xs
xsm
sm
md
lg

"กิตติรัตน์" เซ็ง "ธีระชัย" โพสข้อความบนเฟซบุ๊ก ไม่เข้าใจภาระหนี้ต่องบประมาณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
"กิตติรัตน์" เซ็ง "ธีระชัย" กัดไม่ปล่อย โพสข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ อัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ ร้อยละ 9.33 เป็นตัวเลขที่มาจากการคำนวณหลังจากมี พ.ร.ก. โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.4 ล้านล้านบาทให้ ธปท. ไปแล้ว แต่ถ้าไม่มีการออก พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ รบ.ต้องมีภาระ ดบ. ที่ต้องจ่ายปีละ 6.4 หมื่นล้านบาท และทำให้งบชำระหนี้ต่องบประมาณยังคงอยู่ในระดับที่ร้อยละ 12 พร้อมตั้งข้อสังเกต ทำไมอดีต รมว.คลัง ถึงไม่เข้าใจเรื่องนี้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่าขณะนี้อัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ระดับร้อยละ 9.33 ไม่ใช่ตัวเลขที่ตนเองระบุว่ามีสัดส่วนที่ร้อยละ 12 และเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องออก พ.ร.ก. 4 ฉบับ เพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ โดยยืนยันว่า ตัวเลขที่นายธีระชัย นำมากล่าวอ้างที่ระดับร้อยละ 9.33 นั้น เป็นตัวเลขที่มาจากการคำนวณหลังจากมี พ.ร.ก.โอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปดูแลแล้ว หากไม่มีการออก พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ รัฐบาลต้องมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอีกปีละ 64,000 ล้านบาท และทำให้งบชำระหนี้ต่องบประมาณยังคงอยู่ในระดับที่ร้อยละ 12

ทั้งนี้ ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 สัดส่วนหนี้ต่องบประมาณได้ลดลงแล้ว เพราะมีการออก พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ แต่ถ้าไม่ทำเช่นนี้ สัดส่วนตรงนี้จะลดลงไม่ได้ โดยสัดส่วนหนี้ต่อภาระงบประมาณที่ร้อยละ 12 เป็นการทำงานบนกรอบภาระหนี้ที่สูง หากหนี้สูง ดอกเบี้ยสูง ดังนั้น เงินต้นที่เตรียมไว้ชำระหนี้จะต่ำกว่านี้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะหาว่ารัฐบาลเหนียวหนี้ ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังจัดการหนี้ให้เข้าที่เข้าทางโดยการโอนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้ ธปท.ดำเนินการ จึงทำให้รัฐบาลสามารถผ่อนปรนการจัดงบประมาณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นลงได้ เพราะได้ลดภาระที่ต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยลงไปแล้ว โดยที่ไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้เกิดความกังวล

“ในฐานะที่เป็น รมว.คลังคนใหม่ ขอรำพึงว่าทำไมอดีต รมว.คลัง ถึงไม่เข้าใจเรื่องนี้ แต่ได้พยายามทำความเข้าใจไม่ต้องรอให้คนอื่นมาอธิบาย และไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ของตัวเองที่ต้องอธิบายรายละเอียดทั้งหมดให้กับคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงเข้าใจเช่นกัน”

นอกจากนี้ ขอยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดไม่ใช่ว่ารัฐบาลต้องการซุกหนี้ เพราะการซุกหนี้ที่แท้จริงแล้ว ทุกคนต้องมองไม่เห็นและมีการยกประเทศต่าง ๆ มากล่าวอ้าง เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าเป็นการซุกหนี้ที่นักวิเคราะห์มองไม่ออก แต่ขณะนี้รัฐบาลพยายามชี้ให้เห็นว่าหนี้อยู่ตรงไหนและมีการจัดการอย่างไร เพื่อให้ระยะต่อไปภาระดอกเบี้ยและเงินต้นจะได้ผ่อนปรนลง

โดยในสายตานักลงทุนเมื่อมองกลับมาที่หนี้สาธารณะของไทย จะมองเห็นว่าหนี้จำนวน 4.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลสามารถจัดการได้ ส่วนที่เป็นภาระ 1.14 ล้านล้านบาท ของกองทุนพื้นฟูฯ จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะลดลง ส่วนรัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มอีกหรือไม่ ยังไม่ใช่เรื่องต้องพิจารณา แต่ถ้ารัฐบาลจะตั้งงบประมาณในการชำระหนี้สาธารณะในแต่ละปีให้สูงเท่าเดิม เพื่อที่จะชำระเงินต้นที่ค้างอยู่ให้ลดลง เพราะในอดีตการตั้งงบประมาณเป็นเพียงการชำระแค่ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว

ส่วนการจัดทำงบประมาณในปี 2556 จะมีการหารือเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระหว่างที่เดินทางไปร่วมการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส สหพันธ์สวิส โดยมีแนวโน้มสูงมากว่าจะขาดดุลน้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับปี 2555 ที่ขาดดุลที่ 350,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้รวมงบชำระหนี้เงินคงคลัง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณที่กำหนดไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น