xs
xsm
sm
md
lg

มติวิปรัฐแก้ ม.291 ตั้ง ส.ส.ร.3 คาดต้น ก.พ.เริ่มได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานวิปรัฐบาลอ้างชาวบ้านหนุนแก้รัฐธรรมนูญ ยันเริ่ม ม.291 ผุด ส.ส.ร.3 โยน กมธ.สรรหาวิธีการ รอล่าชื่อครบจัดการเลย คาดต้น ก.พ. แย้มรัฐอาจชงร่างฯ เอง รับข้อเสนอ คอ.นธ.ขาดภาคประชาชน ส่อยึดกรอบตั้ง ส.ส.ร.ยุค 40 ลั่นต้องทำประชามติหลังยกร่างฯ เสร็จ

วันนี้ (9 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.20 น. นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า วิปรัฐบาลได้มีการหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองต่างๆ ได้ลงไปสอบถามประชาชนพบว่าได้รับการสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้เรายังคุยกันโดยยึดหลักเหมือนเดิมคือจะแก้ไขเฉพาะมาตรา 291 เพื่อเปิดโอกาสให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) ว่าจะมีที่มาอย่างไร แต่สรุปสุดท้ายแล้วคงจะต้องให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการที่จะพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะกำหนดให้ ส.ส.ร.มาจากหน่วยงานใดบ้าง และมาด้วยวิธีการใด

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะดำเนินการแก้ไขมาตรา 291 เมื่อใด นายอุดมเดชกล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่ามามีการรวบรวมรายชื่อของภาคประชาชนอยู่ หากครบเมื่อใดคาดว่าจะเสนอมาทันที ในส่วนของ ส.ส.เองก็เช่นเดียวกัน มีส่วนหนึ่งตั้งใจที่จะร่วมเสนอร่างแก้ไขมาตรา 291 แต่ถ้าถามว่าเมื่อใดก็ต้องดูว่ารวบรวมรายชื่อครบเมื่อใด เมื่อถามว่า ต้นเดือนกุมภาพันธ์จะสามารถเริ่มกระบวนการได้หรือไม่ นายอุดมเดชกล่าวว่า ความรู้สึกของตนน่าจะได้ หลังจากนี้อีก 1-2 สัปดาห์น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยรัฐบาลกำลังฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งจากภาคประชาชน ส.ส. นักวิชาการ ให้รอบด้าน จากนั้นก็อาจจะเป็นรัฐบาลที่เป็นคนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

นายอุดมเดชกล่าวว่า ยืนยันว่าการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.เพราะต้องการให้เกิดการยอมรับกับรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขใหม่ โดย ส.ส.ร.จะเป็นผู้ลงรายละเอียดว่าควรที่จะแก้ไขในมาตราใดบ้าง ส่วนโมเดล ส.ส.ร.นั้น ทุกวันนี้เรายังฟังความคิดเห็นของผู้ที่หวังดี ไม่ว่าจะเป็นคณะใดๆ ทุกคนที่เสนอความเห็นมาคือคนที่ยอมรับแล้วที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นทุกคนที่เสนอที่มาของ ส.ส.ร.ตนถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี โดยเราจะนำมาพิจารณากันอีกครั้งในรายละเอียด แต่ที่มาของ ส.ส.ร.นั้นหลักๆ ต้องมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) นั้น นายอุดมเดชกล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งความเห็นที่จะรับไว้พิจารณา แต่ว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะขาดหายไปในส่วนนี้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าผู้มีรายชื่ออยู่ทั้ง 34 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สังคมยอมรับ และมีความเชี่ยวชาญในด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ โดยไม่มีใครปฏิเสธคุณสมบัติ เพียงแต่บางครั้งเราเห็นว่าที่มายังไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่มาของ ส.ส.ร. หากจะดูโมเดลของ ส.ส.ร.1 ส่วนหนึ่งจะมาจากตัวแทนจากทุกจังหวัด และอีกกลุ่มมาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งหากเรายึดกรอบที่มาของ ส.ส.ร.1 บุคคลทั้งหลายที่มีรายชื่ออยู่ใน 34 คนก็ถือว่าเป็นคนที่มีคุณสมบัติที่จะสามารถไปอยู่ในจำนวนตัวแทนของกลุ่มสาขาวิชาชีพเฉพาะทางได้ ขณะที่การทำประชามตินั้น ส่วนตัวคิดว่าจำเป็น ซึ่งน่าจะทำหลังจากที่ ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

“ในขั้นตอนการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 291 อาจจะมีการเสนอกรอบที่มาของ ส.ส.ร.ไว้คร่าวๆ แต่สุดท้ายคนที่สรุปก็คือกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะฟันธงจะให้ ส.ส.ร.มีที่มาอย่างไร” นายอุดมเดชกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น