xs
xsm
sm
md
lg

ทีม กม.พท.ป้องรัฐ ลั่นไม่มีธรรมเนียมต้องรับผิดชอบหากศาล รธน.ตีตก พ.ร.ก.กู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานด้านกฏหมายพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
อดีตทนายถุงขนม เผย ทีมกฎหมายเพื่อไทย ซัด “มาร์ค” ฉวยโอกาสบี้รัฐลาออก ย้อนเจ้าตัวก็เคยพูด ชี้ หากศาลตีตก พ.ร.ก.กู้ 2 ฉบับก็ไม่ได้หมายความว่า ขัด รธน.อ้างไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติ หากไม่ผ่าน ระบุ สมัยก่อนๆ ก็ไม่ไขก๊อก

วันนี้ (20 ก.พ.) ที่พรรคเพื่อไทย นายพิชิฏ ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า สืบเนื่องจากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้กระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 วงเงิน 1.14 ล้านล้าน ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีผู้นำฝ่ายค้านและบุคคลบางฝ่ายออกมาเรียกร้องว่า หาก พ.ร.ก.ดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตกไปแล้ว รัฐบาล หรือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกนั้น คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคได้หารือกันแล้วเห็นว่า

1.การที่ผู้นำฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องหาความรับผิดชอบในทางการเมืองดังกล่าวเป็นการพูดเพื่อ “ฉกฉวยโอกาสและตีกินทางการเมือง” เพียงพูดให้ดูดี ว่า ตนและพรรคยึดมั่น “ระบบรัฐสภา” ฝ่ายกฎหมายพรรคได้พบหลักฐานสำคัญจากหนังสือของนายอภิสิทธิ์ เอง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 สมัยที่ นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญในคราวที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 400,000 ล้าน ว่า “ระยะเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้ใดจะสามารถกำหนดได้แน่นอนว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด” คำชี้แจงนี้ได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยที่ 11/2552 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ในหน้าที่ 27 และ 28 ความอย่างย่อว่า “กรอบเวลาในการพิจารณาและอนุมัติร่างพระราชบัญญัติของรัฐสภาเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะสามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติให้เสร็จสิ้นได้แน่นอนเมื่อใด” สอดคล้องกับที่ นายอภิสิทธ์ ชี้แจง ดังนั้น การเรียกร้องหาความรับผิดชอบทางการเมือง เพื่อให้รัฐบาลลาออกจึงเป็นการพูดให้ดูดี และตีกินทางการเมืองตามที่กล่าวมา

2.แม้หากว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า พระราชกำหนดยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 184 ของรัฐธรรมนูญ มีผลทำให้พระราชกำหนดตกไปนั้นเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับวิธีการตรากฎหมาย มิใช่เนื้อหากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ โดยการจะถือว่ากรณีใดเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเป็นเรื่องของความคิดเห็น ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละมุมมอง ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรียังยืนยันว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการจะเสนอเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

3.ในอดีตที่ผ่านมาของประเทศไทยยังไม่เคยมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนเพิ่งจะมีขึ้นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกฉบับให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น จึงไม่เคยมีกรณีปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร หากพระราชกำหนดตกไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

4.เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีการตราพระราชบัญญัติที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีและมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีร่างพระราชบัญญัติที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ซึ่งไม่เคยปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในทางการเมือง โดยแนวทางปฏิบัติคณะรัฐมนตรีก็จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับการกระทำทางปกครองของคณะรัฐมนตรี และเป็นไปในแนวทางปฏิบัติที่ยึดถือกันอยู่ในต่างประเทศ

5.ความรับผิดชอบทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีที่เคยปฏิบัติเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา แล้วกฎหมายนั้นไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาให้ตราเป็นกฎหมายขึ้นใช้บังคับ
กำลังโหลดความคิดเห็น