โฆษก ปชป.ชี้ แบงก์พาณิชย์ไม่ยอมลดดอกเบี้ย เหตุเสี่ยงจากภาระที่ต้องส่งเงินชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จากการออก พ.ร.ก.ของรัฐบาล ทำ ปชช.ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบาย กนง.ขณะเดียวกัน ห่วงราคาข้าวแกงพุ่งหลังสมาคมค้าข้าวประกาศขึ้นราคาข้าวถุง จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาด่วน เตือน “รมต.เต้น” แก้ปัญหาราคายางตกต่ำไม่ง่ายเหมือนปลุกม็อบ
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลกระทบจาก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มีผลบังคับใช้ว่าทำให้การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ร้อยละ 0.25 ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมลดดอกเบี้ยตามเพราะมีความเสี่ยงจากภาระที่ต้องส่งเงินชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ตาม พ.ร.ก.บัญญัติไว้
เนื่องจากสถาบันการเงินมีภาระที่ต้องชำระหนี้กองทุนผ่านการจ่ายค่าธรรมให้กับแบงก์ชาติ จึงมีต้นทุนเพิ่มทันที ทำให้ไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยตามที่ กนง.กำหนด ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ซึ่งยังไม่รวมกับการที่ประชาชนจะถูกผลักภาระให้ต้องรับผิดชอบกับต้นทุนของธนาคารที่สูงขึ้น โดยในอนาคตผู้ฝากเงินจะได้ดอกเบี้ยต่ำลง ส่วนผู้กู้จะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น
นายชวนนท์ ยังแสดงความเป็นห่วงกรณีที่สมาคมค้าข้าว ประกาศขึ้นราคาข้าวถุงร้อยละ 10 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากโครงการจำนำข้าว ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่มีรีบแก้ไขปรับปรุง จะทำให้ข้าวราคาสูงขึ้น 20 บาทต่อถุง โดยรัฐบาลชุดนี้ได้ให้ของขวัญกับประชาชนโดยการขึ้นราคาทุกอย่างพร้อมกันหมด ทั้งพลังงานและข้าว โดยภายในดือนมีนาคมประชาชนอาจจะต้องกินข้าวแกงจานละ 100 บาท จึงขอเตือนให้เตรียมตัวล่วงหน้ากับการต้องเผชิญปัญหาข้าวยากหมากแพงในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์
นอกจากนี้ ปัญหาการส่งออกที่อัตราตัวเลขลดลงร้อยละ 9.2 โดยเฉพาะยางพาราลดลงร้อยละ 15 หาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้คงต้องภาวนา เพราะไม่ง่ายเหมือนการปลุกปั่นในการชุมนุมทางการเมือง และการพูดบนเวทีให้คนหลงเชื่อ
“ผมขอให้เอาจริงเอาจังเพราะเรื่องบ้านเมืองไม่ง่ายเหมือนเกมการเมืองข้างถนน ที่นายณัฐวุฒิถนัด หวังว่าจะไม่เอายางมาเผาเพื่อให้ราคายางพาราขึ้น”
ส่วนการทำแผนบริหารจัดการน้ำและการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่นักวิชาการใน กยน.พูดชัดเจนว่าไม่มีการพูดถึงสาระแก้ปัญหาพูดแต่เรื่องการใช้เงินเพียงอย่างเดียว พยายามทำทุกวิถีทางขยายเพดานกู้เงินเพื่อมาถลุงใช้ จึงตั้งข้อสงสัยว่า จงใจให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการกู้เงินหรือไม่ ส่วนสถานการณ์น้ำยังไม่มีหลักการแก้ปัญหา แต่กลับหมกมุ่นกับการใช้เงิน โดยมีข่าวลือว่ามีการตั้งบริษัทนอมินีหักหัวคิวร้อยละ 10-20 เพื่อมารับงานจากรัฐบาล หรืออาจจะเป็นเหมือนที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พูดคือ รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้เพราะปัญหาการทุจริต ในขณะที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง