xs
xsm
sm
md
lg

“เจริญ” เอาแน่ย้ายที่สร้างรัฐสภาจากเกียกกาย ไปปากเกร็ด หรือสระบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจริญ จรรยฺ์โกมล (แฟ้มภาพ)
“รองฯเจริญ” อ้างผลสรุป กก.ติดตามโครงการสร้างรัฐสภาใหม่ ควรย้ายจากเกียกกาย ไปสนามกอล์ฟชลประทาน ปากเกร็ด หรือ สระบุรี รับอาจยืดเยื้อไปถึงปี 2560 เตรียมชงความเห็นแจ้ง “สมศักดิ์” จันทร์หน้า พร้อมเชิญ “สุขุมพันธุ์” ร่วมวง ด้าน ปธ.สภา ย้ำย้ายสถานที่สร้างสภาใหม่ไม่ง่าย

วันนี้ (12 ม.ค.) นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการได้ลงความเห็นว่า ควรย้ายพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจากพื้นที่เดิมนั้นมีปัญหา และอุปสรรคหลายด้าน เช่น เรื่องน้ำท่วม และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่า หากจะใช้พื้นที่เดิมดำเนินการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้น อาจต้องใช้เวลาก่อสร้างยาวนานกว่าที่กำหนดให้แล้วเสร็จประมาณปี 2556 หรือ 2557 ไปเป็นปี 2560

เบื้องต้นเตรียมเสนอข้อสรุปให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา พิจารณาในวันที่ 16 ม.ค.นี้ โดยจะเสนอพื้นที่ใหม่ จำนวน 2 แห่ง คือ พื้นที่สนามกอล์ฟของกรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ที่มีพื้นที่ 243 ไร่ และพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และ จังหวัดสระบุรี เบื้องต้นนั้นจะให้เจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์ เข้าร่วมประชุมในวันที่ 16 ม.ค.ด้วย

“สำหรับพื้นที่สนามกอล์ฟนั้น ถือว่าเหมาะสม แต่อาจจะติดปัญหา เพราะแคดดี้ของสนามกอล์ฟจะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ผมเตรียมเชิญอธิบดีกรมชลประทานเข้าหารือในเรื่องดังกล่าวด้วย สำหรับปัญหาเรื่องการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ผมได้เชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เข้ามาคุยกับประธานสภา ด้วยวันที่ 16 ม.ค.นี้” นายเจริญ กล่าว

นายเจริญ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ย่านเกียกกายนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ ส่วนที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ได้ก่อสร้างไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์นั้น ถือว่าเป็นการโกหก อีกทั้งบริษัทที่เข้ามารับจ้างก่อสร้างนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปจึงยังไม่มีการก่อสร้างใดๆ

ด้าน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการย้ายที่สร้างรัฐสภาใหม่ ว่า เบื้องต้นคณะกรรมการยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องการย้ายสถานที่สร้างรัฐสภาใหม่ เอาไว้คณะกรรมการพิจารณาได้ข้อสรุป ก็คงจะเสนอเรื่องมาที่ตน แล้วค่อยมาฟังเหตุและผลอีกครั้ง ขณะที่กรณีการที่ย้ายสถานที่ไปที่อื่นก็คงไม่เรื่องง่าย เพราะคนก่อนหน้านี้ได้ศึกษาหาสถานที่ก่อสร้างนั้นต้องใช้เวลาเป็น 20 ปี ถ้าจะย้ายสถานที่ก็ต้องมีเหตุผลเป็นพิเศษจริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น