xs
xsm
sm
md
lg

“ทัวร์นกแก้ว” เคาะ 5 หมื่นล้าน ให้ 10 จว.ผ่าน 2 พันโครงการ เร่งด่วนแก้น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“ทัวร์นกแก้ว” วันที่ 3 เคาะ 5 หมื่นล้านให้ 10 จังหวัดต้นน้ำผ่าน 2 พันโครงการ อัดเพิ่ม 55 โครงการเร่งด่วนต้องเสร็จใน 3 เดือน “ปู” ย้ำเดินหน้า “บางระกำโมเดล” ชูพื้นที่บุกเบิกแก้น้ำท่วม พร้อมสั่งผู้ว่าฯ เตรียมแผนช่วยชาวบ้านอยู่กับน้ำหากท่วมอีก กำชับตรวจรับงานขุดลอกคลองต้องเฮี้ยบ ด้าน ก.ทรัพยากรฯ เน้นปลูกป่าต้นน้ำ ผุดไอเดียฝายติดจีพีเอส หวังใช้ตรวจสอบการทำงาน ส่วน “ธีระ” อวดผลงานตัดแม่น้ำยม-น่านผันน้ำเป็นระบบ

ที่โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ทแอนด์สปา จ.นครสวรรค์ เช้าวันนี้ (15 ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการประชุมแผนงานโครงการป้องกันจังหวัดพื้นที่กลางน้ำ ร่วมกับรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (กยน.) ผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการในพื้นที่ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่วันที่ 3 ของนายกรัฐมนตรีเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวก่อนเข้าสู่ประชุมว่า อยากให้นำข้อสรุปของพื้นที่ต้นน้ำ 10 จังหวัด(เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา) ที่ได้มีการลงพื้นที่เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบลัติงานต่อในส่วนพื้นที่บริหารจัดการน้ำตอนกลาง โดยเป็นส่วนในการเน้นฟื้นฟูบูรณะในเรื่องของอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำ รวมไปถึงการขุดคูคลองต่างๆ เพื่อที่ทำให้น้ำนั้นไหลลงไปสู่พื้นที่ปลายน้ำให้รวดเร็ว ทั้งยังเป็นการติดตามในส่วนของการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนด้วย

จากนั้น นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปในส่วนของโครงการและงบประมาณของพื้นที่ 10 จังหวัดต้นน้ำว่า ทั้ง 10 จังหวัดมีโครงการรวมกันทั้งหมด 2,116 โครงการ วงเงิน 49,297 ล้านบาท โดยสามารถแยกโครงการเป็น 2 ลักษณะ คือ โครงการระยะเร่งด่วน 581 โครงการ วงเงิน 10,711 ล้านบาท และโครงการระยะยั่งยืน 1,935 โครงการ วงเงิน 38,586 ล้านบาท โดยจะมีโครงการที่เพิ่มเติมจากของเดิม 55 โครงการใน 10 จังหวัดต้นน้ำ งบประมาณ 2,179 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จใน 3 เดือน ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง และลงมือปฏิบัติ สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ โครงการะยะเร่งด่วน หรือที่ต้องดำเนินการทันทีของแต่ละจังหวัด วงเงิน 1,826 ล้านบาท โครงการแก้มลิง 47 ล้านบาท การขุดลอก วงเงิน 203 ล้านบาท และโครงการอื่นๆ อาทิ การสร้างพนังกั้นน้ำ วงเงิน 103 ล้านบาท

ขณะที่ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวสรุปแผนการปลูกป่าต้นน้ำ และการทำฝายชะลอน้ำว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญการโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์การปลูกป่าต้นน้ำ โดยจากการร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการ 10 จังหวัดต้นน้ำพบว่า พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์มีอยู่ 42 ล้านไร่ และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 10 ล้านไร่ จึงได้ปรึกษาหารือถึงแนวทางในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ที่แม้จะยังไม่สามรารถทำการปลูกป่าได้ ก็ควรจะมีการก่อสร้างฝายชะลอน้ำตามจุดต่างๆ โดยขอให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเข้าไปดูพื้นที่จริงๆ ไม่ให้ทำงานที่ศาลากลางแล้วสั่งลูกน้องไปดูเหมือนแต่ก่อน เพื่อนำมาสรุปว่าคลองที่มาจากเขาป่าต้นน้ำมีขนาดเท่าไร ก่อนมาคำนวณขนาดของฝายชะลอน้ำต่อไป

