xs
xsm
sm
md
lg

เอาแล้ว! รบ.จ้องฉีกทิ้ง รธน.50 ชงตั้ง ส.ส.ร.ปัดทำประชามติ อ้าง ส.ส.ตัวแทน ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุมพล ศิลปอาชา
ชทพ.ประสานเสียง พท.เสนอที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ฉีกทิ้ง รธน.50 ฉบับรัฐประหาร ผูกใจเจ็บถูกยุบพรรค ชงตั้ง ส.ส.ร.ร่างใหม่ทั้งฉบับ มัดมือชกไม่ต้องเสียเวลาทำประชามติ ยกเมฆ ส.ส.เป็นตัวแทน ปชช.ด้าน “เหลิม” ปัดเล็งแก้ ม.112 ไม่เกี่ยว รธน.เสนอบัญญัติใน รธน.ห้าม ส.ส.ร.แตะสถาบันกษัตริย์ ด้าน ฝ่ายค้าน-ส.ว.รุมต้านแก้ รธน.ทั้งฉบับ

วันนี้ (23 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจรารณาแก้ไขร่าง รธน.ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้เสนอร่างแก้ไขได้เสนอหลักการและเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจาก นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบัญญัติหลายประการไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง ทำให้ไม่เกิดความมั่นคงในการบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการได้มาซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และการได้มาซึ่งบุคคลในองค์กอิสระต่างๆ ขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน ขัดกับประชาธิปไตย ไม่มีระบบถ่วงดุลขององค์กรตุลาการ และองค์อิสระที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชน เปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน และมีการใช้ดุลพินิจเกินขอบเขต

นายชุมพล กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดเป็นผลมาจากกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดจากอำนาจการรัฐประหารที่ไม่ได้บัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน บทบัญญัติบางมาตรารองรับการกระทำของรัฐประหาร โดยปราศจากการตรวจสอบ เป็นผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติเกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จึงสมควรร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้ประเทศชาติมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยแท้จริง คือ อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย การปฎิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงหน่วยงานของรัฐ มีความเป็นนิติรัฐโดยสมบูรณ์

ส่วนที่มาของ ส.ส.ร.จะมาจากสภาสถาบันอุดมศึกษา องค์กรทางด้านเศรษฐกิจ อีกส่วนจะเป็นผู้แทนมาจากประชาชนมาทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อป้องกันข้อครหาว่าทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่งและจะช่วยลดข้อโต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญปี 40 หรือ ปี 50 ฉบับไหนดีกว่ากัน รูปแบบ ส.ส.ร.ที่เสนอมามีความโปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะเมื่อมีการยกร่างเสร็จต้องนำกลับมาให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ดังนั้น ข้อหวาดระแวงว่าส.ส.ร.จะไปปู้ยี่ปู้ยำหรือทำอะไรซ่อนเร้นไม่มีแน่นอน เพราะคงทำได้ลำบาก

“ไม่จำเป็นต้องนำไปทำประชามติ เพราะในรัฐสภาถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้วแต่ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบก็ยังสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญไปประชามติถามประชาชนได้ การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องเอาจุดอ่อนและแข็งของรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มาพิจารณาโดยเอาจุดแข็งของทั้งสองฉบับมาผนวกกัน ที่ผ่านมาเราแก้ทีละประเด็นก็ไม่สามารถทำให้การเมืองดีขึ้น แต่ทำให้ระบบพรรคการเมืองเป็นอัมพาตถูกยุบเป็นว่าเล่น” นายชุมพล กล่าว

นายชุมพล กล่าวว่า ขณะนี้เหลือเพียงพรรคเดียวที่มีอายุ 65 ปี ซึ่งก็รอวันไม่รู้จะถูกยุบเมื่อไหร่ หากไม่แก้ไขอนาคตพรรคการเมืองสูญพันธุ์แน่นอน วันนี้เกิดสภาพพรรคนอมีนีกันทั้งนั้น มีแต่คนขับรถ คนสวน เข้ามาเป็นกรรมการบริหาร ทำให้การพัฒนาระบบพรรคการเมืองเดินหน้าไม่ได้ เพราะคนๆ เดียวกระทำความผิดทำให้คนอื่นต้องผิดไปด้วย อย่างกรณีการยุบพรรคชาติไทยที่ผ่านมา ทำไมต้องลุกลี้ลุกลนอ่านคำวินิจฉัยผิดๆ ถูกๆ มีเจตนาอะไรถ้าจะยุบพรรคก็ขอให้มีความสง่างาม ทั้งหมดสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2550

นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณาที่มาของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ควรจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯพระราชบัญญัติ รวมไปถึงความไม่ชัดเจนในอำนาจขององค์กรอิสระที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น ศาลปกครอง หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ ควรมีหน้าที่พิจารณาเรื่องใดบ้าง

ด้าน นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบัญญัติหลายประการไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดความไม่มั่นคงต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการได้มาซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และองค์กรอิสระต่างๆ ขาดการเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน ไม่มีระบบการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเสียต่อระบบอำนวยความยุติธรรมกับประชาชน เปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน และมีการใช้ดุลพินิจที่เกินขอบเขต

นายอุดมเดช กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจมาจากการทำรัฐประหาร บางมาตราให้การรับรองการกระทำของคณะรัฐประหารโดยปราศจากการตรวจสอบเป็นผลให้เกิดการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม จนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จึงสมควรที่จะจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตย โดยกำหนดให้มีส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1 คน และ จากการคัดเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา 22 คน

ฝ่าย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทน ครม.ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ร่างของ ครม.กำหนดให้มี ส.ส.ร.2 ประเภท คือ มาจากการเลือกตั้ง จังหวัดละ 1 คน และ รัฐสภาคัดเลือกจากบุคคลหลายสาขาอาชีพ 22 คน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุมัติรัฐธรรมนูญโดยการออกเสียงประชามติได้ โดยยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป

“บรรยากาศตอนนี้เกิดความสับสน โดยมีหลายคนแสดงความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การรื้อโครงสร้างประเทศ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอยืนยันจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป และการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไปยกโทษยกความผิดให้ใครไม่ได้ทั้งนั้น ไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษให้ใคร เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลได้ทำตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่า จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 1 ปี ซึ่งตอนนี้ถึงเวลาแล้ว และไม่คิดที่จะแก้ไขมาตรา 112 และไม่สามารถเข้าไปอยู่เบื้องหลังการตั้ง ส.ส.ร.ได้เพราะยังไม่รู้ว่าใครจะได้รับเลือกตั้งเข้ามา และไม่สามารถเอาปืนไปจี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยให้ส่งคนเข้ามาได้

“หลังจากนี้จะเสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสภา เพื่อหาทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาในประเทศให้ได้ ส่วนจะเข้ามาได้หรือไม่นั้นต้องดูบริบททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นการทำตามที่หาเสียงเอาไว้ตอนเลือกตั้ง”

จากนั้นสมาชิกได้แสดงความเห็น โดยฝ่ายค้านอภิปรายคัดค้านการแก้ไข ม.291 เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร.มาทำการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูยทั้งฉบับ เพราะไม่มั่นใจว่า ส.ส.ร.ที่ได้มาจะปลอดจากการครอบงำของพรรคการเมือง อาทิ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคพยายามทุกวิถีทางให้มีการชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเสียงข้างมากไม่เอาด้วย เราก็ทำหน้าที่ต่อไป ตนเป็นคนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับ ไม่มีใครปฏิเสธการแก้กฎหมายเพื่อความสงบสุขของประเทศ เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนกฎหมายย่อมเปลี่ยนตาม แต่ต้องเปลี่ยนอย่างสอดคล้องต้องกัน คือ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยแท้ ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง และต้องเปลี่ยนแปลงตามหลักการและวิธีการที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

“ที่สังคมไม่เห็นด้วย เพราะมั่นใจว่ารัฐธรรมูญปี 50 ไม่ใช่ปัญหาของประเทศ และไม่ใช่กับดักอย่างบางคนพูดถึง เชื่อว่า ลึกๆ แล้วรัฐบาลทราบดี และน่าเสียดายที่วันนี้ นายกรัฐมนตรีไม่มีโอกาสมาร่วมรับฟังทั้งที่พูดชัดเจนมากว่าปัญหาเร่งด่วนของประเทศวันนี้ คือ การฟื้นฟู ป้องกันอุทกภัยและเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องกฎหมายคงปล่อยไว้ให้เป็นหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ท้ายสุดรัฐบาลก็เร่งเสนอเข้ามาชนิดที่ว่ารายละเอียดรีบเร่งมากกว่าร่างฉบับอื่นๆ เสียอีก การตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาทำหน้าที่ร่างทั้งฉบับนั้นทำไม่ได้ แต่ก็เลี่ยงบาลีให้แก้ไขหมวดใหม่ขึ้นมาต่อจาก ม.291 โดยอ้างที่เคยทำมาในการแก้รัฐธรรมนูญปี 34 ทั้งที่ไม่เหมือนกัน มีข้อขัดแย้ง 2 อย่าง คือ บรรยากาศก่อนแก้ไขปี 34 เพื่อปฏิรูปการเมือง ซึ่งบรรยากาศไม่เหมือนวันนี้ มีความร่วมมืออย่างดียิ่ง ไม่มีความระแวง ไม่มีขัดแย้งรุนแรง อาจเพราะมีความรู้สึกร่วมของความจำเป็นต้องปฏิรูปให้มี แต่รัฐธรรมนูญปี 50 มีการทำประชามติจากประชาชนเกือบ 15 ล้านเสียง จะมาแก้ไขง่ายๆ โดยไม่มีการทำประชามติก่อนไม่ได้ และที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 50 มาจากการปฏิวัติ ถ้าคิดแบบนี้ ในอดีตคงต้องมีการแก้ไขหลายฉบับ แต่ไม่มีการยกเลิก และมีการใช้ได้ดีมาตลอด ดังนั้น ความคิดที่ว่าแก้ไขเพราะมีรากฐานมาจากรัฐประหารคงไม่ถูกต้อง”

