“กอร์ปศักดิ์” ระบุ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนทั้งหมด ซัด รบ.เลี่ยงออกเป็น พ.ร.ก. มัดมือไม่ให้ตรวจสอบ แนะปชช.จำชื่อ ส.ส.สุมหัวโกงอย่าเลือกกลับมาเป็น ส.ส.อีก ชี้หาก พ.ร.ก.กู้เงินผ่านฉลุย จะลำบากถึงลูกหลานต้องส่งส่วยเป็นภาษีให้คลังนำไปใช้หนี้นานถึง 30-40 ปีทีเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 29 ม.ค. เมื่อเวลา 19.10 น. นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Korbsak Sabhavasu ความว่า “พระราชกำหนด - พ.ร.ก.การเงิน 4 ฉบับมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว เป็นการเดินหน้าประเทศไทยตามแนว “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ถือเป็นการบริหารประเทศแบบรวบรัด เบ็ดเสร็จ ไม่ต้องเสียเวลาให้ใครมาช่วยคิด ไม่ต้องให้ตัวแทนประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินได้ร่วมพิจารณา ไม่แคร์ในความรู้สึกของใครทั้งสิ้น เป็นประชาธิปไตยแบบทักษิณขนานแท้
ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่สลับซับซ้อน ประชาชนเลือกตัวแทนคือท่านส.ส.ให้ทำงานแทนพวกเราครั้งละ 4 ปี ประชุมวันแรกก็ขอให้ท่านส.ส.สรรหานายกรัฐมนตรีดีๆ เก่งๆ มาบริหารประเทศ จากนั้นนายกฯก็ต้องจัดทีมทำงานและเดินหน้าประเทศตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้
สำหรับงานหลักของท่าน ส.ส.คือ การกลั่นกรองการออกกฏหมายและตรวจสอบการบริหารงานของนายกฯ และรัฐบาล ให้อยู่ในกรอบ ในร่องในรอย ท่าน ส.ส.กลุ่มไหนพรรคไหนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล งานจะหนักนิดหนึ่งเพราะต้องตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ให้คุ้มค่าเงินเดือนที่ได้รับจากเงินภาษีของประชาชน หลักใหญ่ๆของประชาธิปไตยก็มีเท่านี้
วันนี้ผมต้องมาโวยวายรัฐบาลเรื่องการออก พ.ร.ก.การเงิน 4 ฉบับ บอกตรงๆว่าไม่ชอบรัฐบาลเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว พอทำเรื่องที่กระทบกระเป๋าเงินของประชาชนโดยไม่เป็นธรรม จึงนิ่งเฉยไม่ได้
ขอคุยให้ฟังเรื่องหลักคิดเพื่อเป็นการปูพื้นก่อนครับ
ส.ส.มีหน้าที่พิจารณากฎหมายเรียกว่าพระราชบัญญัติ กฏหมายที่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆเราจะเรียกว่าพระราชบัญญัติการเงิน ถือว่าสำคัญไม่เป็นรองใคร เพราะผูกพันกับเงินคลัง เงินภาษีของประชาชน อย่าลืมเป็นอันขาดว่าประชาชนเหนื่อยยากแสนสาหัส ทำมาหากินเพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงตนเองและครอบครัว เงินที่ไหลเข้ามาทุกเดือนไม่ว่าจะมาจากทางไหน เวลาไหลออกส่วนหนึ่งต้องเลี้ยวลงกระเป๋าคลังไม่มากก็น้อยทุกครั้งไป ท่านส.ส.ที่ทำหน้าที่ได้ดีคือส.ส.ที่เฝ้ากระเป๋าเงินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประชาธิปไตยมีกรอบเขียนไว้ชัด ถ้ารัฐบาลจะใช้เงินภาษีของประชาชน รัฐบาลต้องออกกฎหมายเท่านั้น และต้องผ่านการพิจารณาของตัวแทนของเขา คือท่าน ส.ส. “ก่อนมีผลบังคับใช้” ส่วนท่าน ส.ส.ที่สุมหัวกันโกงเงินของประชาชน ประชาชนก็ต้องจดจำชื่อไว้ (ห้ามเขียนชื่อลงบนหนังหมา เพราะน้องหมาปฏิเสธคนพวกนี้) ประชาชนต้องช่วยกันหาวิธีไม่ให้คนพวกนี้กลับมาเป็น “ท่าน ส.ส.” ได้อีก