และเพื่อให้โครงการสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา จะให้มีการติดตั้งจีพีเอสทุกพื้นที่ที่มีฝายชะลอน้ำ เพื่อใช้ในการดูพิกัด และประเมินผลประสิทธิภาพของแต่ละฝาย รวมไปถึงโครงการแก้มลิงที่ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราการจังหวัดไปพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม และให้สนับสนุนโครงการทำนาขั้นบันได เมื่อป่าและดินชุ่มน้ำแล้ว จึงมาดูว่าจะนำพืชชนิดใดมาใช้ในโครงการปลูกป่า โดยให้น้อมนำโครงการพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ และประสานขอความร่วมมือจากเอกชนด้วย

ด้าน นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ สรุปในส่วนของการเชื่อมโยง ฟื้นฟูแหล่งน้ำและคูคลองว่า ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนมีหลายแหล่งน้ำที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะในส่วนของลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำยม ซึ่งลุ่มน้ำน่านถือเป็นจุดที่มีศักยภาพ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลางหลายแห่ง ส่วนแม่น้ำยมก็มีเขื่อนขนาดกลางเช่นกัน แต่เมื่อเกิดฝนตกอาจไม่ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำ อาจจะหนักในแม่น้ำน่าน หรือเม่น้ำยม ดังนั้นเพื่อให้มีการบริหารจัดการลุ่มน้ำได้ ต้องมีการเชื่อมโยงทั้ง 2 ลุ่มน้ำต่อกัน อาทิ คลองระบายน้ำคลองกล่ำ-คลองเกต เป็นต้น ในขณะที่ด้านขวาของแม่น้ำยมจะมีบึงอยู่หลายแห่ง ได้แก่ บึงตะเคร็ง บึงระมาน และบึงขี้แล้ง ที่มีพื้นที่รวมกัน 3,500 ไร่ หากมีการปรับปรุงขุดลอกทั้ง 3 บึงจะสามารถกักเก็บน้ำได้ 32 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และยังจะเชื่อมโยงคลองธรรมชาติเพื่อควบคุมหรือระบายน้ำได้อีกด้วย

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า โดยภาพรวมพื้นที่ต้นน้ำมีโครงการทั้งสิ้น 2,116 โครงการ ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการเริ่มทำเลย แต่จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ในแผนเร่งด่วน 581 โครงการ และอยู่ในแผนยั่งยืนที่ทำควบคู่กันไปอีก 1,935 โครงการ ส่วนโครงการะยะเร่งด่วนที่มีการรวมแผนระหว่าง กยน. สำนักงบประมาณ และทางจังหวัด มีที่ต้องทำเพิ่มอีก 55 โครงการ ในส่วนของโครงการปลูกป่าต้นน้ำ และฝายชะลอน้ำ มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อทำการมาร์คจุดจีพีเอสผ่านภาพถ่ายทางดาวเทียมเพื่อดูว่ามีการติดตั้งจริง ก่อนเชื่อมเข้าระบบแผนที่การบริหารจัดการน้ำที่จะมีการทำในอนาคต ทั้งฝาย เขื่อน คูคลองต่างๆ รวมไปถึงเครื่องสูบน้ำ ผ่านจีพีเอส หรือซีซีทีวี เชื่อมต่อให้เป็นแผนที่ขนาดใหญ่ เบื้องต้นจะทำในจุดใหญ่ๆ เมื่อจังหวัดมีกำลัง อยากให้ทำระบบให้เหมือนกัน ก่อนเชื่อมเข้าส่วนกลางเป็นคอมมานด์เซนเตอร์ ณ จุดเดียว เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งหมดเป็นเอกภาพ

