xs
xsm
sm
md
lg

“ทัวร์นกแก้ว”สร้างภาพแก้น้ำท่วม อย่าปกปิดข้อมูล จุดชนวนปัญหามวลชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มทัวร์นกแก้วหรือทัวร์ติดตามแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ระหว่าง 13 - 17 ก.พ.นี้ โดยวันแรก 13 ก.พ. 55  เดินทางมาตรวจสภาพน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การดึงดันเดินหน้าแก้ปัญหาอุทกภัยโดยไม่สนใจเปิดรับฟังความเห็นรอบด้านจากผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนถาวรกั้นนิคมอุตสาหกรรม การปกปิดข้อมูลพื้นที่รับน้ำ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงศ์ รวมทั้งโครงการทางระบายน้ำขนาดใหญ่หรือฟลัดเวย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก สุดท้ายแล้ววางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอาจเป็นการจุดชนวนปัญหามวลชนและจบลงด้วยการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าเดิม

สัปดาห์แห่งการสร้างภาพติดตามแก้ไขปัญหาอุทกภัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มต้นขึ้นแล้ว ระหว่างวันที่ 13 - 17 ก.พ. นี้ โดยมีบรรดารัฐมนตรี ข้าราชการ และประชาชนที่ถูกกะเกณฑ์มาต้อนรับด้วยบรรยากาศชื่นมื่น พร้อมกับการรับฟังบรรยายสรุปจากส่วนราชการที่อวดโอ่ถึงความพร้อมในทุกด้านตามธรรมเนียมปฏิบัติ

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ นอกจากจะไม่มีความชัดเจนกระทั่งเกิดความแตกแยกภายในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) แล้ว ประเด็นสำคัญที่สุดที่ถูกละเลยก็คือ การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ถึงขั้นปกปิดข้อมูลโดยอ้างว่าจะทำให้เกิดปัญหาการต่อต้านจากมวลชน

หากพิจารณาตามแผนเร่งด่วนในการบริหารจัดการน้ำตามยุทธศาสตร์ป้องกันน้ำท่วมที่แยกออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ส่วนบน ซึ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำที่ตัวเขื่อนที่จะรับน้ำได้ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกำหนดการปล่อยน้ำในเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสม 2. ส่วนกลาง ที่ต้องการพื้นที่รับน้ำประมาณ 2 - 3 ล้านไร่ เพื่อให้รับน้ำได้ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 3. ส่วนล่าง เป็นการบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพของประตูระบายน้ำ ปั๊มน้ำ เพื่อระบายน้ำออกไปให้เร็วที่สุด จะพบว่า ส่วนที่จะมีปัญหามากที่สุดและจัดการยากที่สุด คือ ส่วนกลางที่ต้องใช้พื้นที่รับน้ำกินพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งจะกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนจำนวนมาก

ยังไม่นับโครงการทางระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือ ฟลัดเวย์ ที่ต้องออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน กระทบต่อโครงการลงทุนต่างๆ จนมีข่าวอื้อฉาวว่าบิ๊กธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แอบมีการเจรจาลับกับผู้นำประเทศ เพื่อไม่ให้แนวฟลัดเวย์ ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุน ซึ่งการตัดสินใจผันน้ำไปในทิศทางใด เพื่อผลประโยชน์ของใคร สะท้อนให้เห็นมาแล้วในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาที่มีการผันน้ำลงทะเลทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่สูง แทนที่จะเป็นฝั่งตะวันออกตามธรรมชาติของทางน้ำเช่นทุกครั้งที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นมา

จะว่าไปแล้ว จนถึงเวลานี้ แผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ส่วนกลาง ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลจะกำหนดพื้นที่ใดเป็นพื้นที่รับน้ำ และจะทำความตกลงกับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบเช่นใด เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมามีแต่ข่าวร่ำลือว่าพื้นที่ใดบ้างจะถูกแจ็คพ็อต

ล่าสุด นายวิทยา บูรณศิริ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย จ.พระนครศรีอยุธยา ก็โยนเรื่องไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา คือ อยุธยา, ชัยนาท, สิงห์บุรี ลพบุรี และอ่างทอง ไปพูดคุยกันเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีขอเป็นพื้นที่รับน้ำในช่วง 1-2 ปีแรก เนื่องจากโครงการแต่ละจังหวัดที่เสนอกับนายกฯ นั้นยังไม่สามารถดำเนินการได้ภายใน 2 ปี หาก 5 จังหวัดเสนอเป็นพื้นที่รับน้ำชั่วคราวไปก่อนและนำเงินมาจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านน่าจะประหยัดงบทำแนวคันดินป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เกษตรซึ่งสุดท้ายก็ป้องกันไม่ได้ ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็เปลี่ยนอาชีพจากทำนา ทำสวน มาทำประมงในช่วงน้ำท่วมแทน

ข้อเสนอของนายวิทยา ที่โยนภาระไปให้กับผู้ว่าฯ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ ที่ กยน. ควรจะต้องลงมือเอง ก็เป็นแต่เพียงการโยนหินถามทางอีกครั้งหนึ่งที่ยังเอาแน่ไม่ได้ เพราะลงว่าขนาดนายกรัฐมนตรี ยังบ่ายเบี่ยงไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะใช้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่แก้มลิงเพราะกลัวมวลชนต่อต้านแล้ว สุดท้ายประชาชนก็ได้แต่รอจมน้ำไปด้วยกันเหมือนเช่นที่ผ่านมาโดยรัฐบาลไม่กล้าบอกความจริง ไม่กล้าเปิดรับฟังความเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมองอีกด้านหนึ่งนั้นมีความหมายว่าไม่มีการวางแผนเพื่อเตรียมแก้ปัญหาล่วงหน้าแต่อย่างใด

