xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทน ก.พลังงาน โบ้ยคนลอบนำก๊าซขายนอก ชนวนจำต้องปรับขึ้นราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผอ.สำนักนโยบายปิโตรเลียม รับมีการลักลอบนำ LPG ออกนอกประเทศ จนต้องปรับขึ้นราคา พ้อปีที่ผ่านมา รบ.บังคับให้ขายถูกทำให้ขาดทุนถึง 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญพลังงาน ซัดก๊าซแพงเพราะรัฐเดินนโยบายผิดพลาด หนุนคนใช้โดยไม่วางกรอบ ด้านที่ปรึกษา กมธ.พลังงานสภาฯ เสนอตั้งกรรมการร่วมยกร่างนโยบายพลังงานแก้วิกฤต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พาณิชย์ และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาเกี่ยวกับข้อเสนอเพื่อบรรเทาผลกระทบการปรับลอยตัวราคาแก๊สแอลพีจี ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ได้แก่ นายอำนาจ ยโสธร กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายสุชาลี สุมามาลย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายปิโตรเลียมและปิโตรเคมี กระทรวงพลังงาน เข้าชี้แจง

โดยนายอำนาจกล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจียอมรับว่าภาคอุตสาหกรรมแก้ว และเซรามิกได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยล่าสุดนั้นภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว พื้นที่ภาคเหนือ ได้ปิดตัวลงแล้วประมาณ 50 โรงงาน และมีแรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 5,000 คน อย่างไรก็ตามในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้ยื่นข้อเสนอให้กับกระทรวงพลังงานให้ยืดเวลาการขึ้นราคาดังกล่าวออกไป 3 ปี เพื่อให้เกิดการปรับตัว เพราะต้นทุนด้านพลังงานขณะนี้ทั้ง 2 อุตสาหกรรมดังกล่าวถือว่าสูงพอสมควร คือ ลิตรละ 18 บาท ซึ่งหากรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น ไตรมาสละ 3 บาทเท่ากับว่าจะเป็นการเพิ่มภาระ เป็นลิตรละ 30 บาทภายใน 1 ปี

“ทางหน่วยงานที่แก้ปัญหาได้บอกวิธีแก้ปัญหาด้วยการซื้อแก๊สบรรจุถึงไปใช้ทางภาคเหนือ ซึ่งผมมองว่าเป็นไปได้ยาก และเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นอุตสหกรรมแก้วและเซรามิคได้ขอให้รัฐบาลช่วยผ่อนเวลาการขึ้นราคาแก๊ส และทางสภาอุตสาหกรรมยืนยันว่าหากรัฐบาลอนุมัติ จะมีแค่ 2 อุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะเข้าข่ายได้รับการสนับสนุนไม่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมอื่น” นายอำนาจกล่าว

ด้าน นายสุชาลีชี้แจงถึงตัวเลขการใช้แก๊สในประเทศว่า ตั้งแต่ปี 2551 ถือว่าปริมาณการใช้ในภาคต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยยอดเปรียบเทียบระหว่างปี 2553 กับ ปี 2554 พบว่า ภาคครัวเรือน มีปริมาณการใช้แก๊ส เพิ่มเป็น 220 ตันต่อเดือน จากเดิม 203 ตันต่อเดือน ภาครถยนต์ มีปริมาณการใช้เพิ่มเป็น 76 ตันต่อเดือน จากเดิม 57 ภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณการใช้แก๊สเพิ่ม 62 ตันต่อเดือน จากเดิม 65 ตันต่อเดือน และภาคปิโตรเคมี มีปริมาณการใช้เพิ่ม 187 ตันต่อเดือนจากเดิมที่ใช้ 132 ตันต่อเดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมดังกล่าวกรรมาธิการได้พยายามซักถามถึงประเด็นการปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจี ที่ถือว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงของต้นทุน และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณการใช้ในภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ว่ามีการลักลอบนำแก๊สบรรจุถังออกต่างประเทศหรือไม่ ทั้งนี้นายสุชาลี กล่าวยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องการนำแก๊สบรรจุถังลักลอบออกนอกประเทศจริง ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องนำเข้าแก๊สเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และเพื่อให้แก๊สมีพอเพียงต่อการใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายสุชาลีกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวทางกรรมาธิการฯ ได้พากันหัวเราะกับคำตอบของนายสุชาลี จากนั้นนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.กล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นมา 4 ปีแล้ว แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ใช่หรือไม่ และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณต้องปรับราคาแก๊สแอลพีจีขึ้นด้วยใช่หรือไม่”

