“ยิ่งลักษณ์” ขน รมต.ลงเขื่อนสิริกิติ์ แล้ว ชาวอุตรดิตถ์แห่รับ ขณะที่ประชุม ครม. รับทราบ จ่ายเยียวยาน้ำท่วม งง กลุ่มเปราะบาง โผล่ 7 แสนราย รับเงินกว่า 1.4 พันล้านบาท เห็นชอบให้ขุดลอกคูคลองเพิ่มอีก 14 คลอง ตามมหาดไทยเสนอ รับทราบอุตฯ ชงเยียวยาโรงงาน ระบุ เริ่มกิจการแล้ว 328 แห่ง รับทราบสร้างเขื่อนกันน้ำท่วม 6 แห่ง ใช้งบกว่า 5 พันล้าน เร่งเสร็จปีนี้
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เมื่อเวลา 15.07 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ นายนิวัฒน์ ธำรงบุญทรงไพศาล รมต.สำนักนายกฯ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก จากกองบิน 46 จ.พิษณุโลก มาถึงเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ โดยมี นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พล.ต.ต.พิเชษฐ วัฒนลักษณ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนให้การต้อนรับ ทั้งนี้ ก่อนขึ้นเพื่อไปยังห้องประชุมรับฟังการบรรยายสรุปจากส่วนราชการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ได้แวะทักทายประชาชนที่มาร่วมต้อนรับ และรับมอบดอกไม้ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
ขณะที่ทำเนียบรัฐบาล นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ตามที่สำนักงบประมาณได้รายงานเรื่องการดำเนินงานและติดตามผลการดำเนินฟื้นฟูเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยสำนักงบได้พิจาณาเห็นว่าเพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุทกภัย ของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สามารถให้การเยียวยาผู้ประสบภัยโดยเร็วอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งสำนักงบได้ดำเนินการในสองประเด็น ดังนี้ หนึ่ง การดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทุกภัยค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือ ครม.ได้มีมติอนุมัติรวม 6 ครั้งและเมื่อรวมที่ ครม.มีมติอนุมัติเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 7 ก.พ.เป็นเงิน 2,373.0600 ล้านบาท รวมเป็นกรอบวงเงินทั้งสิ้น 141,825.8476 ล้านบาท เป็นวงเงินที่สำนักงบประมาณและสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสั่งคมแห่งชาติพิจารณาทบทวนแล้ว 124,113.8443 ล้านบาท
โดยสถานภาพตามที่ได้เสนอ ครม.เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ได้จัดสรรงบประมาณให้แล้ว 73,388.9992 ล้านบาท และในส่วนที่ยังไม่ได้จัดสรรแยกเป็นแผนงานโครงการที่มีความพร้อมจัดสรรเป็นเงิน 4,048.5020 ล้านบาท ซึ่งต้องขอรับการจัดสรรภายในหนึ่งสัปดาห์ และส่วนที่เหลือ 46,676.3431 ล้านบาท ต้องขอรับการจัดสรรภายในสองสัปดาห์โดยปัจจุบันมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมแล้วเป็นเงิน 6,900.4711 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่จัดสรรให้แล้วทั้งสิ้น 80,289.4703 ล้านบาท สำหรับในส่วนที่ส่วนราชการยังไม่ได้ขอจัดสรรเป็นส่วนที่จะต้องขอรับการจัดสรรภายใน 2สัปดาห์คือวันศุกร์ที่ 17 ก.พ.นี้
นายชลิตรัตน์ กล่าวว่า ส่วนการติดตามผลการดำเนินการฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยทางสำนักงบเน้นการรายงานในส่วนของการเยียวยาที่จะต้องถึงมือประสบภัยโดยเร็ว ดังนี้ กลุ่มประชาชนทั่วไป จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินครัวเรือนละ 5 พันบาท กรอบวงเงินจำนวน 14,554.59 ล้านบาท สำหรับผู้ประสบอุทกภัย 2,910,917 ครัวเรือนโดยสำนักงบประมาณได้จัดสรรให้ธนาคารออมสินแล้ว 2,635,110 ครัวเรือน เป็นเงิน 13,175.56 ล้านบาท จ่ายจริงถึงมือประชาชนแล้ว 1,461,006 ครัวเรือน
กลุ่มเกษตรกร เป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตรกรอบวงเงิน 18,657.19 ล้านบาท สำหรับประสบอุทกภัย 1,152,162 ราย โดยสำนักงบฯจัดสรรให้ ธ.ก.ส.แล้วเป็นเงิน 18,584.55 ล้านบาท สำหรับ 830,456 ราย ซึ่งธนาคารตรวจสอบและโอนให้สาขาแล้วจำนวน 18,526.00 ล้านบาท สำหรับ 817,477 ราย ธนาคารจ่ายถึงมือเกษตรกรแล้ว 673,890 ราย
