โฆษกกมธ.กิจการสภาฯ งง กก.ชุด "เจริญ" ใช้สิทธิ์อะไร ชี้ไม่มีอำนาจสั่งเปลี่ยนสถานที่สร้างสภาใหม่ ซัด "สมศักดิ์" ยัดก๊วนนั่งกรรมการอีกเพียบ จวกล้มเอ็มโอยู 4 ฝ่ายทั้งที่เคลียร์ชุมชน หน่วยราชการแล้ว พร้อมจ่ายค่าชดเชยรวม 7 พันล้าน ชี้อ้างเหตุผลย้ายไม่เหมาะสม
วันนี้ (14 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาฯกล่าวถึงกรณีที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ออกมาระบุ จะรอผลการสรุปการศึกษาหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จากคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภา เป็นประธานคณะทำงานในวันที่ 17 ม.ค.นี้ ว่า การที่ประธานสภาตั้งธงที่จะหาสถานที่สร้างสภาแห่งใหม่ แทนบริเวณสี่แยกเกียกกาย ตนไม่เข้าใจว่า คณะกรรมการชุดนายเจริญใช้สิทธิอะไร เพราะหากดูตามอำนาจหน้าที่ของกรรมการชุดนี้ ที่นายสมศักดิ์ ได้แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่13 ก.ย. 2554 หลังจากที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้ว โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กรรมการชุดนี้ ให้กำกับติดตาม เร่งรัด ตรวจสอบและให้คำแนะนำกับโครงการดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อสร้าง หรือทำตามคำสั่งที่มอบหมาย ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดของขอบเขตอำนาจกรรมการชุดนี้แล้ว ก็ไม่พบว่า มีการระบุให้อำนาจมาไล่รื้อหรือสามารถสั่งเปลี่ยนหรือหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้ ดังนั้นการจะอ้างเหตุว่า รอฟังข้อสรุปที่จะใช้ที่อื่นทั้งปากเกร็ด จ.นนทบุรี หรือ ค่ายทหารใน จ.สระบุรี ก็ต้องไปเริ่มต้นกันใหม่หมด
นายบุญยอด กล่าวว่า ที่สำคัญหลังจากที่นายสมศักดิ์ได้แต่งตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้นแล้ว จากนั้นก็มีการแต่งตั้งกรรมการอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นอีก 2 ครั้ง โดยการเพิ่มคนที่เป็นพรรคพวกของตัวเองเข้าไปเป็นกรรมการแทบทั้งสิ้น อาทิ นายซูการ์โน มะทา นายวัฒนา เซ่งไพเราะ นายพินิจ จันทร์สมบูรณ์ และอีกหลายคนที่ตนจำชื่อไม่ได้ ซึ่งที่สุดมีความพยายามใช้อำนาจที่เกินขอบเขต มาสั่งหาสถานที่สร้างรัฐสภาใหม่ ทั้งที่เป็นคณะทำงานส่วนตัวหรือกรรมการชุดเล็ก เพราะอย่าลืมว่า การทำบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู)ในการจัดหาสถานที่สร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่โดยกำหนดมาใช้บริเวณย่านแยกเกียกกาย ได้มีการริเริ่มมาจากสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ และมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯขณะนั้น นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภา และตัวแทนของวุฒิสมาชิก เป็นการหารือร่วม 4 ฝ่ายจนเป็นที่ยอมรับ และใช้เป็นเหตุผลไปแจ้งต่อชุมชนของชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณสี่แยกเกียกกายเพื่อขอใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างเป็นอาคารรัฐสภาใหม่ตามเหตุและผลที่นายสมัคร แจ้งไว้ว่าติดริมน้ำเจ้าพระยา สะท้อนถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติ
"มาถึงวันนี้พอชาวบ้านและหน่วยงานราชการยินยอมให้ใช้พื้นที่ โดยการยอมย้ายออกไป แต่ประธานสภาเอง กลับไม่ทำตามเจตนารมณ์เดิมของบันทึกข้อตกลงร่วม 4 ฝ่าย จะไปหาที่ใหม่ทั้งที่มีการจ่ายงบประมาณในส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องไปแล้วราว 7 พันล้านบาทเป็นค่าชดเชยที่ดิน สิ่งปลูกสร้างอาคารสถานที่ แล้วจะแก้ตัวกับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ว่าอย่างไร ทั้งที่เขายอมออกไปเพื่อให้ใช้สร้างรัฐสภา และหากเปรียบเทียบไป ถ้ากรรมการชุดนายเจริญ มีมติขอให้ย้ายที่ทำการพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่รู้เลยว่า จะได้รับการยอมรับหรือเปล่า เพราะเป็นกรรมการชุดเล็กที่มีแต่พวกพ้อง โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะอย่างน้อยการเลือกหาสถานที่และมาลงตรงที่บริเวณแยกเกียกกายก็เป็นการหารือร่วมของตัวแทนผู้นำ 4 ฝ่ายมีบันทึกข้อตกลงร่วมชัดเจน มีการจัดงานยิ่งใหญ่ได้รับการโปรดเกล้าฯในพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว แต่กลับมาอ้างเหตุผลต่างๆเพื่อหาสถานที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ดูแล้วไม่เหมาะสม หรือท่านมีข้อมูลใดว่า โครงการนี้ไม่โปร่งใส ก็ขอให้บอกต่อสังคมมา" นายบุญยอด กล่าว