โฆษก ปธ.สภาฯ ร่าย 8 กฎตีกัน เหตุวุ่นวายกระทู้สดตั้ง “นลินี” ร่วมวง ครม.โยนเป็นหน้าที่ ปธ.สภาฯ รับพิจารณา 2 ก.พ.หรือไม่ จี้ สื่อใช้ ป.อาญา ม.112 แทน “ม.112” หวั่นปชช.เข้าใจผิดแก้ รธน.สภาฯกดดันหน่วยงานเร่งส่งมอบพื้นที่สร้างรัฐสภาใหม่
วันนี้ (30 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 26 ม.ค.ที่มีปัญหาความวุ่นวายในการตั้งกระทู้ถามสด เรื่องความเหมาะสมในการแต่งตั้ง นางนลินี ทวีสิน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ขอชี้แจงว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 กำหนดไว้ว่า กระทู้มี 2 ประเภทคือ กระทู้ถามสด และกระทู้ถามทั่วไป ซึ่งตามข้อบังคับข้อ 143 กำหนดว่า ลักษณะของกระทู้ถามต้องไม่เข้าลักษณะต้องห้ามของกระทู้ถามอย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่ 1.เป็นเชิงประชด เสียดสี หรือกลั่นแกล้งใส่ร้าย 2.เคลือบคลุมหรือเข้าใจยาก 3.เป็นเรื่องที่ได้ตอบแล้ว หรือชี้แจงแล้วว่าไม่ตอบ 4.เป็นเรื่องที่มีปัญหาซ้ำกับกระทู้ถาม ซึ่งมีผู้เสนอมาก่อน 5.เป็นการให้ออกความเห็น 6.เป็นปัญหาข้อกฎหมาย 7.เป็นเรื่องที่ไม่มีสารสำคัญ 8.เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลใด เว้นแต่ที่เกี่ยวกับหน้าที่ราชการ ซึ่งการประชุมในครั้งหนึ่งจะบรรจุกระทู้ถามสดได้ไม่เกิน 3 กระทู้ และกระทู้ถามทั่วไปได้ไม่เกิน 3 กระทู้
นายวัฒนา กล่าวว่า ส่วนการตอบกระทู้ถามตามข้อ 147 นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีที่ถูกตั้งกระทู้ถามต้องเข้าร่วมการประชุมสภา เพื่อตอบกระทู้ถามในเรื่องนั้นด้วยตนเอง เว้นแต่มีเหตุจำเป็น มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ไม่อาจตอบกระทู้ แต่ต้องแจ้งเหตุจำเป็นนั้น เป็นหนังสือต่อประธานสภาฯ ก่อนหรือในวันประชุมสภา และให้กำหนดว่า จะตอบได้เมื่อใด ซึ่งแม้ข้อบังคับการประชุม จะไม่กำหนดให้เกี่ยวกับการมอบให้ตอบกระทู้ถามสดแทน แต่ที่ผานมาหลายกรณีนายกฯมอบหมายให้บุคคลมาตอบกระทู้ถามสดแทน ซึ่งที่ประชุมมิได้ขัดข้องแต่อย่างใด
เมื่อถามว่า กระทู้ถามเรื่อง นางนลินี ถือว่าเข้าข่ายสามารถตั้งกระทู้ถามได้อีกครั้งในวันที่ 2 ก.พ.ได้หรือไม่ นายวัฒนา กล่าวว่า กระทู้ถามสดต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศ ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ ซึ่งต้องดูช่วงจังหวะเวลา ถ้ามี ส.ส.จะเสนอกระทู้ถามสดเข้ามาอีกครั้ง เรื่องนี้เป็นอำนาจของประธานสภาฯ ที่เป็นผู้พิจารณาในเวลา 10.00 น.ว่า จะสามารถบรรจุเป็นกระทู้ถามสดได้หรือไม่ เพราะการแต่งตั้ง รมต.เป็นการบริหารราชการแผ่นดิน ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคลว่า ในสัปดาห์นี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในความสนใจของประชาชนหรือไม่
โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้มีการเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเสนอข่าวการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งสื่อต่างๆ ได้พาดหัวนำเสนอข่าวเขียนสั้นๆว่า มีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งหากไม่ได้อ่านในรายละเอียดแล้ว อาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 หรือไม่ ดังนั้น อยากฝากให้สื่อใช้ตัวย่อเป็น “ป.อาญา ม.112” ซึ่งหมายถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แทนการใช้คำว่า “ม.112” เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน
นายวัฒนา ในฐานะคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อ่านข้อเสนอของคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดฯก่อน แต่การดำเนินงานของคณะกรรมการยังเดินหน้าต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ว่า จุดใดมีปัญหาความล่าช้า ซึ่งคณะกรรมการต้องไล่ตรวจสอบทุกพื้นที่ โดยมีชุดของ นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น ในรองประธานคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นผู้เร่งรัดเรื่องการส่งมอบคืนพื้นที่นี้ อาทิ หน่วยงานทหาร โรงเรียน เป็นต้น เพราะถึงแม้จะมีการกำหนดเวลาที่แน่นอนในเรื่องการย้ายออกจากพื้นที่ แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการส่งมอบพื้นที่ว่าจะเสร็จได้ทันตามกำหนดหรือไม่ อีกทั้งสำนักงานสภาผู้แทนราษฎรในส่วนต่างๆ ก็ต้องไปเช่าที่อื่นอยู่ ทำให้แต่ละเดือนหมดเงินไปหลายล้านบาท ดังนั้น การประชุมและการติดตามงานทุกสัปดาห์จะเป็นเหมือนการกดดันให้คนเหล่านี้เร่งรัดการดำเนินงานตามที่รับปากไว้กับทางสภาผู้แทนราษฎร