ส่วนการแก้ไข ม.237 เรื่องการยุบพรรค ตนยอมรับว่าใช้ยาแรง แต่มีการพูดคุยกับผู้ยกร่างหลายคน บอกว่าระหว่างพิจารณาเรื่องนี้ ทุกคนต่างแสดงความเป็นห่วงปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงมากสุด เมื่อมีประชาธิปไตยราคาแพงมาก ก็หนีไม่พ้นต้องวิ่งเข้าหากลุ่มทุน หนีไม่พ้นเรื่องบุญคุณ สุดท้ายประชาธิปไตยก็ไม่มีความหมาย

นอกจากนี้ ปัญหาความเป็นอิสระของ ส.ส.ร.วันนี้เริ่มมีการพูดกันว่าน่าจะเป็นคนของพรรคนั้นพรรคนี้ ถือว่าไม่เป็นมงคล จะอ้างว่ายังไม่เลือกไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการป้องกัน ด้วยการกำหนดคุณสมบัติ ทั้งเลือกตั้งและคัดเลือก เพื่อแสดงให้เห็นว่าปลอดจากการครอบงำเหมือนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่กำหนดคุณสมบัติสมาชิกวุฒิสภา หากรัฐบาลใจกว้างยอมให้แก้ไขต้องลดความเชื่อมโยงจากการเมือง เช่น กำหนดไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ต้องไม่คำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือไม่เป็น ส.ส.หรือไม่สังกัดพรรคการเมือง เป็นเวลา 5 ปี อย่างน้อยก็ลดความระแวงได้บ้าง แต่รัฐบาลเพิ่มจำนวน ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อหวังได้คนของตัวเองเข้ามา การคัดเลือกเมื่อมาถึงรัฐสภา เสียงข้างมากย่อมเลือกเอาตัวบุคคลที่พึงพอใจเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นต้องแก้ไข ถ้าไม่ได้ก็คงรับกันยากและเป็นปัญหาแน่นอน และยังเห็นว่า การเซ็นเช็กเปล่าให้ ส.ส.ร.เป็นเรื่องอันตราย ถ้าตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบางคนจะเกิดความวุ่นวาย

ด้านความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา บางส่วนเห็นพ้องกับฝ่ายค้าน และเสนอให้แก้ไขบางมาตราที่เป็นปัญหาเท่านั้น เพราะไม่เชื่อใจว่ารัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเพราะการได้มาของ ส.ส.ร.อาจจะไม่โปร่งใส และไว้วางใจได้ว่าจะไม่แตะต้องหมวดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

พญ.พรพันธ์ บุญยรัตพันธุ์ ส.ว สรรหา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ได้ผ่านการทำประชามติจากประชาชนมาแล้วก่อนที่จะมีการใช้ ดังนั้น หากรัฐบาลจะให้มีการแก้ไขใหม่ ก็ควรจะทำประชามติ ถามว่า ประชาชนต้องการให้แก้ไขหรือไม่ และต้องยอมรับฟังความเห็นที่ออกมาด้วย ส่วนที่อ้างว่าต้องการแก้ไขเพื่อให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะดูการบริหารของรัฐบาลในเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาเศรษฐกิจ ถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ ยังไม่ไว้วางใจต่อการมาทำหน้าที่ของ ส.ส.ร.ว่าจะไม่แตะต้องหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เพราะไม่ได้ระบุไว้ให้ชัดเจนว่า ไม่ให้มีการแก้ไขหมวด 2 แต่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ ดังนั้น ตนเสนอให้เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนไปเลยว่า ห้าม ส.ส.ร.แตะต้องหมวดดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้เกิดความสบายใจ

