xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบผลงาน ศปภ.ใช้งบเกือบ 5 พันล้าน แจก 9 แสนถุงยังชีพ รับโทรศัพท์ 1.66 ล้านสาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
“ยิ่งลักษณ์” สั่งกลางวง ครม. ทุกหน่วยงานลดขั้นตอนนำงบฯ ลงพื้นที่น้ำท่วมโดยเร็ว หลังผ่าน 1 สัปดาห์ยังอืด เหตุติดกฎระเบียบ ด้านที่ประชุมรับทราบผลดำเนินงาน ศปภ.ถลุงงบฯ เกือบ 5 พันล้าน แจกถุงยังชีพ 9 แสนถุง อพยพคน 8 แสนคน โอ่รับโทรศัพท์ 1.66 ล้านสาย แก้ปัญหาให้ได้ถึงร้อยละ 96

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 19 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกฯ ได้ปรารภในที่ประชุม ครม.เกี่ยวกับงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 2 หมื่นล้านบาท ที่ได้อนุมัติไปเมื่อการประชุม ครม.วันที่ 13 ธ.ค. ซึ่งนายกฯ ได้กำชับว่างบประมาณจะต้องลงพื้นที่ภายใน 3 วัน แต่หลังจากผ่านมา 1 สัปดาห์กลับพบว่างบประมาณกลับไม่ลงไป เพราะติดขัดเรื่องขั้นตอนของหน่วยงานราชการที่ต้องมีการจัดทำการขอจัดสรร นายกฯ จึงขอให้ภายในรัฐบาลและหน่วยงานราชการเองดูว่าติดขัดอะไรและแก้ไขให้ราบรื่น รวมทั้งสั่งให้สำนักงบประมาณไปดูในรายละเอียด โดยจะมอบหมายบุคคลใดก็ตาม แต่จะต้องจัดสรรโดยเร็วที่สุด ขั้นตอนต่างๆ ขอให้ลดน้อยลงไป รวมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปเตรียมจัดหาผู้รับเหมาด้านต่างๆ ในการซ่อมแซมไว้ให้พร้อมเพื่อความรวดเร็ว

นางฐิติมาแถลงต่อว่า จากเหตุพายุโซนร้อนวาชิถล่มที่ประเทศฟิลิปปินส์ นายกฯ จึงได้ให้กระทรวงการต่างประเทศกลับไปคิดว่าจะช่วยเหลือประเทศฟิลิปปินส์ในด้านใดได้บ้าง ซึ่งสิ่งใดสามารถช่วยได้ก็ขอให้ทำการประสานกันต่อไป เช่น ข้าวสาร ขณะเดียวกัน นายกฯ ก็ได้สั่งให้กรมชลประทาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ลงไปช่วยทางภาคใต้ด้วย ซึ่งนายกฯ ไม่อยากให้ปัญหาน้ำท่วมไปเกิดที่ภาคใต้อีก

นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ขยะที่มีจำนวนมาก โดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ.จึงแจ้งว่าขณะนี้การกำจัดแบ่งออกเป็น 2 โซน คือ โซน กทม.ที่ กทม.ดูแลรับผิดชอบ และโซนจังหวัด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบ แต่ได้ขอให้ทางกองทัพไทยเข้ามาช่วยเหลือ โดยรัฐบาลได้จ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงให้ รวมถึงให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอุตสาหกรรมบูรณาการเรื่องการกำจัดขยะ โดยเฉพาะกากอุตสาหกรรม ส่วนเรื่องกระสอบทรายนั้นหากกระทรวงใดต้องการก็ให้ไปจัดเก็บ และที่เหลือก็ให้บุคคลอื่น เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่ามันเป็นวัสดุสิ้นเปลืองไม่ใช่วัสดุภัณฑ์ สามารถทำได้ นายกฯ จึงได้ให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ

นางฐิติมากล่าวว่า สำหรับเรื่องการตกงานของแรงงาน นายกฯ ได้สั่งให้กระทรวงแรงงานไปจัดการสอนงาน การซ่อมแซมบ้านเพื่อให้ประชาชนที่ตกงานได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงการทาสี งานไม้ งานซ่อมแซม เพราะพบว่าค่าซ่อมแซมนั้นมีราคาแพงมาก เนื่องจากขาดแคลนคนงานซ่อมแซม จึงได้ให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ ดูแลรับผิดชอบ นอกจากนี้นายกฯ ยังได้เพิ่มเติมถึงเรื่องการรณรงค์หาซื้อเฟอร์นิเจอร์ราคาถูก โดยอยากจะให้จัดเป็นงานแสดงสินค้า มหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งดำเนินการกับบริษัทต่างๆ เพื่อขอลดราคา

รับทราบการดำเนินงาน ศปภ.

ด้าน น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลืออุทกภัย (ศปภ.) โดยทาง ศปภ.ได้รายงานผลการดำเนินงานประกอบด้วย เรื่องแรก ผลการบริหารจัดการน้ำ โดย ศปภ.ได้ดำเนินการประเมินสถานการณ์รายวันโดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศ ข้อมูลจากสถานีวัดระดับน้ำของหน่วยงานกรมชลประทาน กทม. และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) นอกจากนั้นยังมีการหามาตรการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำโดยผันน้ำไปทางทิศไหนตามความจำเป็นในสถานการณ์ ทั้งนี้ การผันน้ำฝั่งตะวันออก มีการให้ข้อมูลสถานการณ์รายวันทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 และสื่ออื่นๆ ด้วยและมีความพยายามไม่ปล่อยน้ำไปสู่แอ่ง หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง มากเกินไป เนื่องจากพื้นที่ไม่เหมาะสม จึงเลี่ยงน้ำไว้ในที่สูง คือจังหวัดฉะเชิงเทรามากที่สุด และระบายน้ำส่วนหนึ่งออกไปทางแม่น้ำบางประกง และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีปริมาณน้ำจำนวนมาก จึงทำให้ระบบบริหารจัดการทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม มาตรการเพิ่มเครื่องสูบ ประกอบกับการซ่อมแซมคันกั้นน้ำที่ชำรุด จึงทำให้สามารถลดระดับน้ำได้

