ส.ว.สรรหา ติดใจร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ชี้ มิใช่กรณีเร่งด่วน เตรียมยื่นรายชื่อ ส.ว.1 ใน 5 ต่อ ปธ.วุฒิฯ 31 ม.ค.นี้ ส่งศาล รธน.ตีความว่าขัด รธน.ม.184 วรรค 2 หรือไม่ ซัด 3.5 แสนล้าน ดองในคลัง ประเทศเสียหายเสียดอกเบี้ยอื้อ
วันนี้ (27 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์กรณีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ ว่า ทั้ง 4 พ.ร.ก.มีปัญหาที่แตกต่างกันไป คงจะได้อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภา แต่พ.ร.ก.ที่เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 คือ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เพราะว่ามิใช่กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพราะฉะนั้นเฉพาะ พ.ร.ก.ดังกล่าว ตนจะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 185 คือ ส.ว.1 ใน 5 หรือ 30 คนขึ้นไป ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 ซึ่งก็ต้องยื่นก่อนที่ พ.ร.ก.จะเข้ามาอนุมัติในสภาฯ ขณะนี้มีผู้ลงรายชื่อแล้ว 47 รายชื่อ และคาดว่าจะยื่นเรื่องต่อไปยังประธานวุฒิสภา ในวันอังคารที่ 31 มกราคม ในเวลา 11.00 น.
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ส่วน พ.ร.ก.ฉบับอื่นๆ นั้น จะใช้สิทธิ์อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภา ว่า มีปัญหาอย่างไร ซึ่งเชื่อว่า แต่ละฉบับมีปัญหาแตกต่างกันไป เช่น ฉบับกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ก็เป็นที่น่าตั้งคำถามว่ารีบด่วนหรือไม่ เพราะว่าเงินจำนวนดังกล่าวเข้าใจว่าใช้ทันทีและทีเดียวไม่ได้
นายคำนูณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้เงินประเทศวางระบบไว้ว่าต้องใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติตามงบประมาณ พ.ศ.2502 การใช้เงินโดยการออกพระราชกำหนดกู้เงินเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ และเป็นการตั้งตัวเลขแบบประมาณการลอยๆ หรือเป็นการตั้งสมมติฐานว่า 3.5 แสนล้านบาท โดยที่ไม่ตั้งรายละเอียดอะไรเลย ในทางกลับกันหากไปดูในพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปี จะเห็นว่ามีขั้นตอนการตั้งโครงการ มีรายละเอียดของโครงการ การตรวจสอบจึงทำได้ง่าย
“การตั้งตัวเลขขึ้นมาลอยๆ แล้วไปบอกให้กู้เร่งด่วนภายใน 1 ปี 6 เดือน หรือให้กู้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน2556 รัฐบาลกู้มาแล้วนำไปเก็บไว้ในคลัง และหากโครงการที่จะกู้เงินจาก 3.5 แสนล้านบาทมันล่าช้าออกไป เท่ากับเรามีต้นทุนดอกเบี้ยของเงินกู้ที่ต้องเสีย ขณะเดียวกันเงินก็อยู่ในคลังไม่สามารถเบิกไปใช้จ่ายได้ เพราะโครงการมันล่าช้า ยกตัวอย่างเช่น โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลคุณอภิสิทธื์ จนกระทั่งถึงวันนี้มีเงินที่กู้มาแล้วยังไม่ได้เบิกไปใช้ 6 หมื่นล้านบาท เงินตัวนี้มีต้นทุน” นายคำนูณ กล่าวและว่า เงินจำนวน 3.5 แสนล้านบาทนี้ ต้องเสียดอกเบี้ย แต่การนำมาเก็บไว้ในคลังมันไม่มีดอกเบี้ย ดูจากโครงการไทยเข้มแข็งเป็นโครงการขนาดเล็กเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทั่วถึง ขณะเดียวกัน 3.5 แสนล้านบาท เป็นโครงการป้องกันน้ำท่วมในภาพรวมและสร้างอนาคตประเทศ คือ สร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ลักษณะของโครงการย่อมช้ากว่า เพราะโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยจะต้องทำ T.I.A, H.I.A จากนั้นก็ต้องฟังชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 วรรค 2 ซึ่งเห็นแล้วว่าจะทำให้เร็วมันลำบาก เพราะรัฐธรรมนูญบังคับไว้แบบนี้ และรัฐบาลก็ไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจนว่าหากรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาจะแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเร่งด่วนหรือไม่ ตอนนี้ก็มีแต่การแก้รัฐธรรมนูญภาพรวม คือ การตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา กว่าจะเสร็จอีกเป็นปี เพราะฉะนั้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2556 กู้เงินมาครบแล้วโครงการอาจยังไม่เสร็จทั้งหมดก็เบิกไปใช้ทั้งหมดไม่ได้ เงินที่กู้ก็มีดอกเบี้ย อันนี้ถือเป็นความเสียหาย
ส.ว.สรรหา ยังกล่าวต่อว่า โครงการไม่ได้ใช้เงินทันทีซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าทำไมไม่ตั้งอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งก็อาจจะมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายกลางปีได้อีก ก็จะมีเสียงตอบมาว่ามันจะล่าช้าและติดขัดด้วยกรอบอะไรต่างๆ ซึ่งจริงๆ สามารถแก้ไขตามระบบได้ แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะทำแบบนี้
ทั้งนี้ นายคำนูณ ระบุว่า ดูจากบทเรียนของโครงการไทยเข้มแข็ง พระราชกำหนด 4 แสนล้าน แบ่งเป็นสองส่วน ห้าหมื่นล้านชดเชยให้เงินคลัง กู้มาทำโครงการจำนวน 3.5 แสนล้านบาท ดังนั้น ปีงบประมาณ 54 จึงมีเงินเหลือที่ไม่ได้เบิกใช้ 6 หมื่นล้าน เงินจำนวนนี้จึงมีดอกเบี้ย เพราะว่าประสิทธิภาพของหน่วยงานที่จะใช้เงินในการทำโครงการต่างๆมันล่าช้า ไทยเข้มแข็งมีเหลือ 6 หมื่นล้าน ขณะเดียวกัน โครงการของรัฐบาลชุดนี้กู้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำเงินมาทำโครงการขนาดใหญ่ สุดท้ายเงินจะค้างเท่าไหร่ก็ไม่รู้