รักษาการโฆษกสำนักนายกฯ ตื่นปรับงานประชาสัมพันธ์รัฐบาล หลังรับทราบแนวทางจากทีมยุทธศาสตร์ เน้นทำงานเชิงรุก แถลงผลงานสำคัญๆ ในทุกเวลาที่มี ไม่สนกระแสต้านแก้รัฐธรรมนูญ เล็งใช้วิธีตั้งโต๊ะเสวนา ส่วน “วรเจตน์” ถูกชกวอนประชาชนเคารพความเห็นต่าง ยันรัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองการแสดงความเห็นทุกกลุ่ม
วันนี้ (1 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา และนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงการปรับการทำงานของทีมโฆษกฯ โดยนายอนุสรณ์กล่าวว่า ทีมโฆษกฯ ได้มีโอกาสอันดีเข้ารับฟังนโยบายจากคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ซึ่งทีมโฆษกฯ ได้รับมอบหมายว่าจากนี้การทำงานของทีมโฆษกฯ จะเป็นการทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุก เน้นในการนำเสนอนโยบายของรัฐบาลที่เป็นเนื้อหาสำคัญเร่งด่วน โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อที่สัมฤทธิผลแล้ว 5 ข้อด้วยกัน
โดยในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 5 มี.ค.นี้ รัฐบาลจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์กชอป เพื่อติดตามความคืบหน้าของนโยบายเร่งด่วนอีก 16 ข้อที่เหลือ ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม และจะมีการเชิญรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่าต่อจากนี้ไปอาจจะมีการหารือกันลักษณะนี้เดือนละหนึ่งครั้งเพื่อเป็นการติดตามงาน
นายอนุสรณ์กล่าวว่า สำหรับทิศทางการแถลงข่าวของทีมโฆษกฯ จากนี้ จะไม่จำกัดแถลงทุกวันอังคารหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีการนำสาระทั้งหมดในการประชุมมาแถลง อาจจะได้เห็นรูปแบบการแถลงแบบใหม่เมื่อการประชุม ครม.เสร็จสิ้นแล้ว เช่น ในวันอังคารหน้าที่นายภักดีหาญส์อาจจะแถลงสาระสำคัญด้วยเรื่องเศรษฐกิจ อังคารถัดไปอาจเป็นนายชลิตรัตน์แถลงด้านอุตสาหกรรม และในระหว่างสัปดาห์อาจจะมีการแถลงเพิ่มเติม อาจจะมีการแถลงรอบวันพุธ วันพฤหัสฯ หรือวันศุกร์ด้วย คือหากมีเรื่องสำคัญใดๆ จะไม่ผูกมัดแถลงเฉพาะวันอังคารเท่านั้น และจากนี้จะมีเวลาการแถลงที่เป็นมาตรฐานในวันอังคาร คือ เวลา 14.00 น. อย่างไรก็ตาม จะมีการทำงานที่เน้นเป็นทีมเวิร์ค มีการดึงส่วนราชการ เช่น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) หรือสำนักโฆษกฯ มาบูรณาการข้อมูลร่วมกันเพื่อที่จะสื่อสารข้อมูลสำคัญและนโยบายของรัฐบาลให้เข้าถึงมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ฝากอะไรเป็นพิเศษในเรื่องการทำงานหรือไม่ นายอนุสรณ์กล่าวว่า เน้นการทำงานเป็นทีม บูรณาการทุกภาคส่วน ใช้บุคลากร สลค. และ สลน.อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งถึงการประเมินวัดผล แต่นายกฯ ได้มีการสอบถามเรื่องการทำงานต่างๆ มากกว่า
เมื่อถามว่า ทีมโฆษกฯ มีแต่ผู้ชาย และต้องทำงานร่วมกับนายกฯ หญิง จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ นายอนุสรณ์กล่าวว่า ทีมโฆษกของเราไม่ใช่ทีมที่ต้องตามนายกฯ ตลอด จะมีการแบ่งการทำงานเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องต่างประเทศ เป็นของนายภักดีหาญส์ เรื่องอุตสาหกรรมเป็นของนายชลิตรัตน์ ส่วนเรื่องการเมืองเป็นของตน โดยจะมีการให้ความสำคัญกับทุกสื่อทุกแขนงด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีแนวทางจะทำรายการเหมือนรายการบลูสกายของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายอนุสรณ์กล่าวว่า ไม่มี เพราะมีสื่อที่จะสามารถประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่มีปัญหาในเรื่องพื้นที่ที่จำกัด มากกว่าข่าวที่เป็นสีสันหรือความขัดแย้งทางการเมือง แต่ตรงนั้นก็ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เราไปตอบโต้ และเราจะเน้นการตอบโต้ด้วยเนื้อหา ไม่โต้ด้วยจินตภาพลีลาวาทศิลป์ เราเน้นที่ความจริง
