วุฒิสภาประชุมพิจารณางบประมาณ 55 วันที่ 2 ติงบกลาง 1.2 แสนล้านฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมใหญ่ ไม่ชัดเจนในแนวทางแก้อุทกภัย ติงการบริหารหนี้สาธารณะ ออก 4 พ.ร.ก.เจ้าปัญหา หวั่นส่งผลกระทบกับประชาชน ส.ว.ของแก่น แนะนายกฯ รายงานการใช้งบฯ ทุกสัปดาห์ เพื่อความโปร่งใส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (24 ม.ค.) มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาเรื่องด่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 2.3 ล้านล้านบาท ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว เป็นวันที่ 2 โดยมี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ทำหน้าที่เป็นประธาน
โดยสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่เน้นวิจารณ์การจัดสรรงบในส่วนงบกลางที่ใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลดจำนวน 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท อาทิ นางสุอำภา คชไกร ส.ว.สุโขทัย ได้ขอความชัดเจนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยแบบบูรณาการของรัฐบาล พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลใช้งบประมาณในส่วนของการฟื้นฟูประเทศให้คุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งแนะนำให้รัฐบาลทำแผนที่แต่ละลุ่มน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรประกาศให้ชัดเจนว่าจะให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมตัวและวางแผนการเพาะปลูกอย่างได้ทันเวลา
นางธันยรัศม์ อัจริยะฉาย ส.ว.ภูเก็ต อภิปรายมาตรา 9 งบประมาณในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่า มีการจัดสรรงบประมาณแบบกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดเดิมที่ได้รับประจำทุกปี อาทิ สุพรรณบุรี แต่จังหวัดที่เป็นหัวใจของการท่องเที่ยวกลับไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ทำให้กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม โดยเฉพาะแถบทะเลอันดามัน เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ จนนักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลงทุกปี พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ น้อย ทั้งที่ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
ด้าน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา อภิปรายเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 ของวุฒิสภา ด้วยการส่งรัฐมนตรีเข้าร่วมชี้แจงในประเด็นต่างๆ ไม่มองว่าวุฒิสภาเป็นเพียงเสือกระดาษที่ไม่มีอำนาจ เพราะร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฉบับนี้ แม้ว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา รัฐบาลก็สามารถใช้เสียงข้างมากผ่านได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ บรรดา ส.ว.ยังตั้งข้อสังเกตถึงการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล โดยแสดงความเป็นห่วงมาตรการกู้เงินของรัฐบาล และเป็นกังวลเรื่องการออกพระราชกำหนดเงินกู้จำนวน 4 ฉบับของรัฐบาล โดยเกรงว่า จะเป็นการโอนหนี้ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยและสร้างผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวม
สำหรับการประชุมเมื่อวานนี้ (23 มค) สมาชิกได้ใช้เวลาการอภิปรายกว่า 12 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่เป็นห่วงการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องการให้รัฐบาลคำนึงถึงความคุ้มค่าและโปร่งใส โดยเฉพาะงบกลางเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูปัญหาอุทกภัยจำนวน 120,000 ล้านบาท ซึ่งตรวจสอบการใช้จ่ายยาก นอกจากนี้ยังเป็นห่วงกรณีที่รัฐบาลเตรียมกู้เงินตามพระราชกำหนดเพิ่มอีก 350,000 ล้านบาท เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จะกลายเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย
อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม และกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการอภิปรายงบประมาณของวุฒิสภาว่า ตนเห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณ 2555 ที่เน้นโครงการป้องกันน้ำท่วมเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้าความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
ทั้งนี้ ขอให้เร่งกระจายงบประมาณลงพื้นที่ และเนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความโปร่งใสในการใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลก้อนนี้ ประกอบกับรัฐบาลกำลังถูกเฝ้าจับตาการใช้งบประมาณครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ตนขึงขอเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รายงานความคืบหน้าโครงการให้ประชาชนทราบทุกสัปดาห์ ในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คุยกับประชาชนทุกวันเสาร์ เพื่อประชาชนจะได้รับรู้รายละเอียดการใช้จ่ายงบแผ่นดินทุกขั้นตอนอย่างสบายใจ รวมทั้งอาจสั่งให้มีการรับประกันงานที่สัมปทานเพื่อลดโอกาสการคอรัปชั่น
นายประเสริฐกล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน ก็เป้นสิ่งสำคัญ เพราะจะเปิดการค้าเสรี AEC ในอีก 3 ปีข้างหน้าแล้ว คนไทยยังรับรู้ในจำนวนจำกัด ขณะที่ทุกประเทศในอาเซียนต่างตื่นตัวเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีอาเซียนอย่างเต็มที่ ดังนั้นรัฐบาลต้องรีบทำงาน วางแผนบริหารจัดการ ที่มีทั้งการตั้งรับและการบุกตลาดในต่างประเทศ
นายประเสริฐยังกล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญอีกปะการหนึ่งคือ การเปิดกว้างตลาดแรงงานให้เข้าทำงานได้ในทุกระเทศกลุ่มอาเซียน สิ่งสำคัญการแข่งขันตลาดแรงงานคือความสามารถด้านภาษา ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของแรงงานไทย แรงงานที่ไม่มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศจะเป็นกลุ่มแรกที่ถูกบีบให้ออก ซึ่งอาจจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ ทั้งนี้หากประเทศไทยยังชักช้าก็จะเสียโอกาสทางการตลาดให้ประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย