้มากที่สุด และให้มีการทำงานบูรณาการทุกภาคส่วน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ นายกฯเคยมีดำริ ว่า หลังจากประชุม ครม.เสร็จจะต้องประชุมร่วมกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งวันนี้เป็นครั้งแรกหลังจากที่ประชุม ครม.เสร็จ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เชิญผู้อำนวยการ 5 ท่านมานั่งคุยกันว่าแต่ละเรื่องมีที่มาที่ไปอย่างไร โดยทุกคนต้องรู้เรื่องเหมือนกันหมด อย่างไรก็ตาม เรื่องเวลาการแถลงข่าวก็จะมีการทำเป็นมาตรฐาน โดยเวลาถ่ายทอดสด 14.00 น.ในทีมจึงตกลงกันว่าต่อจากนี้ไปเวลา 13.50 น.ต้องถึงที่เวที เตรียมเทสต์ไมค์ และ 14.00 น.สามารถพูดได้ทันที

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มีการเตรียมการและมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการอภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับ หากมีการพาดพิงในสภา และมอบ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นผู้ดูคอนเทนต์ คือ ในกรณีที่นายกฯไปราชการที่ประเทศญี่ปุ่น นายกิตติรัตน์ จะต้องเป็นผู้มารับฟังแทนนายกฯในสภา ซึ่งในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นของนายกฯนั้น นายกิตติรัตน์ ก็ร่วมเดินทางไปด้วย แต่ถ้าในสภามีเรื่อง พ.ร.ก.ดังกล่าวนายกิตติรัตน์จะต้องมีการคำนวนเวลาและเดินทางกลับมาก่อน

นายอนุสรณ์ กล่าวถึงระบบการติดตามความก้าวหน้าในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กำชับและเน้นมากที่สุด ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบร่วมกันระหว่าง ก.พ.ร.กับกระทรวงการคลัง โดยมีการเชิญ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร.มาร่วมทำงานและมีวิธีการทำให้เห็นว่ามีการดำเนินการอย่างไร โดยนายกฯได้เขียนโน๊ตเรื่องดังกล่าวมาให้ตนว่า “เน้นมากที่สุด ระบบที่แสดง ครม.ได้นำเทคโนโลยีชั้นสูงใช้สำหรับการบริหารจัดการโครงการต่างๆ และเน้นย้ำว่า อยากจะให้ทุกสื่อได้เห็นภาพ โดยเราจะตรวจได้เลยว่าระบบงานนั้นทั่วถึงหรือไม่ นายกฯตามรัฐมนตรี รัฐมนตรีตามหน่วยงานต่างๆ ผู้ทำงานบันทึกข้อมูลได้ตลอดเวลาทันสมัยมาก ติดตามงบได้ทันที งานอัพเดท รัฐมนตรี หรือนายกฯอยู่ที่ไหนก็ตรวจสอบได้ เร่งรัดได้ทั่วถึงรวดเร็ว”

สำหรับเว็บไซต์ดังกล่าว คือ “www.pmocflood.com” ซึ่งจะรวมทุกกระทรวงอยู่ในเว็บดังกล่าว ทั้งชื่อโครงการ ที่ตั้ง แผนที่ มีการใช้จีพีเอส จีเอ็มเอสความคืบหน้าโครงการต่างๆ ว่า เป็นอย่างไร โดยนายกฯระบุว่า ให้ใชัระบบเหมือนกับเฟซบุ๊ก ด้าน นายอำพน ก็ตกใจ เพราะตนไม่รู้เฟซบุ๊ก ทั้งนี้ ในช่วงแลกประชาชนยังไม่สามารถดูได้จนกว่าข้อมูลจะสมบูรณ์ และจะเริ่มให้นายกฯและรัฐมนตรีดูได้อย่างครบถ้วนในวันที่ 1 มีนาคมนี้

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ในระบบดังกล่าวจะมีการคีย์ข้อมูลที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยกระทรวงการคลังเบิกจ่ายตอนไหนก็สามารถคีย์ได้เลย โดยจะใช้กับงบ 1.2 แสนล้านและ 3.5 แสนหมื่นล้านด้วย ซึ่งเป็นการเดินหน้าเรื่องความโปร่งใสในการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล รวมถึงการตรวจสอบในส่วนของ กทม.รวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำทั้งหมด โดยนายกฯระบุว่า หน่วยงานกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหมดที่ไม่เกี่ยวกับ กยน.และ กยอ.ให้ทำงานตามเดิม แต่อำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่ กยน.และ กยอ.โดยจะวิเคราะห์สถานการว่าจะมีการปล่อยน้ำอะไรอย่างไร ซึ่งจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ กทม.หรือหน่วยงานใด จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์กรต่างๆ เหล่านี้ 4 ข้อหลัก คือ 1.ติดตามความคืบหน้าโดยการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพได้ 2.กำหนดจีพีเอสโครงการ 3.มีแผนงานกับแผนที่ที่สอดคล้องกันกับ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ.และ 4.หน่วยงานสามารถจะอินพุดข้อมูลได้

กำลังโหลดความคิดเห็น