“สุรพงษ์” รู้มาเลย์จับมือบึ้มได้ โยน ตร.ขอผู้ร้ายข้ามแดน เชิญทูตแจงแล้ว จี้สถานทูตเข้มขอวีซ่า เล็งขึ้นบัญชี บ.ทัวร์ เผยอิหร่านจี้ไทยเช็กสัญชาติ ยันสยามไม่เป็นศัตรูใคร ด้าน หน.ปชป.แนะพูดความจริง - ฝั่ง กมธ.ตปท.สภาเรียก จนท.แจง กุนซือข่าวกรองอ้างมะกัน-ยิวเตือนแค่เดา ชี้ปล่อยเข้าเมืองเหตุไร้ประวัติติดคดี ขณะที่ กต.ยันบึ้มหมายหัวไม่ใช่ก่อการร้าย ไม่โยง “อาทริส” รับ 10 ชาติเตือนภัยแล้ว
คลิกที่นี่ เพื่อฟังคลิปเสียง "นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล"
วันนี้ (16 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ทางการมาเลเซียสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาระเบิดที่สุขุมวิทว่า ตนได้รับรายงานตั้งแต่เมื่อวาน (15 ก.พ.) ว่าทางการมาเลเซียได้จับคุมผู้ร้ายได้ 1 คน เป็นคนร้ายที่หนีออกจากประเทศไทย ซึ่งตอนนี้เรื่องการประสานเรื่องขอตัวผู้ร้ายต้องให้ทางตำรวจเป็นผู้ประสาน และทางกระทรวงการต่างประเทศก็พร้อมที่จะประสานเพื่อให้มีการนำตัวผู้ร้ายกลับมา นอกจากนี้ เมื่อวาน (15 ก.พ.) กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญเอกอัครราชทูตจากทุกประเทศมารับการชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งนานาประเทศชาติก็เข้าใจและรับฟังข้อมูลถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และทางกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นว่าหากประเทศต่างๆ มีข้อมูลในลักษณะที่รู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือลอบวางระเบิด ขอให้แจ้งมายังทางการไทยด้วย ซึ่งทางประเทศไทยจะได้ตรวจสอบและเข้มงวดให้เพิ่มมากขึ้น
“ตอนนี้ผมได้กำชับกับทางปลัดกระทรวงให้แจ้งไปยังทุกสถานทูตว่า หากมีการขอวีซ่าเข้าประเทศไทยที่สถานทูตนั้น ควรตรวจสอบและเช็กข้อมูลของผู้ที่จะเข้ามาในประเทศให้ชัดเจนด้วย สำหรับผู้ก่อการร้ายทั้ง 3 คนเราได้ตรวจเช็กแล้วว่าได้ขอวีซ่าผ่านบริษัททัวร์ ทั้งนี้อาจจะมีการพิจารณาขึ้นบัญชีกับบริษัททัวร์ซึ่งผมได้สั่งการให้ลิสต์ชื่อบริษัททัวร์ที่อาจจะมีผู้ก่อการร้ายใช้เป็นช่องทางในการเข้าประเทศ แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องขึ้นแบล็กลิสต์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการแจ้งเตือนเพิ่มขึ้นมาอีก 4 ประเทศ เช่น อิตาลี นอร์เวย์ อิสราเอล ไต้หวัน” นายสุรพงษ์กล่าว
เมื่อถามว่า การแถลงการของประเทศอิหร่านที่กล่าวว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว นายสุรพงษ์กล่าวว่า ทางสถานทูตอิหร่านได้คุยกับทางกรมเอเชียของตน ซึ่งทางอิหร่านก็ได้ประณามการกระทำดังกล่าว และขอให้ประเทศไทยตรวจพิสูจน์สัญชาติของผู้ร้ายที่จับได้ว่าเป็นคนอิหร่านจริงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ก็ได้ตกลงที่จะขอพิสูจน์สัญชาติกันก่อนโดยทางการอิหร่านยินดีที่จะให้ความร่วมมือ และคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานเพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนและอาจจะกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศจึงต้องรีบดำเนินการติดต่อข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าผู้ร้ายเป็นใครมาจากไหน
เมื่อถามต่อว่า การที่นักวิชาการออกมาบอกว่าสหรัฐฯ พยายามให้ข่าวว่าผู้ก่อการร้ายเป็นบุคคลของประเทศอิสราเอลถือเป็นการเล่นเกมทางการเมือง ไทยอาจตกอยู่ในเกมการเมือง นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตนคิดว่าคงไปคาดเดาในเรื่องดังกล่าวมิได้ บางทีทั้งสองประเทศอาจจะมีปัญหาระหว่างกัน แต่เราในฐานะที่เป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร เราไม่อยากจะไปมีส่วนยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แล้วแต่นักวิชาการจะวิเคราะห์ออกมา ซึ่งอิสราเอลกับไทยเรามีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างยาวนาน ในขณะที่ไทยและอิหร่านก็มีความสัมพันธ์ที่ดีมาเป็นเวลายาวนาน ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศอย่างดีมาก และประเทศไทยไม่มีนโยบายที่จะไปเป็นศัตรูกับใครในเวทีโลก และยืนยันว่าประเทศไทยจะเป็นมิตรกับทุกประเทศเพราะเราเองต้องการจะเป็นกลาง ทั้งนี้ ส่วนกรณีที่ประเทศอิสราเอลบอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่ประเทศจอร์เจีย และประเทศอินเดีย ทางประเทศอิสราเอลยังไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุย
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอยากให้รัฐบาลใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัยของประชาชน และระวังเรื่องการแสดงความคิดเห็นที่อาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องนี้แม้ว่ารัฐบาลจะพุ่งเป้าเป็นการกระทำเฉพาะตัวบุคคล แต่ก็ควรพูดไปตามความเป็นจริง นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลประสานกับต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะขณะนี้บางประเทศได้มีการประกาศเตือนการก่อการร้ายในไทยไปแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ส่วนที่รัฐบาลระบุว่าผู้ก่อเหตุไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายนั้น ตนไม่ทราบว่ามีการตั้งข้อกล่าวหาอะไร แต่ควรตามความจริง เพราะรัฐบาลจะปกปิดอย่างไร ต่างประเทศก็ทราบอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร ปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่ารัฐบาลต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และขอให้นายกฯ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงเข้ามาพูดคุยด้วย
ขณะที่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุมคณะกรรมาธิการครั้งที่ 11 โดยมีวาระการพิจารณาความคืบหน้าเหตุการณ์ โดยได้เชิญกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานข่าวกรอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าชี้แจง
นายสุรพล แสงหัตถวัฒนา ที่ปรึกษาสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ผู้มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการระบุว่า เหตุระเบิดที่เกิดเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าทางการอิสราเอล และสหรัฐฯ ได้แจ้งเตือนประเทศไทยมาก่อนหน้านี้ เป็นเพียงการคาดการณ์จากสถานการณ์ เพราะในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่อดีตผู้นำกลุ่มก่อการร้ายฮิซบอลเลาะห์ถูกลอบสังหารจึงมีการแจ้งเตือนเหตุก่อวินาศกรรมเพื่อการแก้แค้นให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม ไม่ใช่ความแม่นยำของการข่าวแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่กลุ่มก่อการร้ายใช้ประเทศไทยในการเคลื่อนไหวบ่อยขึ้นนั้น ที่ปรึกษาสำนักงานข่าวกรองชี้แจงว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวมีผู้คนเดินทางเข้าออกกว่าปีละ 10 ล้านคน จึงยากต่อการตรวจสอบ ขณะที่บุคคลทั้งสามที่สามารถเดินทางเข้ามาก่อเหตุดังกล่าวในกรุงเทพมหานครได้นั้น ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้ตรวจสอบประวัติแล้วพบว่าไม่เคยมีประวัติการก่ออาชญากรรมจึงอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้
ด้าน นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นมีเป้าประสงค์ที่ตัวบุคคลมากกว่าการก่อวินาศกรรม แต่เบื้องต้นยังไม่พบข้อมูลถึงการเชื่อมโยงกับนายอาทริส ฮุสเซน ชายชาวเลบานอน สัญชาติสวีเดน ที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ ส่วนจะเชื่อมโยงไปถึงกรณีการก่อวินาศกรรมในอินเดียและจอร์เจียด้วยหรือไม่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน โดยล่าสุดมีประเทศที่ออกประกาศเตือนถึงเหตุการณ์ในไทยแล้วจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล และนิวซีแลนด์ ภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสถานทูตประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรก ที่ออกประกาศให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทราบถึงเหตุการณ์ระเบิดใน กทม. จากนั้นสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยจึงได้ออกข่าวผ่านทางเว็บไซต์ โดยในครั้งนี้นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้โทรศัพท์ถามถึงเหตุการณ์กับทาง กระทรวงการต่างประเทศก่อนแจ้งเตือนบนเว็บไซต์