ซึ่งนายสุชาลีกล่าวว่า “ครับ แต่ผมไม่ได้บอกว่าการนำเข้าแก๊สเพื่อแก้ปัญหาการลักลอบนำแก๊สบรรจุถังออกนอกประเทศนะครับ แต่เมื่อเกิดปัญหาเราจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น สำหรับปัญหานี้ทางกระทรวงพลังงานได้มีคณะกรรมการติดตามแก้ไขอยู่แล้ว สำหรับเหตุที่ภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้ขึ้นนอกจากสาเหตุนี้แล้ว ยังพบว่าภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ได้นำแก๊สบรรจุถังไปใช้ในกิจการเพิ่มมากขึ้นเช่น โรงพยาบาล โรงแรม เป็นต้น”

อีกด้านได้มีการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.)พลังงาน ได้พิจารณาเรื่องต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่แท้จริง โดยได้เชิญตัวแทนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง โดยนายสุชาลี สุมามาลย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายปิโตเลียมและปิโตรเคมี กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติจาก 3 แหล่ง คือ จากอ่าวไทย ที่มีราคาปากหลุม 7.84 บาทต่อกิโลกรัม, จากประเทศพม่า ที่มีราคา 12.56 บาทต่อกิโลกรัม และ จากการนำเข้า (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาประทาณ 18 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ไทยมีราคาค่าก๊าซโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8.98 บาท อย่างไรก็ตามจากสถิติต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ สำรวจล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน พบว่า ต้นทุนปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9.90 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายดำเนินการต้นทุนราคาก๊าซ และภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้ต้นทุนก๊าซเอ็นจีวี อยู่ที่ 15.58 บาทต่อกิโลกรัม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุม กมธ.ได้เสนอความเห็นให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไปเจรจากับบริษัทต่างชาติที่ได้สัมปทานการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ให้ลดราคาก๊าซจากปากหลุมลงเพื่อลดราคาขายให้กับประชาชนให้ตำลง โดย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่าบริษัทต่างชาติได้รับสัมปทานขุดเจาะเพียงรายเดียวทำให้บริษัท ปตท.ไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องราคาก๊าซจากปากหลุมได้ ทำให้ราคาก๊าซมีราคาแพง อีกทั้งกรรมการปิโตเลียม ที่มีหน้าที่กำหนดราคาก๊าซ ณ ปากหลุม เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ควรจะพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม

“ผมขอเสนอให้รัฐสภาตั้งกรรมการร่วมกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำนโยบายด้านพลังงานของชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และวางมาตรการสำหรับอนาคต ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ตาม” พ.อ.อภิวันท์ กล่าว

ด้าน นายสัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ กรรมาธิการ กล่าวว่า ทำไม บริษัท ปตท.ไม่ใช้วิธีการเจรจากับบริษัทต่างชาติ เพื่อลดราคาก๊าซ เหมือนสมัยที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและดูเรื่องพลังงาน โดยสมัยนั้นสามารถช่วยประเทศได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่าการเจรจาต่อรองกับบริษัทที่ได้รับสัมปทานให้ลดราคาขายก๊าซ ณ ปากหลุม สามารถทำได้ แต่เราต้องยอมแลกกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น ยืดเวลาให้สัมปทาน เป็นต้น แต่ความเห็นส่วนตัวสำหรับราคาก๊าซที่มีราคาสูง เพราะความผิดพลาดของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยไม่จำกัดประเภทของรถ ทำให้ บริษัท ปตท.ต้องขยายสถานีบริการออกไปจากแนวท่อก๊าซ และต้องมีรถขนส่งก๊าซ ทำให้ต้นทุนของก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มสูงขึ้น และราคาขายนั้นแพงกว่าความเป็นจริง

ทั้งนี้ ตัวแทนของบริษัท ปตท.ชี้แจงด้วยว่า ที่ผ่านมาต้นทุนค่าก๊าซมีราคาสูง แต่รัฐบาลบอกให้ขายที่ 8.50 บาท ทำให้ที่ผ่านมา ปตท.ขาดทุนถึง 1.8 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น