xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” จ้อทีวี เข้มแผนป้องกันน้ำท่วมทุกจังหวัด หวั่นนักลงทุนย้ายฐานการผลิตหนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” ยันแผนบริหารจัดการน้ำเรียบร้อยแล้ว เร่งประสานแต่ละจังหวัดวางแผนป้องกันอุทกภัย ระบุหากน้ำมาเหมือนปีที่แล้วน่าจะรู้ว่าควรจัดการอย่างไร รับห่วงนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตหนี วอนทุกฝ่ายให้ความร่วมมือเพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ ย้ำจำเป็นต้องออก พ.ร.ก. 4 ฉบับเพื่อมาใช้ในการแก้ปัญหาน้ำ คุยไปอินเดีย ดาวอส เรียกความเชื่อมั่นได้มาก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (4 ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับมาจัดรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" อีกครั้งหลังหยุดไป 3 สัปดาห์ โดยมี นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เป็นพิธีกร โดยเริ่มสอบถามถึงการเดินทางไปอินเดีย และเมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อร่วมประชุม เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอร์รัม

นายกรัฐมนตรี เริ่มจากการกล่าวถึงการเดินทาง เยือนอินเดียว่า ถือเป็นโอกาสพิเศษมากที่อินเดียเชิญไปร่วมงานวันชาติ ในฐานะแขกเกียรติยศ ซึ่งในแต่ละปีจะเชิญแค่ชาติเดียว ซึ่งจากการเยือนในฐานะแขกเกียรติยศครั้งนี้ ได้มีการกระชับความสัมพันธ์ รวมถึงได้มีการหารือยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึง ทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน เพราะอินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมาก หากมีนักท่องเที่ยวมายังประเทศไทย ปีละประมาณ 20 ล้าน ตนก็จะทำให้ประเทศไทย มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ส่วนในการเข้าร่วม ประชุมเวิลด์อีโคโนมิค ฟอร์รัม ที่เมืองดาวอส นั้นก็ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ เรื่องการเมือง และการแก้ปัญหาน้ำท่วม รวมถึง แนวทางในการแก้ปัญหา เนื่องจาก สภาพเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาทั่วโลก โดยที่ประเทศต่างมองว่าจะต้องกลับมาสร้างความแข็งแกร่งในด้านเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงประเทศไทย อาจจะได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ เพราะหลายชาติมีการย้ายฐานการผลิต การค้ามาที่จีนและอินเดีย จะทำให้ ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อของทั้ง 2 ประเทศด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงแผนบริหารจัดการน้ำว่า ขณะนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้มีการสรุปแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากที่ประกาศใช้แผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำโดยใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท รัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างเร่งประสานงานกับแต่ละจังหวัด โดยติดตามว่างบประมาณที่ลงไปในแต่ละพื้นที่มีการใช้เพื่อป้องกันจริงหรือไม่ การระบายตั้งแต่ต้นน้ำเป็นอย่างไร รวมถึงเส้นทางการระบายในแต่ละพื้นที่ประสบปัญหาอย่างไรบ้าง

"เราต้องดูด้วยว่าในแต่ละพื้นที่ที่ควรจะมีการขุดเส้นทางระบายน้ำสามารถทำได้จริงหรือไม่ บางพื้นที่ที่ควรจะใช้ระบายน้ำอาจจะมีประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานแล้วจำนวนมาก หากเป็นอย่างนั้นเราก็จะหาเส้นทางอื่นไปขุดแทน เพราะต้องการให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขณะนี้ต้องการให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกังวลในเรื่องการลงทุนของชาวต่างชาติ หากชาวต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย โอกาสที่จะย้ายกลับมาลงทุนในไทยอีกจะเป็นไปได้ยาก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนแม่บทเสร็จแล้ว กำลังทำแผนรายจังหวัด เมื่อวาน(3 ก.พ.) ก็มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.)มีการกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ แต่บางเรื่องยังพูดไม่ได้ เช่น บริเวณลุ่มน้ำหรือพื้นที่ที่จะมีผลกระทบ ก็ยังไม่สามารถประกาศได้ ขณะนี้กำลังรวบรวมทุกพื้นที่ เมื่อก่อนบอกว่าดูน้ำในเขื่อน แต่ตอนนี้ต้องดูน้ำในทุ่ง น้ำฝน น้ำจะออกไปทางไหน ต้องดูทุกอย่าง ต้องไล่ในรายละเอียด ก่อนที่น้ำจะมา