ขณะที่ นางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหาอีกราย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับ หากรัฐบาลเห็นว่ามาตราไหนมีปัญหาก็ควรแก้รายมาตรา เพราะการให้หน้าที่ ส.ส.ร.ไปทำ อาจจะมีความประสงค์ใหญ่ๆ 3 ประเด็น 1.จะแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ ตนไม่เชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม เพราะหลายครั้งพูดไม่ได้เป็นเช่นนั้น อาจมีเจตนาให้สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ หรือตรายาง เหมือนที่มีการออกมาพูดว่าต้องมีการสาบานตนก่อนขึ้นครองราชย์ ตนขอไม่ให้แก้ไขในหมวดนี้ 2.แก้มาตราที่ยกเลิกโทษคืนทรัพย์ให้กับผู้ถูกริบทรัพย์ และจะทำให้อดีตนายกฯบางคนกลับมามีอำนาจได้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นอันตราย 3. เพื่อปูทางสู่ฐานอำนาจของกลุ่มบุคคลให้เปลี่ยนไทยเป็นรัฐไทยใหม่โดยทุนผูกขาด นำไปสู่สภาทาส สภาผัวเมียเหมือนปี 40 แก้ไขที่มา ส.ว.ทำให้พรรคการเมืองเลือกคนของตนเข้ามา ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนมีแต่ทำให้เกิดระบบทุนนิยมเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประชาชนเกิดความอ่อนแอ และถูกยึดครอง ภายใต้การควบคุมของนายทุนพรรคการเมือง

“รัฐธรรมนูญ ปี 50 ได้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว นับเป็นฉบับที่มีความชอบธรรมมีเหตุผลเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นถ้าจะแก้ก็ควรบางมาตราเท่านั้น ขออย่าแก้ไข ทหาร ตุลการ กษัตริย์ เพื่อยึดครองประชาชน” นางตรึงใจ กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ต่างพากันสนับสนุนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูยที่ใช้อยู่ปัจจุบันได้มาอย่างไม่ชอบธรรม และเป็นอุปสรรต่อการทำงานหลายอย่าง จึงสมควรแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อนำไปสู่ความปรองดองได้

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร ร่างขึ้นโดยความหวาดระแวงของการไม่ไว้วางใจอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ทำให้ประชาธิปไตยผิดเพี้ยน มีการวางกับดัก 3 อย่าง โดยใช้ ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.ที่มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี เพื่อทำให้พรรคการเมืองบางพรรคสูญหาญไปจากพรรคการเมืองไทย การที่รัฐธรรมนูญปี 50 มอบอำนาจให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งสามารถถอดถอน ส.ส.ที่มาจาการเลือกตั้งได้ เป็นการผิดหลักประชาธิปไตยชัดเจน ขอเสนอว่า หากจะให้ ส.ว.มีอำนาจในการถอดถอน ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่หากจะให้มี ส.ว.เลือกตั้ง และสรรหา ก็ควรให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งมีจำนวนมากกว่า ส.ว.สรรหาสองเท่าตัว

ส่วนผู้มาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ไม่ควรมีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี เพราะทำให้เป็นผู้มีอิทธิพลเอง ควรลดเหลือ 5 ปี รวมถึงควรยกเลิกการยุบพรรค และตัดสิทธิ์การเมืองกรรมการบริหารพรรค และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายโดยมีอคติ และเสนอให้ ส.ส.ร.ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 1 ปี เพื่อความรอบคอบในการรับฟังความเห็นของประชาชน และควรร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้มีเกิน 120 มาตรา เพื่อความกระชับและเขียนรัฐธรรมนูญเอื้ออำนวยให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จต้องส่งให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อน

“ผมมั่นใจว่า ส.ส.ร.จะไม่ยุ่งกับหมวดสถาบันกษัตริย์ ถ้าไม่สบายใจ กมธ.แก้ได้ โดยยึดร่างใดร่างหนึงเป็นหลักว่าห้าม ส.ส.ร.แก้ไขหมวด 2 ปิดตายเลยทุกคนก็สบายใจ รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องทั้งหมดของกระบวนการประชาธิปไตย แต่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเสียหายรุนแรง เกิดความแตกแยกทุกหัวระแหง การจะมีความปรองดองได้ต้องขึ้นอยู่กับทุกคน ทุกฝ่ายต้องให้อภัยซึ่งกันและกัน แต่การบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นธรรม และสากล”
กำลังโหลดความคิดเห็น