โจทย์ข้อนี้ รอฟังว่าหลังจบทัวร์นกแก้วในปลายสัปดาห์นี้แล้ว นายกรัฐมนตรี จะมีคำตอบที่ชัดเจนหรือไม่

ไม่เพียงแต่การจัดหาพื้นที่รองรับน้ำเท่านั้นที่ยังเอาแน่ไม่ได้และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียขาดการมีส่วนร่วม ในส่วนของโครงการก่อสร้างเขื่อนถาวรกั้นนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทที่รัฐบาลช่วยเหลือโอบอุ้มนักลงทุนก็เป็นเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนนิคมฯ ป้องกันน้ำท่วม โดยเริ่มก่อสร้างที่นิคมฯบางปะอิน มีความยาวประมาณ 11 กม.ใช้งบก่อสร้างประมาณ 728 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1 ก.พ. - ก.ค. 55 สวนนิคมฯบางกระดี่ ความยาว 8.5 กม. ใช้งบ 272 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 14 ก.พ. - 31 ก.ค. 55 เขตอุตสาหกรรมโรจนะ ความยาว 77.6 กม. ใช้งบ 2,233 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง1 ก.พ. - 30 ก.ย. 55 นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ความยาว 13 กม.ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท เริ่มวันที่ 1 มี.ค.55 ถึง 31 สิงหาคม 55สวนอุตสาหกรรมนวนคร ความยาว 18 กม.ใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท เริ่มวันที่ 15 ก.พ.55 แเสร็จสิ้นในวันที่ 31 ส.ค. 55 และนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ยาวประมาณ 13 กม.ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1 เม.ย. - 31 ส.ค. 55

เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ข้างต้นนั้น ไม่มีหน่วยงานไหนสนใจว่าชุมชนรอบนิคมที่อยู่นอกแนวเขื่อนกั้นนั้นจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และจะมีมาตรการชดเชยเยียวยาพวกเขาเหล่านั้นเช่นใดหากเกิดปัญหาขึ้นมา

เรื่องนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนถาวรกั้นนิคมฯ โดยไม่เปิดรับฟังเสียงของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียรอบนอกนิคมฯ เพราะการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวรอาจทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นในชุมชนรอบข้าง สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียง โดยรัฐบาลและผู้ประกอบการไม่มีการเข้าไปทำความเข้าใจและหาทางวางแผนไม่ให้ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน ไม่มีการกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมก่อนการดำเนินการใดๆ

ที่สำคัญ การจำกัดขอบเขตการไหลของน้ำยังจะทำให้ลักษณะการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลง เช่น ระดับน้ำสูงขึ้น ความเร็วและอัตราการไหลเพิ่มขึ้น ฯลฯ รวมทั้งการส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนที่จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลไม่คิดหาคำตอบก่อนลงมือดำเนินการสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรรอบนิคมฯ

โครงการสร้างเขื่อนถาวรป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังแก้ปัญหาโดยมีมุมมองเพียงด้านเดียวในการบริหารจัดการการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ขาดบริบทของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างจงใจ ซึ่งถือเป็นการท้าทายกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 66 และมาตรา 67 อย่างเจตนา

ปัญหาน้ำท่วมใน 7 นิคมอุตสาหกรรมของภาคกลาง เป็นที่น่าเห็นใจผู้ประกอบการทั้งเจ้าของนิคมฯ และผู้ประกอบการโรงงานในนิคมต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะต่างได้รับความเสียหายจากวิกฤตน้ำท่วมดังกล่าวกันอย่างทั่วหน้า แต่ทว่าต้องไม่ลืมว่าผู้ประกอบการเหล่านั้นยินยอมถือความเสี่ยงกันเองทั้งสิ้น เพราะรู้ทั้งรู้ว่าพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นพื้นที่ลุ่มภาคกลางที่น้ำสามารถท่วมถึง และบางแห่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแนวทางน้ำไหลผ่านหรือ Floodways ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพเป็นมาแต่ครั้งโบราณกาล

ผู้ประกอบการและโรงงานต่าง ๆ เหล่านั้นยอมถือความเสี่ยง เพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนทางธุรกิจที่มากกว่าพื้นที่อื่น ทั้งเรื่องราคาที่ดินที่ถูกกว่า มีระบบโลจิสติกส์ที่ดีกว่า ประหยัดการลงทุนมากกว่า โดยไม่สนใจเลยว่าจะต้องเสี่ยงกับการถูกน้ำท่วมอย่างแน่นอน แต่เมื่อยามเกิดปัญหาขึ้นกลับหนีเอาตัวรอด โดยการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรขึ้น ในลักษณะ“เห็นแก่ตัวและเอาเปรียบชุมชน”

ความจริงแล้ว รัฐบาลสามารถเรียกความเชื่อมั่นการลงทุนและเป็นทางออกในลักษณะ win-win คือ รัฐบาลต้องมีแผนหรือมาตรการที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมเสียก่อน โดยนำมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง ก่อนที่จะอนุมัติแผนงานหรือเงินทุนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวร

การดึงดันเดินหน้าแก้ปัญหาอุทกภัยโดยไม่ฟังความรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนถาวรกั้นนิคมฯ การปกปิดข้อมูลพื้นที่รับน้ำ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำสาขาเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงศ์ ที่อยู่ในแผนจัดการน้ำระยะยาว รวมทั้งโครงการทางระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือ ฟลัดเวย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก สุดท้ายแล้วการวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อาจเป็นการจุดชนวนปัญหามวลชนและจบลงด้วยการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น