xs
xsm
sm
md
lg

“ปราโมทย์” เผยระบบจัดการ-ธรรมชาติ ตัวชี้มหาอุทกภัยซ้ำปี 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราโมทย์ ไม้กลัด
“ปราโมทย์” เผยที่ประชุม กยน.ถกรับมือน้ำท่วมรอบใหม่ คาดไม่รุนแรงเหมือนปี 54 แต่อยู่ที่ระบบจัดการโดยเฉพาะพื้นที่รองรับน้ำ 2 ล้านไร่ นับถอยหลังเหลือเวลา 6 เดือนรับมืออุทกภัย พร้อมทำคลอด กนอช.บูรณาการเต็มรูปแบบ ชงเข้า ครม.สัปดาห์หน้า

วันนี้ (3 ก.พ.) นายปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการขับเคลื่อนในหลายเรื่อง โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ให้ดีที่สุด เริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน การกำหนดพื้นที่ชะลอน้ำหลาก โดยเฉพาะในส่วนของการพร่องน้ำในเขื่อนที่มีการกำหนดอยู่ในเกณฑ์เท่าไร มอบหมายให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปดำเนินการ ยกตัวอย่าง เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ก็จะอยู่ที่ราว 42-45 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเขื่อนอื่นๆ ก็ตามความเหมาะสม ให้อยู่เหนือปริมาณน้ำตาย หรือไม่ให้ต่ำกว่าท่อน้ำที่ส่งออกมาผลิตไฟฟ้า โดยเริ่มดำเนินการในช่วงหน้าแล้ง จนถึงวันที่ 1 พ.ค.นี้ และจะมีการสำรองไว้ช่วงหน้าฝนบ้างจำนวนหนึ่ง

“ต้องบอกกับประชาชนว่าอย่าตกใจ ที่มีการบอกว่าพอถึงเดือน พ.ค.น้ำในเขื่อนภูมิพลเหลืออยู่แค่ 45 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบนี้เป็นการดำเนินการที่ใช้งานมา 50 ปีแล้ว หรือเรียกกันว่ามาตรน้ำตาย” นายปราโมทย์ระบุ

สำหรับบรรยากาศในที่ประชุมนั้น นายปราโมทย์กล่าวว่า พูดคุยกันรู้เรื่องดี อาจจะมีการถกเถียงกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษา กยน.ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ในส่วนของการสร้างความมั่นใจกับประชาชน ไม่ว่าน้ำจะไม่ท่วมอีกหรือไม่นั้น เป็นเรื่องตอบยาก แต่คงไม่รุนแรงกว่าปี 54 ทั้งนี้ก็อยู่ในระหว่างการจัดการ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะอธิบายทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างไร โดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีการทำศูนย์ข้อมูล และระบบเตือนภัยที่จะแจ้งต่อประชาชนอย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า การกำหนดพื้นที่รับน้ำหนอง หรือพื้นที่ชะลอน้ำหลาก นายปราโมทย์กล่าวว่า ในความเป็นจริงธรรมชาติเข้าไปอยู่แล้ว พอน้ำมาก็จะไปกระจุกตัวอยู่ในที่นั้นๆ จุดใดบ้างคงยังตอบไม่ได้ เพราะหลายพื้นที่รวมกว่า 2 ล้านไร่ รัฐบาลก็ต้องไปดำเนินการในส่วนของการเยียวยา หรือชดเชยในพื้นที่การเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่ลงรายละเอียดในส่วนของจำนวนเงิน เรื่องนี้นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกรทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบ

เมื่อถามต่อถึงมาตรการระยะสั้นในขณะนี้ นายปราโมทย์กล่าวว่า ได้ขับเคลื่อนไปแล้ว โดยมอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการไปหลายอย่าง หากยังตกลงไม่แล้วเสร็จ คงจะเตรียมการไม่ทัน ส่วนเรื่องที่ต้องเน้นในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนนั้น สิ่งสำคัญคือการบอกกล่าวข้อมูล แต่ทุกฝ่ายต้องมีความเข้าใจว่าเรามีเวลาขับเคลื่อนได้เพียง 6-7 เดือนเท่านั้น ในขณะที่ต้องติดตามสถานการณ์ธรรมชาติไปควบคู่กันด้วย

นายปราโมทย์เปิดเผยด้วยว่า จากนี้จะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาบริหารสภถานการณ์ คือ คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเป็นหน่วยงานหน่วยงานที่สามารถตัดสินใจโดยเบ็ดเสร็จ หรือซิงเกิลคอมมานด์ อยู่ระหว่างในการทำรายละเอียดในแง่ของกฎหมายให้ชัดเจน องค์กรนี้จะทำหน้าที่บริหารจัดการแผนงานเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานอื่นปฏิบัติ วันนี้ก็มีผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกามาให้ข้อมูลเรื่องกฎหมาย และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) มาให้ข้อมูลเรื่องโครงสร้างด้วย ซึ่ง กนอช.จะมีเป็นหน่วยงานถาวรที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลทั้งในภาวะปกติและในระหว่างเกิดเหตุ ต่างจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจ

ด้าน นายวิเชียร ชวลิต เลขาธิการ กยน. กล่าวถึงการประชุมในวันนี้ว่า มีการหารือในหลายเรื่อง ทั้งแผนการบริหารจัดการน้ำ และการกำหนดพื้นที่รับน้ำที่กำหนดวงไว้กว้างๆ 2 ล้านไร่นั้น ก็ต้องไปดูอีกว่าประชาชนมีความพร้อมหรือไม่ มีการยอมรับมากน้อยหรือไม่ด้วย ตามแผนเดิมกำหนดไว้ภายในเดือน มี.ค.นี้ แต่ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้รับว่าจะพยายามเร่งให้เสร็จก่อนแผนเดิมสิ่งที่เป็นห่วงคือการดูแลชาวบ้าน จะไม่มีการปล่อยให้ได้รับความเดือดร้อนมาก รวมทั้งค่าตอบแทนชดเชยความเสียหาย แต่ยังไม่ได้ระบุว่าเท่าไร มีเพียงการพูดถึงหลักการดูแลเท่านั้น

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีการพูดถึงเรื่องการพยากรณ์และการเตือนภัย ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับไปทำก่อนหน้านี้ นายปลอดประสพก็ได้มารายงานว่ามีการออกแบบระบบการแจ้งเตือน เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ถือเป็นการติดตามว่าแผนในระยะเร่งด่วนทุกเรื่องมีความคืบหน้ามากน้อยขนาดไหน ทั้งยังมีการพูดถึงการลงพื้นที่ติดตามงานของนายกฯ ระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ.นี้ด้วย โดยงานที่จะไปติดตามก็อยู่ในงบประมาณ 17,000 ล้านบาท ที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้ และบูรณาการกับพื้นที่ต่างๆ ให้แต่ละจังหวัดได้มาคุยพร้อมๆกัน ทั้งในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยในส่วนของต้นน้ำก็จะมาดูเรื่องของป่า กลางน้ำก็เป็นระบบระบาย ส่วนปลายน้ำที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือตอนบน ใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมาถึงอยุธยา ที่จะดูในรอบนี้เลย ส่วนปลายน้ำตอนล่าง ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ จะมีการจัดลงพื้นที่อีกครั้ง เพราะรายละเอียดค่อนข้างมาก

สำหรับกรณีการตั้งคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) นั้น นายชวลิตกล่าวว่า คาดว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 ก.พ.นี้ได้ โดย กนอช.จะเป็นเหมือนบอร์ดบริษัท และจะมีสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (สนอช.) เป็นผู้รับนโยบายนำไปปฏิบัติ โดยจะทำไปพร้อมกันระหว่างการออกระเบียบ ครม.เพื่อตั้งเป็นเบื้องต้น และดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะในมาตรา 31 เพื่อปรับปรุงการใช้อำนาจใหม่ เพราะเดิมมาตรา 31 ใช้ได้อำนาจได้เฉพาะเมื่อเกิดภัยขึ้นแล้ว ซึ่งยังมีขั้นตอนอีกหลายส่วน ระหว่างนี้ให้มีองค์กรผ่านการใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ไปพลางก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น