xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองรุมทึ้งปตท.คนไทยรับกรรม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ทีดีอาร์ไอซัด "นักการเมือง-ขรก.-อัยการ" รุมทึ้ง ปตท. โดยมีรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลปล่อยให้ผูกขาดธุรกิจพลังงาน เตือนเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ คนไทยถูกมัดมือชกจ่ายน้ำมันแพง กรุงเทพโพลเผยผลงานรัฐบาลด้านพลังงานยอดแย่ ปชป.ชี้ขายหุ้น ปตท.เท่ากับขายสมบัติชาติให้นายทุน

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงกิจการของ บมจ.ปตท. (PTT) ว่า การผูกขาดโดยเสรีของ ปตท.ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในยุคที่ราคาน้ำมันแพง การผูกขาดเป็นอุปสรรคในการหาแหล่งพลังงานประหยัดทดแทน ที่สำคัญทั้งรัฐบาลนอกจากไม่แก้ไข แล้วเข้าไปสนับสนุน มีส่วนได้เสียกับ ปตท. ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าหรืออยากที่จะสลายขุมทรัพย์ของ ปตท. เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ

"การผูกขาดของ ปตท.จะเป็นระเบิดเวลา เพราะความไม่พอใจนั้นยิ่งนับวันยิ่งแพร่หลายในกลุ่มประชาชนในวงกว้างมากขึ้นดังที่สะท้อนจาก blog ต่างๆ หรือ comment ในบทความในสื่อที่เกี่ยวกับ ปตท. ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ฉบับใดๆ เป็นมุมมองในด้านลบเกือบทั้งหมด ส่งผลให้รัฐบาลมีท่าทีในการขายหุ้น ปตท.ให้เหลือ 49% อาจจะต้องหยุดไว้ก่อน"

นางเดือนเด่นยังกล่าวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในฐานะผู้ซื้อก๊าซรายใหญ่ ไม่แยแสต่อราคาค่าก๊าซเพราะต้นทุนสามารถผ่านต่อไปยังค่าไฟฟ้าให้ผู้บริโภครับภาระ หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแทนที่สลายอำนาจผูกขาดของ ปตท. เช่น โดยการออก กฎ กติกาเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถเชื่อมต่อและเช่าใช้โครงข่ายท่อก๊าซที่ ปตท. ผูกขาด ก็ไม่ดำเนินการแต่อย่างใด

ทั้งนี้ แนวนโยบายด้านพลังงานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันกลับสะท้อนว่ารัฐอยู่ข้างผู้ประกอบการซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็น (1) การงุบงิบโอนโครงข่ายท่อก๊าซที่ผูกขาดให้แก่ บมจ. ปตท. (รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทุกประการที่ ปตท. เคยได้รับ) ในช่วงที่มีการนำ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี พ.ศ. 2544 (2) การขึ้นราคาก๊าซ LPG เพียงกิโลกรัมละ 1 บาทสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ จัดเก็บเพิ่มขึ้นถึง 12 บาท และ (3) การเปิดทางให้ ปตท. เข้าเทกโอเวอร์ธุรกิจกลั่นน้ำมันหลายแห่งจนกระทั่ง ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทกลั่นน้ำมัน 5 แห่งใน 6 แห่ง (เหลือเพียง เอสโซ่ แห่งเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ถูกเทคโอเวอร์) ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทในเครือผูกขาดธุรกิจการกลั่นน้ำมันโดยมีส่วนแบ่งตลาดการกลั่นน้ำมันสูงถึงร้อยละ 85

"การผูกขาดธุรกิจกลั่นน้ำมันส่งผลให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจต่อเนื่องคือ ธุรกิจปั๊มน้ำมันด้วย ทุกวันนี้ จะไม่พบเจอปั๊มน้ำมันอิสระเลย ที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพที่ร่อแร่เพราะไม่มีโรงกลั่นน้ำมันของตนเอง ต่างกับแต่ก่อนที่เราจะเห็นปั๊มน้ำมันที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เชลล์ Jet คาลเท็กซ์ หรือ เอสโซ่" นางเดือนเด้นกล่าวและว่า การที่รัฐบาลเลือกที่จะเข้าข้าง ปตท. เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ เพราะ ปตท.มีกำไรมหาศาล นอกจากนักการเมืองแล้วจึงมีข้าราชการกระทรวง สภาพัฒน์และสำนักงานอัยการ เข้าไปเป็นกรรมใน ปตท.โดยแทบจะไม่มีมืออาชีพทางด้านพลังงาน กฎหมายพลังงาน หรือ ธุรกิจพลังงานที่เข้ามาบริหารจัดการเลย