ต่อข้อถามว่า ในฐานะที่เป็นทีมงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ขณะนี้การเมืองดูรุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ถูกทำร้ายร่างกาย หรือกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประเด็นร้อน ส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นนั้น นายอนุสรณ์กล่าวว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยมีความชัดเจนที่เคยประกาศว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนี้ไปตนไม่มองเป็นความเคลื่อนไหว และรัฐบาลก็ไม่คิดว่าเป็นสัญญาณอันตรายอะไร รัฐบาลต้องการให้เห็นภาพของการหารือและการจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันว่ามาตราใดบ้างที่ควรจะแก้ไข และแก้แล้วควรทำอย่างไร เมื่อมองจากการประชุมสภาฝ่ายหนึ่งก็ลุกมาบอกว่าต้องแก้ ฝ่ายที่ไม่แก้ก็อาจจะบอกว่า 309 มาตรานั้นมีดีมีไม่ดี ซึ่งตรงนี้จะต้องเดินหน้าไปสู่เวทีประชาคม ถ้าจะมองว่ามีการยื่นเช็คเปล่าให้กับการกรอกตัวเลขได้ตามชอบใจ จริงๆ เช็คเปล่าไม่ได้กรอกได้ในคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นประชาชนทั้งประเทศ ตนมองว่าการที่จะมีกลุ่มพลังมวลชนใดๆ มาแสดงพลังประกาศจุดยืนล้วนทำได้ทั้งนั้น แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกติการที่กฎหมายกำหนดไว้ การชุมนุมโดยสงบและเสนอหรือตั้งข้อเรียกร้องได้
เมื่อถามว่า กรณีของนายวรเจตน์จะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นหรือไม่ และจะมีแนวทางป้องกันอย่างไร นายอนุสรณ์กล่าวว่า ความงดงามทางประชาธิปไตยคือความเห็นที่แตกต่าง รัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองทุกกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ามีบางกลุ่มที่พยายามอธิบายฝ่ายที่เห็นต่างมีการพูดถึงบางเหตุการณ์ที่เอาเก้าอี้ไปฟาดกันลักษณะนั้น ซึ่งวันนี้อาจจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกก็ได้ จึงต้องขอว่าในส่วนของรัฐบาลดูแลทุกกลุ่มที่ชุมนุมหรือมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน และฝากถึงพี่น้องประชาชนว่าต้องเคารพความเห็นต่างในทางการเมือง เพราะเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย แต่ถึงขั้นที่ต้องประเมินสถานการณ์ว่าจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวหรือไม่เราไม่เชื่อว่าจะมีสถานการณ์แบบนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าการทำหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีการมุ่งเน้นทางด้านการบริหาร แต่ในเรื่องการประชุมสภา เช่น มีการตั้งกระทู้ถามสดเรื่องโฟร์ซีซั่นส์ หรืออื่นๆ นายกฯ มักไม่เข้าประชุมจะชี้แจงเรื่องดังกล่าวอย่างไร นายอนุสรณ์กล่าวว่า นายกฯ เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับงานของสภาเต็มที่ บางครั้งภาพที่เห็นอาจไม่ได้นั่งในที่ของนายกฯ แต่อาจจะไปนั่งทำงานในห้องทำงานของสภา ส่วนที่สองเราอาจจะคุ้มชินกับผู้นำรัฐบาลบางยุคที่อยู่ในสภาตลอด แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์นั้นมีภารกิจมากมาย และดูจะเป็นนายกฯ ที่ขยันที่สุดคนหนึ่งในประเทศ แต่ในความมากมายก็ไม่ใช่ข้อแม้หรือข้ออ้างในการประชุมสภา ท่านจะเข้าไปตอบหรือมอบหมายให้ใครตอบก็ตามขอให้มั่นใจว่ามีเนื้อหาสารถะอันเดียวกัน ทั้งนี้ก็ขอความเห็นใจด้วย