น.ส.อนุตตมากล่าวว่า ส่วนผลการปฏิบัติการด้านการป้องกันน้ำท่วม ได้อำนวยการให้ กทม.ป้องกันน้ำท่วมชั้นในโดยใช้กระสอบทรายขนาดยักษ์ (บิ๊กแบ็ก) และบริหารจัดการประตูระบายน้ำต่างๆ ทำให้ปริมาณน้ำท่วมใน กทม.ชั้นในไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนั้นยังมีการรายงานความช่วยเหลือประชาชนโดยรายงานว่า การอพยพประชาชนได้อพยพโดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพไทย อำนวยการอพยพผู้ประสพภัย ตามแผนการเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ กทม.และจังหวัดปริมณฑลจำนวน 2 ครั้ง รวม 678 คน ทั้งนี้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ได้สนับสนุนการขนย้ายผู้ประสบอุทกภัย มายังพื้นที่ปลอดภัยเพื่อกลับไปยังภูมิลำเนาหรือเข้าพักอาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่ส่วนราชการ และองค์กรที่จัดไว้ให้ ซึ่งมียอดผู้อพยพถึง 8 แสนคน

ส่วนการอำนวยความสะดวกการเดินทางและขนส่ง ทางศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพไทย บริษัทขนส่งจำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำหรับการจัดตั้งโรงครัวก็จะมีโรงครัวที่ดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 125 แห่ง และโรงครัวรัฐบาล ที่ดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในพื้นที่ กทม.จำนวน 63 แห่ง

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ ติดตามความเดือดร้อนของประชาชนจากข้อมูลร้องทุกข์ ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. จำนวนสายโทร.เข้า 1,666,810 สาย ดำเนินการแก้ปัญหาได้สำเร็จ 1,600,416 สาย คิดเป็นร้อยละ 96 ด้านการผลิตและแจกน้ำดื่ม กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็เข้ามาช่วยเหลือ ผลิตน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคและบริโภคแจกจ่ายให้ประชาชนด้วย ส่วนการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดตั้งและควบคุมดูแล รวม 33 จังหวัด จำนวน 2,540 ศูนย์ และทางสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ยังมีการแจกจ่ายถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 903,661 ถุง

น.ส.อนุตตมากล่าวอีกว่า ส่วนผลการอนุมัติจัดสรรงบประมาณ ตามที่มติคณะรัฐมนตรี อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมวงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท โดยขณะนี้คณะกรรมการ ศปภ.ด้านงบประมาณพิจารณาจัดสรรให้ 13 กระทรวง 25 หน่วยงาน แบ่งเป็นด้านการป้องกัน ด้านการอพยพ ด้านการส่งกำลังบำรุง และด้านการผันน้ำ จำนวน 2,984 ล้านบาท มีเรื่องที่ต้องพิจารณาอีก จำนวน 1,622 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่จะอนุมัติได้จำนวน 393 ล้านบาท ทั้งนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่ส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารเพื่อขอสนับสนุนงบกลางอีกจำนวนหนึ่ง โดย ศปภ.จะได้รายงานความคืบหน้าอีกครั้ง

รับทราบผลงานแก้ไขอุทกภัยกกระทรวงเกษตรฯ

น.ส.อนุตตมาแถลงอีกว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ สรุปสถานการณ์อุทกภัยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. โดยในพื้นที่ 76 จังหวัดของประเทศไทย ยังคงมีพื้นที่ 7 จังหวัด ที่ยังประสบอุทกภัยอยู่ ประกอบด้วย จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครปฐม จ.ลพบุรี จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยผลกระทบทางด้านพืช เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,287,151 ราย ด้านประมง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 131,992 ราย และด้านปศุสัตว์ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 254,670 ราย ส่วนความช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรได้ให้ความช่วยเหลือไปนั้น ก็มีการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำทั้งสิ้น 1,252 เครื่อง ในพื้นที่ 42 จังหวัด และมีการผลิตและใช้น้ำหมัก พด.6 ในพื้นที่ 23 จังหวัด

ของบฯ ปี 55 เพิ่มเติม 7.8 หมื่นล้าน

นางฐิติมาแถลงเพิ่มเติมว่า ครม.ได้พิจารณาตามที่สำนักงบประมาณได้เสนอขอเพิ่มเติมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 78,683.5 ล้านบาท แบ่งเป็นยุทธศาสตร์หลายด้าน เช่น ยุทธศาสตร์การสร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุลสู่ชุมชน จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ 2 พันล้านบาท ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน 2 หมื่นล้านบาท ยุทธศาสตร์การศึกษาคุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคม 1.2 หมื่นล้านบาท ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม3.6 พันล้านบาท ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี การวิจัย นวัตกรรม 23 ล้านบาท ยุทธศาสตร์การบริหารการจัดกิจกรรมบ้านเมืองที่ดี 1.9 หมื่นล้านบาท ค่าดำเนินการภาครัฐ 5 พันล้านบาท เป็นต้น โดยมีรายการผูกพัน 6 รายการ รวมเงินทั้งสิ้น 2.9 พันล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 439 ล้านบาท และผูกพันงบประมาณปีต่อๆ ไป 2 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น