กลุ่มแรงงาน ค่าจ้างสมทบให้ลูกจ้างตามโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างกรอบวงเงินจำนวน 1,818.00 ล้านบาท สำหรับผู้ประสบอุทกภัย 3 แสนราย สำนักงบฯจัดสรรให้ธนาคารออมสินแล้ว 1,803.14 ล้านบาท ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มคลองแรงงานตรวจสอบและแจ้งไปยังธนาคารออมสินแล้วจำนวน 33,340 รายวงเงิน 69.19 ล้านบาท ธนาคารออมสินจ่ายถึงมือเกษตรกรแล้ว 19,019 ราย
สุดท้าย กลุ่มคนเปราะบาง เป็นการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เป็นกลุ่มคนเปราะบางกรอบวงเงินจำนวน 1,400.00 ล้านบาท สำหรับกลุ่มคนเปราะบาง7แสนราย สำนักงบประมาณจัดสรรแล้งเป็นเงิน 1,400.00 ล้านบาท และจ่ายถึงมือประชาชนแล้ว 351,104 ราย
สำหรับในส่วนการดำเนินงานในลักษณะงบลงทุนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว จากข้อมูลที่สำนักงบประมาณรวบรวมได้ มีรายการที่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 9,571 รายการ มีรายการที่อยู่ระหว่างเตรียมการ 4,926 รายการ ประกวดราคาแล้ว 2,967 รายการ เซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้ว 1,678 รายการ สำหรับสาเหตุที่อยุ่ระหว่างการเตรียมการมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นรายการที่ส่วนราชการขอเพิ่มเติมและได้รับการจัดสรรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี จากหนังสือเวียนของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุฯ เมื่อวันที่ 6 ก.พ.55 กำหนดว่า หากไม่สามารถจัดหาจนได้พัสดุหรือสิ่งก่อสร้าง พร้อมใช้งานที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อใช้ในการป้องกันอุทกภัยภายในเดือนเมษายน 55 ได้ หน่วยงานก็ชอบที่จะดำเนินการจัดหาโดยวิธีพิเศษฯ ดังนั้น การก่อสร้างทั้งหมดน่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 55
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอครม.เพื่อขออนุมัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขุดลอกคูคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมจะมีการขุดลอกคูคลองระหว่างกทม.และ 9 กระทรวงโดยจะมีการขุดลอกคูคลอง 29 คลองหลักเพิ่มเติมอีก 14 คลองขยายระยะทางเพิ่มเติม 5 คลอง รวม 43 คลอง 48 รายการ ซึ่ง ครม.ได้รับทราบในวันนี้ กระทรวงทรัพย์ได้แจ้งให้ทราบว่าได้ดำเนินการตามแผนงานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่โดยจะปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณโดยรอบพุทมณฑลด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดนครปฐม และจังหวัดนนทบุรี พร้อมทั้งขุดลอกคูคลองบริเวณเขตทวีวัฒนาและพื้นที่ต่อเนื่องในจังหวัดนครปฐม และถึงแม่น้ำท่าจีนด้วย
ดังนั้น เพื่อให้การขุดลอกคลองตามที่ที่ได้กล่าวมานั้นเกิดความสัมฤทธิ์ผล และมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่และลดข้อพิพาทระหว่างประชาชนในบริเวณรอยต่อจังหวัดจึงเห็นควรปรับปรุงการมอบหมายหน่วยงานดำเนินการขุดลอกคลอง โดยมอบกระทรวงทรัพยากรรับผิดชอบดำเนินการขุดคลองในบริเวณเขตทวีวัฒนาจำนวน 6 คลอง ได้แก่ คลองซอย คลองขุนศรีบุรีรักษ์ คลองควาย คลองโค คลองบางคูเวียง และคลองบ้านไทร พร้อมมอบให้กระทรวงสาธารณะสุขดำเนินการขุดลอกคลองบางบอน และมอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการขุดลอกคลองบางน้ำจืด แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
นายชลิตรัตน์ กล่าวว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอ ครม.เกี่ยวกับการฟื้นฟูเยียวยานิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรมจำนวน 7 แห่ง ซึ่งมีความคืบหน้าดังนี้ ขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มประกอบกิจการแล้วจำนวน 328 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 39.57 ของโรงงานทั้งหมดจากทั้งหมด 838 แห่งโดยการดำเนินการฟื้นฟูโรงงานขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผู้ประสบอุทกภัยซึ่งตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมขณะนี้มีโรงงาน สถานประกอบการ อุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ได้เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 1,009 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 86.29 ของสถานประกอบการทั้งหมด
