“รศ.เสรี” เผยมีโครงการป้องกันน้ำท่วมกว่า 1,000 โครงการ แนะต้องตั้งหน่วยงานประเมินประสิทธิผลขั้นต้น และต้องติดตามให้ทำโครงการสอดคล้องแผนแม่บท เชื่อปีนี้ฝนไม่หนักเหมือนปีก่อน “ชวลิต” เผยหาพื้นที่แก้มลิง 13 แห่ง ชาวบ้านตกลงแล้ว 8 แห่ง
นายชวลิต จันทรรัตน กรรมการผู้จัดการ บริษัททีมกรุ๊ป กล่าวในรายการ “คมชัดลึก” ทางเนชั่นแชนแนล ถึงความคืบหน้าการดำเนินการป้องกันน้ำท่วมว่าทางทีมกรุ๊ป ได้ทำงานร่วมกับกรมชลประทาน เรื่องการวางแผนเพื่อหาพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิง ขณะนี้มี 8 แห่งที่เจรจากับชาวบ้านและมีข้อตกลงกันได้แล้ว จะมีการสร้างคันกั้นน้ำ และประตูน้ำเพิ่มเติมเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เข้าและออกจากพื้นที่ได้ โดยข้อเรียกร้องของชาวบ้าน คือ ต้องการให้ประเมินและจ่ายค่าชดเชยตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงต่อผลผลิตทางการเกษตรที่ต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ และต้องการให้จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายทันทีหลังน้ำลดลง โดยขณะนี้ยังมีพื้นที่แก้มลิงอีก 5 แห่งที่ทางการต้องไปเจรจากับชาวบ้าน ทำให้จะมีพื้นที่แก้มลิง 13 แห่ง จะรับน้ำได้ 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ ทางทีมกรุ๊ปได้ทำงานร่วมกับกรมทางหลวง มีการดูพื้นที่เพื่อปรับปรุงถนน โดยการยกระดับถนน และเพิ่มระดับการระบายน้ำ
สำหรับในปีนี้ คาดว่าจะรับมือสถานการณ์ได้ดีกว่าปีก่อน เพราะมีแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆได้ดีขึ้น จะมีพื้นที่แก้มลิงเพิ่มขึ้นอย่างน้อยประมาณ 5 แสนไร่ และปริมาณน้ำในปีนี้คาดว่าจะไม่มากเหมือนปีที่แล้ว
รศ.เสรี ศุภราทิตย์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวว่า ภารกิจของกยน. คือการร่างแผนแม่บท ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้วมีมาตรการเร่งด่วน 6 ข้อ และมาตรการยั่งยืน 8 ข้อ โดยหน่วยงานต่างๆนำเสนอโครงการให้สอดคล้องกับร่างแผนแม่บทของ กยน. ขณะนี้มีมากกว่า 1,000 โครงการแล้ว แต่ยังไม่มีการประเมินประสิทธิผลว่าทำแล้วจะได้ผลอย่างไรในเชิงตัวเลข ควรจะมีการหาผู้มาประเมินโครงการต่างๆเหล่านี้ในขั้นต้นก่อนดำเนินการ
สำหรับเรื่องเร่่งด่วนที่ต้องดำเนินการตามแผนแม่บท คือ 1. จัดหาพื้นที่รับน้ำ หรือแก้มลิงให้ได้ 2 ล้านไร่ จากที่ขณะนี้มีอยู่ 2.5 แสนไร่ 2. การบริหารจัดการเก็บน้ำหรือปล่อยน้ำในเขื่อนจะต้องมีการหารือกันก่อนดำเนินการเพื่อป้องกันน้ำท่วม 3. การซ่อมแซม และสร้างเพิ่ม ประตูน้ำ คันกั้นน้ำ ถนนที่ชำรุด 4. ระบบพยากรณ์เตือนภัย 5. ซิงเกิลคอมมานด์ (การสั่งการโดยผู้มีอำนาจ) ขณะนี้มีการตั้งหน่วยงานมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สรุปสุดท้ายนายกฯจะเป็นคนเคาะ 6. เรื่องแผนเผชิญเหตุ
สำหรับการประเมินสถานการณ์น้ำปีนี้ รศ.เสรีกล่าวว่า ช่วงกลางปีถึงปลายปีนี้เชื่อว่าฝนจะไม่ตกหนักเหมือนปีที่แล้ว ฝนจะเริ่มมาเดือนกรกฎาคม สิงหาคม แต่การตั้งสมมติฐานก็ต้องตั้งว่าถ้าน้ำมามากเหมือนปีก่อนจะรับมือกันอย่างไร หน่วยงานต่างๆมีความพร้อมเพียงใด อย่างไรก็ตาม หากน้ำมาเท่าปีที่แล้ว น้ำก็จะท่วมอีก แต่สิ่งที่ทำได้ในปีนี้คือทำให้พื้นที่ถูกน้ำท่วมลดลง และระดับน้ำที่ท่วมลดต่ำลง แต่สิ่งที่กังวล คือ การดูแลคันกั้นน้ำที่ปีที่แล้วใช้การได้ ไม่ชำรุด ต้องดูว่าจะใช้การได้ดีในปีนี้อีกหรือไม่ รวมถึงการดูแลคันกั้นน้ำที่อยู่ในที่ของเอกชน รวมถึงการติดตามการดำเนินการตามแผนแม่บท ต้องมีผู้เข้าไปติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ และทำให้ได้ตามแผน