xs
xsm
sm
md
lg

“คณิน-อภิวันท์” รุมอัด รธน.50 พิการต้องรื้อใหม่ “คมสัน” ติงอย่านึกจะแก้ได้ทุกปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ศรีปทุม จัดเสวนาแก้รัฐธรรมนูญ แก้ผ้าการเมืองไทย “คณิน-อภิวันท์” รุมอัด รธน.50 พิการต้องรื้อใหม่ทั้งดุ้น อดีต ส.ส.ร.โอ่ฉบับ 40 สุดยอด หนุนการมีส่วนร่วม ปชช.เต็มที่ “คมสัน” โต้หัวเชื้อมาจากรัฐประหารเหมือนกัน ติงอย่านึกว่าเขียนใหม่แล้วจะแก้ได้ทุกปัญหา ด้านรองโรมานอฟ อัดเละ คมช.สุมหัววางกับดักผ่าน “ส.ว.-ศาล รธน.-ป.ป.ช.” ตีกัน “ทักษิณ” คืนสู่อำนาจ แนะรื้อองค์กรอิสระ-วุฒิสภา ขณะที่ “หมอตุลย์” ย้ำต้องระบุให้ชัดว่าแก้มาตราไหนบ้าง

วันนี้ (27 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้มีการจัดเวทีอภิปรายสดในหัวข้อ “แก้รัฐธรรมนูญ แก้ผ้าการเมืองไทย” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายที่น่าสนใจ ประกอบด้วย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 นายคมสัน โพธิ์คง แกนนำกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ อดีต ส.ส.ร.2550 และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน หรือคนเสื้อหลากสี

โดย นายคณิน ได้กล่าวช่วงหนึ่งว่า ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2550 เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนไทยซึ่งเคยรักกันดี กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกัน เนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ไม่ชอบธรรม อาทิ ที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการในการยกร่าง หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สำคัญ โครงสร้างเนื้อหา และการบังคับใช้ ยังมีลักษณะหมกเม็ด ไม่พยายามมองถึงต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง จึงเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งในสังคม และหากเปรียบเทียบกันในส่วนของที่มาต้องถือว่า ส.ส.ร.ชุดร่างรัฐธรรมนูญ 40 นั้น มีคุณสมบัติที่ครบถ้วนมากกว่า ส.ส.ร.ชุดปี 50 เพราะ ส.ส.ร.40 มีการสรรหาที่ผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการยกร่างทุกขั้นตอน จึงเป็นที่มาของคำว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

นายคณิน กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ยังได้วางรูปแบบการปฏิรูปการเมืองไว้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจ การใช้อำนาจ และกระบวนการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าท้ายที่สุดแล้วมีปัญหาเกิดขึ้นจากการบังคับใช้ ซึ่งต้องไม่ลืมว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแรกที่มีส่วนในการใช้รัฐธรรมนูญปี 40 และปัญหาก็มาจากการบังคับใช้บทเฉพาะกาล หรือข้อยกเว้นบางมาตรานานเกินไป เพราะบทเฉพาะกาลที่ระบุไว้นั้นเป็นเพียงข้อยกเว้นชั่วคราวเท่านั้น สำหรับรัฐธรรมนูญที่ดีนั้นต้องบ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตย หลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งหมายถึงเสถียรภาพของบ้านเมือง ไม่เฉพาะรัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่ นายคมสัน กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ การบังคับกฎหมายมีปัญหาแทบทุกฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญ หรือประมวลกฎหมายอาญา แต่บางปัญหาที่เกิดกับประชาชนไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกัน จะได้รับความสนใจเฉพาะปัญหาที่เกิดกับนักการเมือง เพราะเวลานักการเมืองพูด เสียงจะดัง จึงได้รับความสนใจ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญมีปัญหากับนักการเมือง และได้รับการป่าวประกาศ จึงเป็นที่สนใจมากกว่า ประชาชนที่ได้รับฟังก็คล้อยตามว่ามันมีปัญหาจริง อย่างไรก็ตาม ในเชิงวิชาการนั้น การมีรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ว่าประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่เป็นสัญลักษณ์ของการมีเอกราชเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญในหลายประเทศที่ไม่มีพื้นฐานทางประชาธิปไตย เช่น รัสเซีย หรือ จีน

นายคมสัน กล่าวอีกว่า ในส่วนกรณีที่มาของรัฐธรรมนูญนั้น ต้องยอมรับว่า กว่าร้อยละ 90 ของประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากการปฏิวัติรัฐประหารทั้งสิ้น แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญเอง ก็มาจากการเปลี่ยนอำนาจจากประเทศอังกฤษมาสู่อาณานิคม หรือกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 40 ของไทยที่ว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดนั้น จุดกำเนิดที่แท้จริงก็มาจากรัฐประหารปี 34 จนเกิดรัฐธรรมนูญปี 34 จนเป็นที่มาของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ในที่สุด ตรงนี้เป็นสิ่งที่สังคมอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน และนำมาโจมตีรัฐธรรมนูญปี 50 ว่ามีที่มาจากการรัฐประหาร จึงต้องแก้ไขคงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงต้องมาดูในรายละเอียกว่าแก้ไขที่จุดใด เพราะเวลายังไม่มีความชัดเจน ส่วนโมเดลที่มีผ็เสนอออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ถือเป็นการแก้ไข แต่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญมากกว่า

“รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาหม้อใหญ่ ที่แก้ได้ทุกปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของสังคม หรือปัญหาของคนบางกลุ่ม เพราะที่ผ่านมามีบุคคลบางกลุ่มที่ใช่ช่องว่างของรัฐธรรมนูญปี 40 และอำนาจทางการเมืองทำการทุจริตคอร์รัปชั่น และทำให้กระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง นั่นคือภาษีที่ถือเป็นสิทธิที่ประชาชนสละให้แก่รัฐ ดังนั้นจึงกลายเป็นวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย” นายคมสัน ระบุ

ด้าน พ.อ.อภิวันท์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า ปัญหาของบ้านเมืองเมื่อ 5 ปีที่ผ่าน ได้เกิดความแตกแยกที่มาจากการชิงอำนาจของสองกลุ่ม คือ พรรคไทยรักไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น เมื่อเกิดความแตกแยกที่มาจากการเมืองก็ต้องมีการแก้ไข ทั้งนี้รัฐธรรมนูญที่ดีควรคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน แม้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นเรื่องของเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องฟังเสียงของคนเสียงข้างน้อยด้วย และรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายมหาชน หมายความว่าต้องอ้างอิงความยุติธรรมให้แก่บุคคลทุกหมู่เหล่าทุกสาขาอาชีพเป็นหลัก ผู้ที่มาร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่มีอคติ ไม่โกรธไม่เกลียดหรือระแวงใดๆ แต่รัฐธรรมนูญปี 50 เกิดจากความไม่ไว้วางใจในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมามีอำนาจ อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่า ส่วนที่ดีของรัฐธรรมนูญปี 50 มีอยู่หลายส่วนเช่นกัน อาทิ หมวด 7 ที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือหมวด 14 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ระบุไว้

พ.อ.อภิวันท์ ระบุด้วยว่า ส่วนตัวได้มีโอกาสพูดคุยกันเพื่อนที่เป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนเก่ง และมีเงินทุน การออกกฎหมายเพื่อไม่ให้กลับมามีอำนาจได้จึงเป็นเรื่องที่ยาก เราจึงได้เห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสมัยนั้นประกอบไปด้วยบุคคลที่เรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 3 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีสมัย คมช. รุ่นของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช.และรุ่นของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงาน คมช.ด้วยพื้นฐานที่มาความหวาดระแวงนี้ จึงทำให้รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ใช่กฎหมายที่ดี นอกจากนี้ หลังการแก้รัฐธรรมนูญต้องการหารือกันในพรรคก่อนว่าจะต้องมีการยุบสภาหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าควรยุบสภา เพราะได้ทำสัญญาประชาคมกับประชาชนไว้แล้ว