*โพลเผยผลงานด้านพลังงานยอดแย่

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) เปิดเผย ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ จากองค์กรชั้นนำ 32 แห่ง เรื่อง "5 เดือนรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ กับนโยบายพลังงาน" พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 66.7 เห็นว่า ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของไทยในปัจจุบัน ยังคงเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (oligopoly) แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 22.2 เชื่อว่า เป็นตลาดผูกขาด (monopoly) นักเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 44.4 เห็นว่า ระบบการปรับราคาขายปลีกฯ ในปัจจุบันที่มีต่อผู้บริโภค ไม่เป็นธรรม เนื่องจาก ผู้บริโภค ไม่ทราบที่มาที่ไปอย่างชัดเจนในการปรับขึ้นราคาแต่ละครั้ง ทั้งนี้สังเกตเห็นว่าช่วงที่ราคาน้ำมันปรับขึ้น ก็จะขึ้นเร็ว แต่หากปรับราคาลง ก็จะปรับช้า หรือ ปรับขึ้นครั้งละ 60 สตางค์ต่อลิตร แต่ปรับลงแค่ 50 สตางค์ต่อลิตร ทำให้สามารถสรุปได้ว่า การบิดเบือนราคายังคงมีอยู่ส่วนการปรับขึ้น ราคาก๊าซ NGV ให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนที่แท้จริงนั้น นักเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 66.7 เห็นด้วย ร้อยละ 41.7 เชื่อว่า นโยบายการปรับราคาก๊าซ NGV ของกระทรวงพลังงานดังกล่าว มุ่งสนองเป้าหมาย เพื่อภาคธุรกิจเป็นหลัก รองลงมาร้อยละ 33.3 เชื่อว่า มุ่งให้เกิดความเป็นธรรมทั้งภาคธุรกิจกับผู้บริโภค

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ ได้มีการประเมินผลการดำเนินนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 62.5 เห็นว่า มีผลงานอยู่ในระดับแย่ถึงแย่มาก มีเพียงร้อยละ 13.9 เท่านั้น ที่เห็นว่ามีผลงานอยู่ในระดับดี และนักเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 80.6 เชื่อว่า มีโอกาสมากที่การปรับราคาพลังงาน (น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซ NGV และ LPG) จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อระลอกใหม่)

***ปชป.ซัดขายสมบัติชาติให้นายทุน

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี โฆษก ครม.เงา แถลงว่า ที่ประชุมครม.เงาได้มีการพิจารณากรณีการแปรรูป ปตท. ที่รัฐบาลโอนหุ้นจากกระทรวงการคลังไปให้กองทุนวายุภักษ์เพื่อเปลี่ยนสถานะจากการเป็นรัฐวิสาหกิจของ ปตท. โดยที่ประชุมมองว่าเป็นการขยับให้รัฐบาลสามารถไปก่อหนี้เพิ่มเติมได้เพิ่ม จะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเฉพาะตัวเลขเท่านั้น โดยครม.เงาให้ไปศึกษาว่าในช่วง 5-6 เดือนที่จะเกิดขึ้นตัวเลขหนี้สาธารณะที่แท้จริงจะเป็นจำนวนเท่าไร หลังจากมีการตกแต่งทำบัญชี เพื่อกู้เพิ่มจึงต้องติดตามดูว่าการปรับให้กองทุนวายุพักเข้าไปใครมีส่วนได้ส่วนเสียในครั้งนี้

“แค่เริ่มต้นก็เสียวแล้วมีการล้วงมือเข้าไปในกระเป๋าแบงก์ชาติ ตอนนี้กำลังเอาสมบัติชาติไปขายจึงต้องจับตาดูเป็นพิเศษว่าที่อ้างว่าต้องการขยับเพื่อกู้หนี้ได้เพิ่มเป็นการเอาสมบัติชาติไปขายหรือไม่” นายอรรถวิชช์กล่าว

นายอรรถวิชช์กล่าวว่าการที่รัฐบาลโอนหุ้นร้อยละ 2 ให้กองทุนวายุภักษ์ไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ ปตท. เพราะบอร์ด ปตท.ก็ยังเหมือนเดิม จึงไม่ส่งผลต่อนโยบายด้านพลังงานเพียงแต่ขยับหนี้สาธารณะให้ลดลงเท่านั้น เพราะหนี้ที่ ปตท.ก่อทุกปีถูกนับรวมให้เป็นหนี้สาธารณะ ขณะนี้ ปตท.มีหนี้มากถึง 2.52 แสนล้านบาท จาก 4.3ล้านล้านบาท เมื่อปตท.แปรรูปไปแล้วจะทำให้หนี้สาธารณะลดฮวบ.

นายสรรเสริญ สะมะลาภา รมช.คลังเงา กล่าวว่า การพยายามลดหนี้สาธารณะเป็นเพียงข้ออ้างเพราะยังมีเพดานในการกู้อีกประมาณ 2 ล้านล้านบาท หากจะมีการลดหนี้สาธารณะเพื่อจะนำไปสู่การกู้ใหม่ก็ต้องขอดูแผนการกู้ว่าทำไมถึงกู้มากมาย และแม้จะไม่มีการโยกหนี้สาธารณะ ปตท.ก็ดูแลตัวเองได้อยู่แล้ว จึงน่าจะมีวาระซ่อนเร้น

“มีความพยามมาตั้งแต่แรก ที่จะฮุบ ปตท.จากมือประชาชนไปสู่นายทุน เพราะภาระของ ปตท.ไม่ได้มีอยู่แค่ดูแลด้านพลังงาน แต่มีการลงทุนอีกหลายอย่าง เช่น โครงการท่อก๊าซ 3 หมื่นล้านบาท หรือการลงทุนร่วมไทย-เขมร ในโครงการแหล่งก๊าซธรรมชาติ".
กำลังโหลดความคิดเห็น