xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” จวกขายหุ้น ปตท.สุดเจ้าเล่ห์ “อลงกรณ์” แฉ “แม้ว” นายหน้าคุยสัมปทานเลบานอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะทำงานประสานงานองค์กรเอกชนและเครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนาสาธารณะ เปิดหู เปิดตา พลังงานไทย (ขายหุ้น ปตท.คนไทยได้หรือเสีย) โดย น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ ประธานคณะทำงานประสานงานองค์กรเอกชนและเครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์ ส.ว.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา ดร.มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์
ประชาธิปัตย์ เพิ่งตื่น! จัดเสวนาขายหุ้น ปตท.“มนูญ” รับหากแปรรูป ทำคำนึงกำไรมากขึ้น ส.ว.กทม.จวกรัฐระบุโยกหนี้แค่ข้ออ้าง สับพวกจ่อขายหุ้นสุดเจ้าเล่ห์ ซัด “ทักษิณ” ตัวดีไม่รักษาประโยชน์ชาติ “อลงกรณ์” ยันต้องเป็นของรัฐวิสาหกิจเพื่อดูแลปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน พรรคไม่ยอมให้โดนฮุบอีกแน่ แฉ “นช.แม้ว” ดอดเจรจาสัมปทานเลบานอนแทน บ. แนะสื่อจับตา


วันนี้ (5 ก.พ.) พรรคประชาธิปัตย์และ คณะทำงานประสานงานเครือข่ายภาคประชาชน ได้จัดสัมมนาหัวข้อ เปิดหูเปิดตาพลังงานไทย “ขายหุ้น ปตท.คนไทยได้หรือเสีย” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รมว.พลังงานเงา พรรคประชาธิปัตย์ นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน โดยมี น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายมนูญ กล่าวถึงสาเหตุที่รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการขายหุ้น ปตท.ว่า เป็นการโอนหนี้ให้กองทุนวายุภักษ์ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ เท่ากับโอน ปตท.จากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา ทำให้รัฐบาลยังสามารถกำกับดูแล ปตท.ได้เหมือนเดิม ทั้งนี้ เห็นว่า ทุกรัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาการจัดทำงบประมาณ เพราะงบรายจ่ายประจำสูงถึงกว่า 80% มีงบลงทุนเพียง 10 กว่า% เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถพัฒนาประเทศได้ จึงต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นเป็นภาระในการชำระหนี้ในการตั้งงบประมาณ ซึ่งจะต้องไม่เกิน 15% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่เช่นนั้นจะเสียวินัยการคลัง ดังนั้น ถ้าตัวเลขหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณอยู่ที่ 12% ตามที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ระบุ ก็เป็นตัวเลขที่อันตราย แต่เรื่องนี้ก็ยังถกเถียงกันอยู่ เพราะ นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ระบุว่า อยู่ที่ 9% ขณะที่การตั้งงบชำระหนี้ของรัฐบาลในงบประมาณรายจ่ายปี 2555 อยู่ที่ 1% เท่านั้น ทำให้หนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถใช้หนี้เงินต้นในระยะยาวได้ จึงทำให้รัฐบาลคิดที่จะลดหนี้สาธารณะลง ทำให้ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ.ออกมาโยนหินถามทางถึงการโอนหุ้นให้กองทุนวายุภักษ์เพื่อให้การบินไทย และ ปตท.พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ยังคงอำนาจในการดูแลสองหน่วยงานนี้ได้ต่อไปด้วยการขายให้กับกองทุนวายุภักษ์ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นเกือบ 70%

อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงว่า กองทุนวายุภักษ์กำลังจะหมดอายุในปี 2556 หากมีการเปลี่ยนสถานะจากกองทุนปิด เป็นกองทุนเปิด จะทำให้เอกชนครอบครองหุ้น ปตท.ผ่านการซื้อหุ้นจากกองทุนวายุภักษ์ได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีหลักเกณฑ์ให้สังคมมั่นใจว่ากระทรวงการคลัง จะถือหุ้นในกองทุนวายุภักษ์ 70% เหมือนเดิม เพื่อคงสิทธิ์ในการกำกับดูแลสองหน่วยงานนี้ต่อไป

สำหรับผลกระทบในแง่การบริหารงานของ ปตท.นั้น นายมนูญ คิดว่า จะทำให้การบริหารงานของ ปตท.มีความคล่องตัวมากขึ้น สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ลงทุนได้เพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องขอความเห็นชอบเรื่องงบลงทุนจาก ครม.แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ การที่รัฐบาลกำกับดูแล ปตท.จะทำได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งตนยังเห็นวาไม่มีปัญหา โดยเปรียบเทียบกับกรณีบางจากปิโตรเลียมที่มีการแปรรูปให้ ปตท.มาถือหุ้นแทน กระทรวงการคลัง ก็ไม่มีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการ แต่ถ้ามีการแปรรูป ปตท.เป็นเอกชนเต็มตัวก็จะคำนึงถึงกำไรมากขึ้น ทำให้การดูแลเพื่อช่วยเหลือประชาชนทำได้น้อยลง และเข้าใจว่า ประชาชนไม่มีความไว้วางใจนักการเมือง แต่ก็ยังเห็นความจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหาหนี้สาธารณะด้วย โดยเห็นว่าหนี้ของ ปตท.และการบินไทยไม่ควรรวมอยู่ในหนี้สาธารณะ

ขณะที่ น.ส.รสนา มองว่า หากรัฐบาลทำเพื่อลดหนี้สาธารณะตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ก็คิดว่า ในความเป็นจริงไม่ได้ลดมากนัก เพราะหนี้ของ ปตท.ไม่ได้เป็นเอ็นพีแอล แต่เป็นหนี้ดีเพราะธุรกิจมีกำไร การที่รัฐบาลจะโยกหนี้นั้นจึงเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น โดยขณะนี้ประเทศมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 42% ของจีดีพี โดยเพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60% การที่รัฐบาลคิดโยกหนี้เพื่อกู้เพิ่ม โดยไม่มีคำตอบว่าจะหารายได้จากไหนมาจ่ายหนี้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศตามมา ในปี 2554 จ่ายหนี้หมื่นล้านบาทเท่านั้นที่เป็นเงินต้น ส่วนที่เหลือกว่าแสนล้านเป็นดอกเบี้ย หากยังกู้หนี้เพิ่มก็จะมีความเสี่ยงในการชำระหนี้เงินต้นตามมา จึงต้องคิดให้รอบคอบโดยเฉพาะเมื่อมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงซึ่งถือว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของครอบครัว อย่าฟังผู้ชายมากเกินไป เพราะเป็นประเภทใช้เงินอย่างเดียวแต่หาเงินไม่เป็น

น.ส.รสนา กล่าวด้วยว่า คนที่คิดขายหุ้นให้กองทุนวายุภักษ์เป็นคนเจ้าเล่ห์แสนกล พร้อมกับยกกรณีแปรรูป ปตท.ใน ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาลที่เคยอ้างว่าจะให้รัฐถือหุ้น 75 % แต่ปัจจุบันรัฐถือหุ้นเพียง 52 % เท่านั้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเคยระบุว่าการแปรรูปคือรูปแบบหนึ่งของการคอรัปชั่นด้วยการแปรทรัพย์สินประเทศไปเป็นของเอกชน

“และที่ต้องบอกว่า ทั้งโง่ บ้า และโกง คือ มีการเอาท่อก๊าซซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของชาติไปรวมกับทรัพย์สินของ ปตท.โดยไม่มีการแยกออกมาทั้งที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนลงทุนของ ปตท.ว่าจะต้องมีการแยกท่อก๊าซออกมาภายใน 1 ปี แต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้นำ ปตท.ไปแปรรูปกลับไม่มีการดำเนินการรักษาผลประโยชน์ชาติในส่วนนี้ นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ปฏิบัติตามสัญญาช่วงหาเสียงที่จะยกเลิกกฎหมายที่ถูกเรียกว่ากฎหมายขายชาติ 13 ฉบับ แต่กลับใช้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวมาแปรรูปรัฐวิสาหกิจชั้นดีของไทย โดยการขายหุ้น ปตท.ในขณะนั้นหมดเกลี้ยงภายใน 1 นาที 17 วินาที ทำให้ถูกมองว่านักการเมืองคือผู้ถือหุ้น ปตท.ตัวจริง โดยราคาหุ้น ปตท.จากที่เริ่มต้นในราคา 35 บาท ปัจจุบันราคาหุ้นสูงถึงกว่า 300 บาท และกำไรสะสมของ ปตท.ในปี 2553 สูงถึงกว่า 8 แสนล้านบาท จึงสมควรให้ ปตท.คืนกำไรให้ประชาชนด้วย” น.ส.รสนา กล่าว

ด้าน นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การแปรรูปแบบ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ ขายสมบัติชาติถูกๆ กระบวนการแปรรูปไม่โปร่งใส เหมือนขายที่สุขุมวิท เท่าที่ดินบางบัวทอง เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย มีหุ้นอุปการคุณ 25 ล้านหุ้น โดยเป็นรายชื่อกลุ่มการเมืองในสังกัด พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งสิ้น จึงเกรงว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เพราะการปรับ ครม.มีการนำชินโมเดลมาบริหารประเทศ ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นแค่หุ่นเชิด จึงรู้สึกสงสารประเทศ เพราะผู้บริหารตัวจริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ประชาชนต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน เพื่อให้รัฐบาลก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ได้ไม่ให้มีการทุจริตเชิงนโยบายสนองผลประโยชน์ พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดขึ้น ทั้งนี้ จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจนว่า จะคงความเป็นรัฐวิสาหกิจของ ปตท.เอาไว้ เพื่อดูแลปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต เป็นกลไกของรัฐในการดูแลราคาน้ำมัน แก๊ส ที่โยงถึงราคาไฟฟ้าไม่ให้เป็นภาระประชาชนมากจนเกินไป โดยเฉพาะเรื่องก๊าซ ซึ่ง ปตท.ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงจำเป็นต้องคงสถานะรัฐวิสาหกิจเอาไว้ ถ้ารัฐบาลดำเนินการแปรรูปให้เป็นของเอกชน พรรคประชาธิปัตย์จะคัดค้านถึงที่สุดทั้งในและนอกสภา โดยยืนยันว่า ประเทศไทยควรมีบริษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

“เรายอมไม่ได้ที่จะเอาสมบัติชาติไปเป็นของเอกชน เจ็บแล้วต้องจำคนไทยจะยอมให้มีการฮุบ ปตท.เหมือนที่เคยเกิดในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ อีกไม่ได้ โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การทุจริตเชิงนโยบายซึ่งสะท้อนจากพฤติกรรมของรัฐบาลตั้งแต่การปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ ส่งผลให้ราคาก๊าซที่ ปตท.ผูกขาดอยู่พุ่งสูงขึ้นทันที โดยในช่วงที่ผมเป็นฝ่ายค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เคยคุยกับผมว่าจะทำธุรกิจด้านพลังงาน ผมมั่นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังหาประโยชน์จากแผนลงทุนของ ปตท.ที่กำหนดไว้ถึง 3.5 แสนล้านบาท ผ่านการกำกับดูแลของรัฐบาล โดยในวงเงินจำนวนดังกล่าว 1 ใน 3 เป็นการลงทุนด้านก๊าซ ซึ่งเชื่อมโยงถึงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา บริเวณเกาะกงด้วย เพราะมีการระบุว่าพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวเป็นแหล่งพลังงานที่มีมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเดินสายเจรจาสัมปทานพลังงานที่เลบานอนแทน ปตท.อีกด้วย เรื่องเหล่านี้ผมไม่อยากให้สื่อมวลชนมองข้าม แล้วไปเสนอแต่ข่าวยาเสพติด เพราะถ้าเผลอเพียงนิดเดียวการฮุบ ปตท.ก็อาจเกิดขึ้นทันที” นายอลงกรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น