xs
xsm
sm
md
lg

ถกร่วม “เจบีซี” ทางสะดวก เขมรแฮปปี้บรรลุข้อตกลงทั้ง 3 ข้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้อนรับการประชุมร่วมวันแรก นายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ กอดกับ นายวา กิมฮง
ประชุมร่วม “เจบีซี” ไทย-เขมร รุกคืบตามสเต็ปเห็นพ้องลงนาม จัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เปิดด่านถาวรสะตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน และสำรวจปักเขตแดนระยะทาง 798 กม. พร้อมประเดิมพื้นที่แรกหาหลักเขตที่ 1-23 ในพื้นที่ จ.สุรินทร์

วันนี้ (14 ก.พ.) การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี ครั้งที่ 5 ในวันที่ 2 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเริ่มเมื่อเวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมรอยัลออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร โดยฝ่ายไทยมีนายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนกัมพูชามีนายวาร์ คิม ฮง รัฐมนตรีอาวุโสผู้รับผิดชอบกิจการชายแดน เป็นหัวหน้าคณะ โดยการประชุมเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อเวลา 14.00 น. โดยผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามบันทึกผลการประชุมร่วมกัน

ภายหลังจากการลงนามร่วมกัน ผู้แทนของทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมเจบีซี ครั้งที่ 5 โดยประธานเจบีซีฝ่ายไทย กล่าวถึงผลการประชุมเจบีซี ตลอด 2 วันที่ผ่านมาว่า มีการหารืออย่างใกล้ชิดและบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในทางสร้างสรรค์ร่วมกัน และทั้ง 2 ฝ่ายได้ข้อตกลงร่วมกัน คือ การเสนอให้มีการเปิดด่านถาวรแห่งใหม่บริเวณด่านสะตึงบท-บ้านหนองเอี่ยนระหว่าง จ.สระแก้ว และ จ.บันเตียเมียนเจย ของกัมพูชา การจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคลงพื้นที่สำรวจภูมิประเทศ ในวันที่ 5 มีนาคมนี้ เพื่อรองรับการเปิดด่านต่อไป ขณะเดียวกันยังได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงการคัดเลือกคุณสมบัติบริษัทที่จะมาจัดทำแผนที่ดังกล่าวร่วมกันด้วย

นอกจากนี้ยังตกลงว่าการสำรวจหลักเขตแดนจะเริ่มตั้งแต่สิ่งที่ง่ายไปหายาก ส่วนกรณีปราสาทพระวิหาร ไม่ได้หยิบยกมาหารือในครั้งนี้เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลโลก

ด้านรัฐมนตรีอาวุโส ผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนกัมพูชา กล่าวถึงผลการประชุมครั้งนี้ว่า บรรยากาศเต็มไปด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในการจัดทำเรื่องเขตแดน และถือว่าประสบความสำเร็จเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา อย่างไรก็ตาม การประชุมเจบีซีครั้งต่อไป ประเทศกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพในช่วงกลางปีนี้

ขณะที่การประชุมวันแรกมีสาระการประชุมที่สำคัญ คือ การหารือสานต่อผลการประชุมที่โบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนเมษายน 2553 ให้เกิดความคืบหน้า โดยได้มีการหยิบยกบางเรื่อง โดยเฉพาะการพิจารณาส่งเจ้าหน้าที่สำรวจเขตแดน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดจุดผ่านแดน บริเวณสะตรึงบท จ.บันเตียเมียนเจย-บ้านหนองเอี่ยน ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ ซึ่งบริเวณดังกล่าว เป็นลำคลองอาจจะต้องก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ หากทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมก็สามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจเขตแดนไว้ก่อน แล้วจึงจะดำเนินการในขั้นต่อไป

สำหรับการดำเนินการต่อในเรื่องเตรียมขั้นตอนและคัดเลือกบริษัทถ่ายทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งมีบริษัทที่อยู่ในสเปคที่วางไว้ คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ แต่ก่อนจะสรุปการคัดเลือกบริษัท จะต้องตกลงเรื่อง TOR ของการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ที่เกี่ยวข้องกับ technical instruction ให้ได้ข้อสรุปเสียก่อน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณาเรื่องการดำเนินการสำรวจและปักปันเขตแดนตลอดชายแดนไทย-กัมพูชา มีระยะทาง 798 กม. ซึ่งได้ถูกแบ่งเป็นพื้นที่ 7 ตอน โดยขณะนี้มีการสำรวจหลักเขตแล้วจำนวน 48 หลัก และอีก 25 หลัก ที่ยังหาหลักหมุดไม่พบ เพราะอาจสูญหายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออาจถูกเคลื่อนย้าย จึงต้องดำเนินการสำรวจกันต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินงานใดๆ ได้ขึ้นอยู่กับบรรยากาศความสัมพันธ์ ซึ่งเดิมเจบีซีได้ตกลงกันจะให้มีการปักหลักในพื้นที่ ส่วนที่ 7 คือพื้นที่ใกล้บริเวณปราสาทพระวิหารให้เสร็จสิ้นเป็นพื้นที่แรก แต่ด้วยขณะนี้บริเวณดังกล่าวได้กลายเป็นดินแดนพิพาท และอยู่ในระหว่างที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก กำลังพิจารณาคดีอยู่ ทั้ง 2 ฝ่าย

จึงเห็นสมควรว่าไม่ควรจะไปแตะต้องพื้นที่ดังกล่าว เพราะเป็นพื้นที่ที่บอบช้ำและอ่อนไหวมาก จึงมีแนวคิดว่า สมควรให้ดำเนินการปักหลักในพื้นที่ 5 คือ หลักเขตที่ 1-23 ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ในสถานการณ์ขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น