คงจะเป็นครั้งแรก ที่ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเวลายาวๆ พูดกับสังคมโดยตรง ถึงเหตุผลที่ คณะกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติ เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ห้ามจัดกิจกรรมที่มีลักษณะการเคลื่อนไหวชี้นำมวลชน ที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 ผ่านรายการ “ คม ชัด ลึก” ทางเนชั่นทีวี เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ตลอดระยะเวลา 40 กว่านาที อธิการบดีร่างเล็กกะทัดรัด ซึ่งเพิ่งดำรงตำแหน่งได้หนึ่งปีเศษ ชี้แจง ตอบคำถาม ที่ผู้ดำเนินรายการ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ยิงเข้าใส่ได้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา มีเหตุผลรับฟังได้ ทั้งความคิดเห็นทางวิชาการในเรื่อง มาตรา 112 ในฐานะนักกฎหมายมหาชน และคำตอบเรื่อง การห้ามเคลื่อนไหว ในเรื่องมาตรา 112 ในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำหรับความเห็นทางวิชาการ สมคิดไม่เห็นว่า ตัวบท เนื้อหาของมาตรา 112 จะมีปัญหาแต่อย่างไร สิ่งที่เขาคิดว่า เป็นปัญหาคือ การตีความ และการบังคับใช้กฎหมาย ของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะตำรวจ และอัยการ เมื่อใด ที่มี ผู้มาแจ้งความ กล่าวหาบุคคลอื่นว่าละเมิด มาตรา 112 ตำรวจมักจะรับแจ้งความไว้ก่อน โดยไม่วินิจฉัยพฤติกรรมที่ถูกกล่าวหาว่า เข้าข่ายผิด มาตรา 112 หรือไม่ เมือส่งสำนวนไปอัยการ อัยการก็มีแนวโน้มที่จะส่งฟ้องศาลไว้ก่อนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้าม เคลื่อนไหว มาตรา 112 ในธรรมศาสตร์ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการที่สมคิด เห็นต่างจาก นิติราษฎร์ ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามีความรับผิดชอบต่อ ความปลอดภัยของประชาคมธรรมศาสตร์ และมีความรับผิดชอบ ที่จะต้องไม่ให้ธรรมศาสตร์ เป็นชนวนที่กระตุ้น หรือขยายความขัดแย้ง ในสังคมไทย ในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต้องมองไปข้างหน้า มองให้ออกว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ อะไร จะส่งผลอย่างไรต่อไป ไม่ใช่รอให้เกิดขึ้นเสียก่อนจึงแก้ไข
สมคิดเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ในเรื่องมาตรา 112 ไม่ใช่ การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอีกแล้ว แต่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะมีการระดมคนจำนวนมาก มาร่วมเคลื่อนไหว มีกำหนดการที่จะจัดกิจกรรมกันทุกสัปดาห์ ก่อนหน้านี้ กลุ่มนิติราษฎร์ขอใช้หอประชุมใหญ่ จัด”อีเวนท์” มีการแสดง มีนิทรรศการ มีการออกร้านขายของ แต่เขาไม่อนุญาต ให้ใช้หอประชุมศรีบูรพา หรือ “ หอเล็ก” แทน
เขาไม่ต้องการให้ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ถูกใช้เป็นฐานที่มั่น ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เรื่อง มาตรา 112 เพราะเห็นว่า เรื่องนี้ กำลังสร้างความแตกแยกในสังคมมากขึ้นทุกที
การสั่งห้าม การเคลื่อนไหวทางการเมืองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และเป็นคนละเรื่องกับ เสรีภาพทางวิชาการ ธรรมศาสตร์ยังมีเสรีภาพทุกตารางนิ้วเหมือนเดิม ในขณะที่อธิการบดี มีความรับผิดชอบ ที่จะต้องดูแลความปลอดภัย และไม่ให้ใครใช้มหาวิทยาลัย บังหน้า เพื่อขยายผลทางการเมือง
สมัย ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มีคำสั่งห้ามใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ชุมนุมต่อต้าน การกลับมาของจอมพอล ถนอม กิตติขจร และขอให้องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุติการชุมนุมเสีย เพราะเกรงว่า สถานการณ์จะบานปลาย แต่ผู้นำนักศึกษาไม่เชื่อ วันที่ 5 ตุลาคม 2519 ดร.ป๋วย มีคำสั่งปิด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คืนวันนั้น ต่อเนื่องเช้าวันรุ่งขึ้น การสังหารหมู่ก็เกิดขึ้นที่ท่าพระจันทร์
คนเป็นอธิการบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีหน้าที่ ความรับผิดชอบ ที่มากกว่า อาจารย์ธรรมดา อย่าง เกษียร เตชะพีระ หรือ ข้าราชการบำนาญอย่างชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เอาแต่ท่องคำว่า “ปรีดี- ป๋วย -เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ - เปิดพื้นที่ - ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” บังหน้า เจตนาที่แท้จริง
คนเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุกคน ล้วนแต่ต้องเผชิญกับเสียงคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ของประชาคมธรรมศาสตร์ และเผชิญกับความกดดันจากการเมืองภายนอก ทุกคนเคยถูกนักศึกษาโจมตี เผาหุ่น ประท้วง เดินขบวนขับไล่ ในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ยุค ดร.ป๋วย ,อาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ , ประภาศน์ อวยชัย , นงเยาว์ ชัยเสรี , มาจนถึงยุคนริศ ชัยสูตร สุรพล นิติไกรพจน์ และ สมคิด เลิศไพฑูรย์ แต่คนเหล่านี้ ก็ยืนยันในการตัดสินใจของตน และปฏิบัติหน้าที่อยู่จนครบวาระ
มีเพียงชาญวิทย์ เกษตรศิริ คนเดียวเท่านั้น ที่เป็นอธิการบดี เพียง 9 เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน 2537- มีนาคม 2538 แล้วก็ขอลาออก จากตำแหน่ง ทั้งๆที่ในช่วงนั้น ทั้งการเมืองภายอก และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่มีเหตุการณ์ หรือความขัดแย้งใดๆ ที่จะเป็นแรงกดดันต่อเขา ดังเช่นทิ่อธิการบดี คนอื่นๆเผชิญมา
หลังจากการลาออกในครั้งนั้น มีโอกาสเมื่อใด ชาญวิทย์เป็นต้องโจมตีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาคม ธรรมศาสตร์ตกอยู่ภายใต้การยึดกุมขอ งกลุ่มอำนาจนิยม ที่สืบทอดอำนาจต่อเนื่องกันมา
ชาญวิทย์มักจะอ้างถึง อุดมการณ์คณะราษฎร์ ปรัชญาในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรีดี พยมยงค์ และป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในการคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับ การตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัย หลังจากที่เขาพ้นจากตำแหน่ง ตราบจนกระทั่งเกษียณ พ้นจากราชการมาหากินกับโตโยต้า จนถึงปัจจุบัน
เมื่อผสมกับ ทัศนคติที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตรย์ ที่เขาไม่เคยปิดบัง เมื่ออยู่ท่ามกลางมิตรสหาย และสาวกลัทธิอุษาคเนย์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ในการต่อต้าน สมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่ตัดสินใจห้าม การเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 ในธรรมศาสตร์
คนหนึ่งอยู่กับโลกใบเก่า ความหลังฝังใจ อีกคนหนึ่ง อยู่กับโลกปัจจุบัน มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวม