xs
xsm
sm
md
lg

ยัดเงินเยียวยาเหยื่อไฟใต้ กลบกระแส “สองมาตรฐาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ
สะเก็ดไฟ

ดูเหมือนคำว่า “สองมาตรฐาน” ที่บรรดาสมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เคยใช้เป็นเครื่องหมายการค้าในการตราหน้าฝ่ายตรงข้ามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นงูยักษ์ตัวใหญ่ที่ตวัดหางกลับมาพันคอตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว

เมื่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 ม.ค.55 ที่ผ่านมา ได้ “เทกระจาด” โปรยงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง โดยขีดกรอบเวลาไว้ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.49 เรื่อยมา จนถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ซึ่งใครๆก็รู้ว่าหวังมุ่งเป้าหมายไปที่การเยียวยาให้ “คนเสื้อแดง” ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีก่อนเท่านั้น

จึงหนีไม่พ้นการถูกหยิบมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมากที่สุดในสังคม โดยเฉพาะข้อครหาเรื่องการจ่ายเงินชดเชยเยียวยา “ผู้เสียชีวิต” ที่มียอดตัวเลขสูงถึง “7.75 ล้านบาท” ที่คณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มี “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ได้พยายามอ้างถึงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามหลักสากลที่คำนวณจากรายได้ต่อหัวปี 53 (150,000 บาท) คูณกับเวลาชีวิตที่เหลือ 35 ปี (ตามอายุเฉลี่ยรวมของผู้ชุมนุม)

พ่วงด้วยเงินเยียวยาจิตใจอีก 3,000,000 บาท อ่านว่า “สามล้านบาทถ้วน”

จนเกิดเสียงอื้ออึงจากหลายฝ่ายว่าตัวเลขดังกล่าว รัฐบาลจงใจ “ปูนบำเหน็จ” ให้กับ “พลพรรคเสื้อแดง” ที่ยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายดัน “รัฐบาลทักษิณส่วนหน้า” ขึ้นมาผงาดบริหารประเทศอยู่ทุกวันนี้หรือไม่

นั่นเพราะตัวเลขผู้เสียชีวิตในกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนด ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็น “กลุ่มคนเสื้อแดง” ทั้งสิ้น

แม้กระทั่งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เป็นคนเสนอแนะเรื่องดังกล่าวเองกับมือ ยังงงเป็น “ไก่ตาแตก” ว่าตัวเลขที่สูงลิบลิ่วขนาดนี้รัฐบาลใช้หลักเกณฑ์ของชาติใดในโลกมาเป็นตัวชี้วัด โดยเฉพาะเงินเยียวยาด้านจิตใจที่มีมูลค่า “3 ล้านบาท”

ตลกร้ายกว่านั้นคือ คำตอบจากปากของ “ประธาน ปคอป.” ที่สารภาพอย่างไม่เคอะเขินว่าใช้ “ความรู้สึก” ในการตัดสิน ยิ่งส่งผลให้อุณหภูมิต่อต้านในสังคม เริ่มส่งเสียงดังถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมๆกับการตั้งคำถามจากญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมตามเหตุการณ์ต่างๆในอดีต ไล่ตั้งแต่อย่าง “14 ตุลา 16 - 6 ตุลา 19 - พฤษภา 35 - กรือเซะ - ตากใบ” ตลอดจนเหยื่อมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่เพิ่งผ่านพ้นมาหมาดๆ ว่าเขาเหล่านี้สมควรได้รับการเยียวยาเฉกเช่นเดียวกันหรือไม่

ขณะที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” พยายามหาทางขจัดข้อโต้แย้งต่างๆ ด้วยการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาหลักเกณฑ์ และการยื้อเวลาจ่ายเงินออกไป ทำให้เรื่องดังกล่าวค่อยๆซา และจางหายไปจากความสนใจของประชาชนอยู่พักหนึ่ง

กระทั่งเกิดเหตุการณ์กองกำลังทหารพรานไล่สกัดจับคนร้ายที่ใช้เครื่องยิงกระสุนเอ็ม 79 ยิงใส่ฐานชุดปฏิบัติการทหารพราน 4302 ม.3 บ.น้ำดำ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนเจ้าหน้าที่ทหารพรานต้องประสานกำลังที่ลาดตระเวนนอกฐานให้จัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด พร้อมทั้งใช้รถยนต์ออกจากฐานเพื่อสกัดปิดล้อมบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง จนพบรถกระบะต้องสงสัยที่มีชาวบ้านหลายคนอยู่ในกระบะหลังขับย้อนศรขึ้นมา จึงเกิดการยิงตอบโต้กันขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านเสียชีวิตทันที 4 ราย เมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

ประเด็นดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูว่า 4 ศพในที่เกิดเหตุ มีผลมาจากความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จนหน่วยงานบังคับบัญชาต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อลดแรงเสียดทานไม่ให้บานปลาย

เพราะเรื่องนี้นับเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และเสี่ยงต่อการเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาจฉวยโอกาสทำสงครามจิตวิทยา ด้วยการปลุกระดมคนในพื้นที่ให้ออกมาต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ จนไม่สามารถควบคุมความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ร้อนแรงอยู่แล้วได้ ทำให้เรื่องการเยียวยาเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ถูกรื้อขึ้นมาหารือกันใหม่ในหมู่ผู้บริหารระดับสูงอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ และองค์กรสิทธิมนุษยชนบางส่วน ก็วิ่งเข้าขบวนออกมา “กระทุ้ง” รายวัน ให้รัฐบาลใช้มาตรฐานเดียวกัน จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ศพ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

เล่นเอารัฐบาลออกอาการ “ไปไม่เป็น” เด้งเชือกไม่ออกเหมือนแต่ก่อน ที่มักจะพยายามโบ้ยเรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุด “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ทุกครั้งที่มีการเรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชยเยียวยา “เหยื่อไฟใต้” ให้ทัดเทียมกับ “เหยื่อการเมือง”

เป็นเพราะครั้งนี้ รัฐบาลกำลังตกอยู่ในสภาพเพลี่ยงพล้ำ และแก้ไม่ตก พื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาหมักหมมมานาน วันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นสิ่งที่ “รัฐบาลน้องสาว” ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อที่จะหายุทธวิธีในการลบภาพเลวร้ายที่ “รัฐบาลพี่ชาย” เคยสร้างบาดแผลเหวอะหวะทิ้งไว้

การปล่อยปละหรือการไม่แสดงเจตจำนงในการดูแล จึงยิ่งจะส่งผลให้ทัศนคติด้านลบของคนด้ามขวานที่มีต่อ “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” อยู่แล้ว ดิ่งลงเหวเข้าไปชนิดฝังรากลึกยิ่งกว่าเก่า จนไม่อาจฉุดถอนได้

ให้หลังเพียง 4 วัน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) จึงรีบประชุมและเห็นชอบระเบียบ กพต. ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้พ.ศ.… ในวันเดียวกันแบบง่ายดาย

เพื่อส่งสัญญาณกลบกระแสการโจมตีจากพี่น้องทางใต้ รวมถึงฝ่ายค้านเอง

โดยสนน “ราคาชีวิต” ของ “เหยื่อไฟใต้” ไว้ใกล้เคียงกับ “เหยื่อการเมือง” ที่ “7.5 ล้านบาท” ซึ่งจะชดเชยย้อนหลังให้ถึงแค่วันที่ 1 ต.ค.54 ตาม “พระราชบัญญัติศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เลขาธิการศอ.บต. อ้างว่าเพิ่งมีการโอนงานเยียวยามาให้ ศอ.บต.ดูแลเมื่อปลายปี 54

วัดกันสองกรณี เบ็ดเสร็จแล้วกรอบระยะเวลาการชดเชย “เหยื่อไฟใต้” ย้อนหลังได้แค่ 1 ปี ขณะที่ “เหยื่อการเมือง” รูดยาวร่วม 4 ปี

เปิดช่องโจมตีเรื่อง “สองมาตรฐาน” เต็มหน้า

ในขณะที่ เหตุการณ์ถล่มมัสยิดกรือเซะ และสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ ที่มีผู้เสียชีวิตร่วม 200 ศพ เตะถ่วงไปให้คณะกรรมการชุด “พล.ต.อ.ประชา” รับผิดชอบ เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ ตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา

ตามมุกเดิมๆแค่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คุมอารมณ์สังคมให้อยู่ ก่อนแถไกลไปเรื่องอื่น

ไม่ต่างจากกลวิธี “เงินฟาดหัว” เพื่อประคับประคองความเกลียดชังให้อยู่ในระดับ “เสมอตัว”
กำลังโหลดความคิดเห็น