“รัฐธรรมนูญปี 50 วางกับดักไว้ 3 ชั้นผ่าน 3 องค์กร คือ วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเฉพาะในส่วนของมาตรา 111-118 ที่ให้อำนาจวุฒิสภาอย่างมาก ทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประธานองค์กรต่างๆ” พ.อ.อภิวันท์ ระบุ

อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังย้ำด้วยว่า ที่มาของ ส.ว.จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ถูกต้อง เพราะ ส.ว.ครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งของบุคคลเพียง 7 คน ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนด้วยซ้ำแต่กลับมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจมากมาย ต่างจาก ส.ส.หรือ ส.ว.อีกครึ่งหนึ่งที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ยอมรับว่า กระบวนการแต่งตั้งหรือสรรหาก็มีความสำคัญ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากวิชาชีพต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม อย่างไรก็ตามการสรรหาควรผ่านองค์กรที่ได้รับการยอมรับในสาขาวิชาชีพนั้นๆ เช่น แพทยสภา หรือ สภาสถาปนิกแห่งประเทศไทย เป็นต้น ไม่ควรเป็นการแต่งตั้งโดยคนเพียง 7 คน อีกทั้งควรจะมีสัดส่วนที่แตกต่างจาก ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่น ส.ว.สรรหาควรมีอย่างมาก 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด เป็นต้น

พ.อ.อภิวันท์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในส่วนของระยะเวลาการดำรงตำแหน่งขององค์กรต่างๆมีความลักหลั่นกัน เช่น ป.ป.ช.ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี 9 ปี แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีเพียง 6 ปี หรือ ส.ว.ที่มี 6 ปี แต่ ส.ส.กลับอยู่ในตำแหน่งเพียง 4 ปี ตรงนี้ควรปรับให้แต่ละองค์กรมีความไล่เลี่ยกันมากขึ้น รวมทั้งอำนาจการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ควรเป็นอำนาจของรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. มิใช่วุฒิสภาเพียงสภาเดียวอย่างในปัจจุบัน

สำหรับ นพ.ตุลย์ ได้กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่แก้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง โดยส่วนตัวเห็นด้วยว่าต้องมีการแก้ในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา แต่ต้องดูรายละเอียดว่าจะแก้ในสัดส่วนเท่าใด ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีความชัดเจนว่าต้องการแก้ในเรื่องใดและมาตราใด ซึ่งยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ต้องการสร้างให้นักการเมืองเข้มแข็ง แต่มีปัญหาเรื่องการใช้ช่องว่าของพรรคการเมืองเพื่อหาผลประโยชน์ ทั้งนี้ เชื่อว่า ตัวรัฐธรรมนูญของปี 2540 ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากต้องการแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องนำปัญหาของทั้ง 2 ฉบับมาแก้ก็จะสามารถหาทางออกได้ ที่สำคัญต้องตอบประชาชนได้ว่าต้องการแก้มาตราใด แก้เพื่ออะไร และไม่จำเป็นต้องแก้ทั้งฉบับ หากเกิดช่องว่างอีกก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ นอกจากนี้การร่างต้องทำเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่การเสวนาดำเนินไปได้มีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประมาณ 20 คน ได้นำขบวนรถยนต์และจักรยานยนต์เข้ามาในพื้นที่ ม.ศรีปทุม และพยายามโบกธงให้กำลังกับผู้เสวนาบนเวที ซึ่งสร้างความสนใจให้กับผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาพอสมควร จนกระทั่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ ม.ศรีปทุม ได้ขอความร่วมมือและแจ้งปรามว่าไม่ควรเข้ามาโบกธงในสถานที่ ก่อนได้รับความร่วมมือจากลุ่มบุคคลดังกล่าวและออกจากพื้นที่ ม.ศรีปทุม ด้วยดี
กำลังโหลดความคิดเห็น