ส่วนการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมประกอบด้วย ศูนย์พักพิงอุตสาหกรรมซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 114 ราย จากเป้าหมาย 100 ราย ประกอบด้วยสถานประกอบการอุตสาหกรรม 65 รายและวิสาหกิจชุมชน 61 ราย และมีการใช้พื้นที่แล้ว 10,620 ตารางเมตร จากพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร คงเหลือพื้นที่ที่สามารรองรับสถานประกอบการได้อีก 3,980 ตารางเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการรองผู้ประกอบการที่กำลังติดสินใจว่าจะยังอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเดิม หรือว่าจะย้ายออกซึ่งเข้าใจว่าคงจะมีข้อสรุปในสิ้นไตรมาสแรก ว่า ผู้ประกอบการจะตัดสินใจอย่างไร โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานงาน ในเรื่องของโครงการคลีนิคอุตสาหกรรม ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น 857 รายสามารถช่วยเหลือประกอบการให้ดำเนินการฟื้นฟูเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 676 ราย โดยใช้งบประมาณกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วนโครงการบริหารด้านความปลอดภัยสิ่งแวดล้อมและกากอุตสาหกรรม กระทรวงอุตฯได้รับงบประมาณจำนวน 22 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งในและนอกนิคมโดยขณะนี้ได้เก็บข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งน่าจะสิ้นโครงการในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อที่จะได้สรุปผลด้านสิ่งแวดล้อมในที่ต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรม
นายชลิตรัตน์ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรมจากข้อมูลเมื่อวันที่สองกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนิคสอุตสาหกรรมบางประอินทร์น่าจะเป็นนิคมที่เริ่มโครงการก่อสร้างเขื่อนซึ่งมีความยาวโดยประมาณ 11 กม.ใชงบประมาณในการก่อสร้าง ประมาณ 728 ล้านบาท ซึ่งเริ่มไปเมื่อวันที่หนึ่ง กุมภาพันธ์และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 ก.ค.55 สวนอุตสาหกรรมบางกะดี่การก่อสร้างเขื่อนมีความประมาณ 8.5 กม.ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 272 ล้านบาท โดยมีแผนการก่อสร้างเริ่มวันที่ 14 ก.พ.55 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 กพ.55 สำหรับเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะการก่อสร้างเขื่อนมีความประมาณ 77.6 กม.ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 2,233 ล้านบาทโดยมีแผนก่อสร้างเริ่มวันที่ 1 ก.พ.55 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 30 ก.ย.55
นายชลิตรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคการก่อสร้างเขื่อนมีความโดยประมาณ 13 กม.ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 500 ล้านบาทโดยมีแผนการก่อสร้างเริ่มวันที่ 1 มี.ค.55 ถึง 31 สิงหาคม 55สำหรับสวนอุตสาหกรรมนวนครการก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 18 กม.ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 700 ล้านบาท โดยมีแผนการก่อสร้างเริ่มวันที่ 15 ก.พ.55 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 55 และนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครการก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 13 กม.ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 400 ล้านบาท โดยมีแผนการก่อสร้างเริ่มประมาณเดือนเมษายน และกำหนดเสร็จสิ้นวันที่ 31 สิงหาคม 55