xs
xsm
sm
md
lg

“สดศรี” ติงตั้ง 34 อรหันต์แก้ รธน.เป็นเผด็จการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม (แฟ้มภาพ)
“สดศรี” ชี้ตั้ง 34 อรหันต์แก้ รธน.เป็นเผด็จการ ระบุไม่มีทางเท่าเทียมเรื่องสี เสนอทำประชามติถาม ปชช.ก่อนอยากใช้ รธน.40 หรือ 50

วันนี้ (16 ม.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาให้แก้มาตรา 291 ว่า การแก้มาตรา 291 นั้นเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนที่มีการตั้งคณะกรรมการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมองว่าจะเป็นเผด็จการหรือไม่ เพราะว่าไม่มีตัวแทนที่มาจากประชาชน ที่จริงแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะมีมุมมองที่ไม่ต้องแก้มาตรา 291 หรือไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร. แต่ต้องทำประชามติโดยให้เลือกระหว่างว่าจะรับรัฐธรรมนูญปี 40 หรือรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งจะเป็นที่เรื่องง่ายโดยเอามาตรา 291 เข้าพิจารณา 3 วาระในสภา แบบที่เมื่อปีที่แล้วที่พรรคประชาธิปัตย์เคยแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 มาตราโดยที่ไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร.และสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 2 เดือน รวมทั้งปรับแก้กฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญก็ใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น ดังนั้น หากตั้ง ส.ส.ร.ที่ไม่ได้มาจากประชาชนก็ไม่สมควรตั้งขึ้น

ส่วนกรณีที่ คอ.นธ.เสนอรายชื่อกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 34 คนนั้น ยังไม่ได้เห็นรายชื่อว่ามีบุคคลใดอยู่ในกรรมการชุดนี้บ้าง แต่หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนำบุคคลที่ประชาชนไม่เห็นด้วยก็อาจส่งผลให้เกิดข้อครหาในสังคมได้ สำหรับที่รายชื่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ คอ.นธ.เสนอ มีทั้งสีเหลือง สีแดง ก็ต้องมีจำนวนเท่าๆ กัน จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีจำนวนมากกว่าคงจะไม่ดี อีกทั้งต้องสอบถามความสมัครใจของผู้ที่จะเข้าร่วมเป็นกรรมการยกร่างว่ามีความสมัครใจหรือไม่ เพราะขณะนี้มีหลายคนที่ออกตัวที่จะไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้ หรือถ้าจะมีก็ให้ออกเป็น พ.ร.บ.สมานฉันท์ ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นำบุคคลที่มาจากหลากสีมารวมกัน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประนีประนอมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางของ คอ.นธ.ที่เสนอวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นช่วยประหยัดงบประมาณและเวลา แต่การตั้ง ส.ส.ร.เป็นการใช้งบประมาณและเวลาที่สิ้นเปลือง นางสดศรีกล่าวว่า การตั้ง ส.ส.ร.มีขั้นตอนกระบวนการยุ่งยากกว่า ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า ถ้าจะให้เร็ว ก็แค่ดำนเนินการไปตามมาตรา 291 และผ่านเข้าสภาเลย ส่วนถ้าจะมีการพิจารณาปรับโละองค์กรอิสระลงนั้น มองว่าต้องดูเหตุผลว่ามีหลักหรือความคิดอย่างไร ในการที่เปลี่ยนบุคคลเหล่านั้น เพราะสิ่งที่จะปรับเปลี่ยนได้น่าจะเป็นเรื่องของการถอดถอน โดยทางสภาก็มีสิทธิและอำนาจในการถอดถอนบุคคลที่ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระได้ หากบุคคลดังกล่าวทำผิดพลาดหรือกระทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประเด็นอยู่ว่าองค์กรอิสระไม่ได้ทำงานตามที่ตั้งธงไว้หรือไม่ แต่ถ้าเห็นว่าการทำงานขององค์กรอิสระทำให้เกิดความผิดพลาดต่อการบริหารงานของประเทศ คนที่คิดแก้ไขหรือปรับปรุงองค์กรอิสระต้องมีเหตุผลและสามารถชี้แจงให้ประชาชนทราบ
กำลังโหลดความคิดเห็น