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า จากการดูงานเมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) พบว่าสิ่งที่เราต้องดำเนินการอย่างแรกคือการทำอย่างไรให้มีการต่อยอดความคิดในการเชื่อมบึงธรรมชาติด้วยคลอง ถือเป็นหลักใหญ่ โดยในเฉพาะใน จ.พิษณุโลก ที่เราเลือกเป็นจุดเริ่มของโครงการ เพราะเห็นว่าพื้นที่ อ.บางระกำ เป็นพื้นที่มีลุ่มต่ำ จึงเริ่มจากจุดนี้ เพื่อจะดูด้วยว่าธรรมชาติของคนที่อาศัยอยู่ร่วมกับน้ำในบริเวณนั้นด้วย และหากพื้นที่ใดมีน้ำท่วมขังก็ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาหาแนวทางปรับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้สามารถอยู่ได้ชั่วคราว

ทั้งนี้ยังมีการนำบางระกำโมเดลที่จะเชื่อมบึงธรรมชาติด้วยคลอง เริ่มที่การขุดลอกบึง 3 แห่งตามที่นายธีระกล่าวรายงาน จะทำให้รับน้ำได้อีก 32 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี นอกจากนั้นเมื่อเก็บน้ำได้มากขึ้นก็จะมีการขุดลอกคลองความยาว 40 กม. จะใช้งบประมาณ 300 กว่าล้านบาท ประโยชน์ที่ตามมา คือ การทำให้น้ำที่ออกจากบึงไปยังคลองด้วย นี่คือหลักส่วนหนึ่งที่เราจะใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ตอนกลาง ขอให้ในแต่ละจังหวัดคำนึงถึงการเชื่อมโครงข่ายน้ำด้วยวิธีธรรมชาติ

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ ยังถือว่าขาดพื้นที่จะมารองรับแม่น้ำยม ดังนั้น สิ่งที่เราทำวันนี้คือ การผันน้ำข้ามแม่น้ำจากแม่น้ำยมไปแม่น้ำน่าน เพราะแม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ในการรองรับ แต่ในระบะยาวเราจำเป็นต้องหาในส่วนของลุ่มน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้คือภารกิจในการบริหารพื้นที่ตอนกลาง ทั้งส่วนของตอนบนและตอนล่าง หากเรายิ่งทำในส่วนของตอนบนดีมากเท่าไร จะทำให้การถ่วงน้ำมีการชะลอน้ำในการไหลลงพื้นที่ตอนปลายมากที่สุด อันนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องเร่งรัดการดำเนินการ โดยในเบื้องต้น กยน.จึงเห็นชอบโครงการของทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ และส่วนจังหวัดที่นำเสนอมา แต่วสิ่งที่อยากฝากไปคือ หากมีการสำรวจแล้วพบว่ามีคูคลองจุดใดที่ตื้นเขินเป็นอุปสรรคในการไหลของน้ำไปยังแม่น้ำสายใหญ่ ก็ขอให้ทางจังหวัดช่วยกันดูแลขุดลอกคูคลอง เพื่อให้ทิศทางการไหลของน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอย้ำให้ตรวจรับงานขุดลอกพื้นที่ต่างๆ จากดินที่ขุดขึ้นมา หรือถ้าสามารถนำดินที่ขุดขึ้นมาทำเป็นพนังกั้นน้ำก็เป็นเรื่องที่ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมฟังผลการประชุมแผนงานโครงการป้องกันน้ำท่วมในจังหวัดพื้นที่กลางน้ำแล้ว นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางไปยังเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ. ชัยนาท เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปในเรื่องการบริหารจัดการน้ำบริเวณน้ำเขื่อนเจ้าพระยา และประตูระบายน้ำต่าง ๆ พร้อมทั้งติดตามการปรับปรุงประตูระบายน้ำพลเทพ ก่อนที่จะเดินทางไปยังประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อติดตามการปรับปรุงประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ที่ชำรุดเสียหายจากเหตุอุทกภัยครั้งที่ผ่านมาด้วย

ส่วนในช่วงเย็นนายกรัฐมนตรีและคณะ จะออกเดินไปยังหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ อ.เมือง จ.ลพบุรี เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปแนวทางการจัดเตรียมแผนปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุและการฝึกซ้อมกรณีการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ รวมถึงการเตรียมการป้องกันอุทกภัยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการตั้งศูนย์พักพิง พร้อมทั้งแนวทางการจัดการด้านการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น