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี...ที่สภาพิจารณาทุกปีถือเป็นกฎหมายการเงินที่สำคัญที่สุดได้ทีเดียว ท่านส.ส.ตัวแทนของพวกเราใหญ่คับแก้วในระหว่างการพิจารณางบประมาณ เจ้าของเงินอย่างพวกเราไม่ค่อยจะได้ใส่ใจหรอกครับ ไม่มีเวลา ต้องทำงานหาเงินตัวเป็นเกลียว เงินที่ได้มาส่วนหนึ่งจะโดนหักมาส่งส่วยค่าภาษีที่เขาพิจาณากันนี่แหละ
กลับมาประเด็นของเราต่อครับ
หลังน้ำท่วมรัฐบาลต้องใช้เงินมาก เงินภาษีที่พวกเราส่งให้ทุกเดือนทุกปี นับแล้วนับอีก เท่าไหร่ก็ไม่พอ เมื่อเงินไม่พอก็ต้องกู้เพิ่ม แถมต้องกู้เกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้ด้วย รัฐบาลตัดสินใจออกกฎหมายการเงินฉบับพิเศษเพื่อให้สามารถกู้เงินเพิ่มได้ ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกพิศดารอะไร เพราะหลายครั้งหลายกรณีเรื่องฉุกเฉินอย่างนี้ต้องเปิดให้มีรูหายใจ
โดยปกติท่าน ส.ส.ตัวแทนของพวกเราจะมีหน้าที่ตรวจสอบกฎหมายการเงินพิเศษนี้ครับ ต้องช่วยกันดูว่ารัฐบาลจะกู้อีกเท่าไหร่ กู้แบบไหน เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง เพราะถึงแม้ว่าเงินกู้นี้จะไม่ใช่เงินภาษีของประชาชน แต่ก็เป็นเงินกู้ที่พวกเรา (ลามไปถึงลูก หลาน เหลน) ต้องส่งส่วยเป็นภาษีให้คลังนำไปใช้หนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น นาน 30-40 ปีทีเดียว
“ทักษิณคิด” แบบรวบรัด ใช้ช่องทางพิเศษที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ (รูหายใจที่ผมคุยไว้เมื่อสักครู่) ว่า กรณีคอขาดบาดตาย กฎหมายรัฐธรรมนูญอนุญาตให้รัฐบาลออกกฎหมายที่มีผลบังคับได้ทันที (ที่เรียกว่าพระราชกำหนด-พ.ร.ก.) ท่าน ส.ส.หมดสิทธิพิจารณาก่อนมีผลบังคับใช้ จะได้พิจารณา ก็ต้องหลังจากที่ได้ประกาศเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น การพิจารณาก็แสนง่ายคือห้ามแก้ไข ได้แค่กดปุ่ม “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” เท่านั้น
ขอกล่าวหาของผม คือ พ.ร.ก.ที่คลอดออกมา 4 ฉบับ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนไปทั้งหมดและทุกฉบับเกี่ยวข้องกับวงเงินกู้เป็นจำนวนมากทั้งสิ้น ที่พูดกันมากคือ พ.ร.ก.ฉบับที่ให้มีการโยกภาระหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท และดอกเบี้ยไปให้ ธปท.รับผิดชอบแต่ผู้เดียว ไม่ต้องเป็นนักการเงินมือฉกาจขนาดไหนก็รู้ว่า เรื่องการบริหารหนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่ต้องเสร็จภายในวันนี้ พรุ่งนี้ ถึงขนาดต้องออกเป็น พ.ร.ก. หลีกเลี่ยงไม่ยอมเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ให้ท่าน ส.ส.ได้ทำหน้าที่ปกป้องเงินภาษีของประชาชน
สิ่งที่เพื่อนๆ ส.ส.ของผมกำลังดำเนินการในขณะนี้ คือ การส่งเรื่องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญท่านได้พิจารณา ว่าพระราชกำหนดที่รัฐบาลผลักดันออกมานี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเมื่อดูใส้ในของ พ.ร.ก.แล้ว เห็นชัดว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนคอขาดบาดตายจนไม่สามารถใช้กระบวนการออกกฎหมายตามปกติได้”