"เราบังคับน้ำไม่ได้ แผนที่จะทำคงไม่สามารถครอบคลุมเรื่องป้องกันได้ทั้งหมด ได้เฉพาะในส่วนของเจ้าพระยา เขตเมืองเศรษฐกิจและนิคม ส่วนเงินอีก 3 แสนล้าน จะมีการเชื่อมอีก 17 ลุ่มน้ำที่เราจะเริ่มหมด ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำทีหลัง" นายกฯ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ในส่วนของเงิน 1.2 หมื่นล้านเราก็ใช้ได้บางส่วน ซึ่งได้เร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องไล่งานไปเพื่อให้เข้าใจ เราจะไปไล่หมด เพื่อ 3-4 วัตถุประสงค์ คือ เรื่องเงินที่ใช้ไปไปทำหรือเปล่า เขื่อนที่พังไปเสร็จเมื่อไร การเยียวยาประชาชน และการระบายน้ำ และดูต่อว่าตามเขื่อนคันกั้นน้ำ ไล่ตั้งแต่ทางเหนือเลย

สำหรับการประสานงานกับ กทม. ได้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย หารือกับทางกทม.แล้ว ก็มาแบ่งกัน และในส่วนของกองทัพด้วย ในส่วนของคลองเล็กๆ น้อยๆ 300กว่าคลองก็มอบหมายให้กองทัพดูส่วนเรื่องของขุดคลอง ส่วนลอกท่อก็มอบหมายให้กทม.ที่จะทำ

"ถ้าน้ำมาเหมือนปีที่แล้ว จะจัดการตามคูคลองเราน่าจะรู้ว่าจะจัดการอย่างไร เรารู้แล้วว่าจะจัดการอย่างไร ต้องไปไล่ในเรื่องของการเชื่อมต่อ เช่น ขุดคลองไปแล้วต้องแน่ใจว่าต่อเนื่องกัน มันไม่มีใครถูกใครผิด แต่มีหลายวิธี ต้องขึ้นกับมวลชนและสภาพความเป็นจริงด้วย ต้องลงไปในแต่ละพื้นที่เพื่อหารือว่าแผนแบบนี้คิดว่าจะไปได้แค่ไหน ไม่สามารถอยู่บนกระดาษแล้วไปประกาศได้เลย ก็ต้องเอาแผนแม่บทไปประสานลงในจังหวัด" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเร่งออก พ.ร.ก. 4 ฉบับพร้อมกันเพื่อจะได้เห็นว่ามีเงิน เงินที่ต้องใช้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาการบูรณาการน้ำอย่างยั่งยืน เงินที่มีก็ใช้ได้บางส่วนที้ต้องเร่งทำในปีหน้า ตามข้อกฎหมาย ใช้วงเงินเพิ่มได้อีกแสนกว่าล้านบาท ส่วนภาระหนี้ที่มีอยู่ที่เป็นการใช้จ่ายในประเทศ และหนี้ที่มีมานานแล้ว คือ หนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่รัฐบาลใช้ให้ เป็นเงินภาษีของประชาชน ใช้ชำระได้แค่ดอกเบี้ยกับเงินต้นเล็กน้อย ถ้าไม่ปรับปรุงตรงนี้ก็จะเป็นหนี้ที่ต้องใช้ต่อไปและไม่สามารถไปลดเงินต้นได้เลย

ส่วนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูมีปัญหา รัฐบาลแข็งแรงก็รับภาระนี้ให้แต่ตอนนี้รัฐบาลมีภาระในการใช้จ่าย ไม่สามารถรับภาระนี้ได้ ก็มี 2 แนวทาง คือ ต้องโอนภาระให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ ขึ้นภาษี ซึ่งก็ไม่อยากเลือกซ้ำเติมประชาชน ก็ต้องออกพ.ร.ก.ในการโอนภาระหนี้กลับไป ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นภาระหนี้ของประชาชนไม่มีที่สิ้นสุด เป้าหมายอยากให้ประเทศแข็งแรงจากพื้นฐานของประชาชน และประเทศแข็งแรง จึงเป็นที่มาของการออกพ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ

สุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ให้ความสำคัญกับการประชุมสภา และวุฒิสภาโดยยืนยันว่า ให้เกียรติ เคารพทุกฝ่าย เพียงแต่ได้ แบ่งงานให้ รองนายกฯ และรัฐมนตรี ดังนั้น การตอบบางครั้งก็ควรให้ผู้ปฏิบัติงาน ชี้แจงดีกว่า รวมถึงที่ผ่านมา มีภารกิจรัดตัวตลอดเวลา ก็ไปไปสภาเป็นประจำ เพียงแต่ทำงานอยู่ข้างนอก ไม่ได้เข้าไปนั่งในห้องประชุม
กำลังโหลดความคิดเห็น