xs
xsm
sm
md
lg

กสม.รับเหยื่อละเมิดแดงชุมนุมอัดยับ เหตุผลสรุปล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอมรา พงศาพิชญ์
ที่ประชุม กสม.แถลงผลสรุปการปฏิบัติงานปี 54 ระบุ เรื่องกระบวนการยุติธรรมถูกร้องเรียนมากสุด ถูกอัดยับผลสอบเหยื่อละเมิดแดงเผาเมืองล่าช้า คาด ต้นเดือน ก.พ.ได้ข้อสรุปเพียงบางส่วน รับตั้งคณะทำงานศึกษา ม.112 ช้าเหตุยังลังเล ขณะที่ “ไพบูลย์” ระบุ กสม.ศึกษาในมิติเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ควบคู่การรักษาพระเกียรติ

วันนี้ (12 ม.ค.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการสิทธิฯ ได้ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานในรอบปี 2554 ว่า มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวน 1,029 เรื่อง เข้าเงื่อนไขรับคำร้อง 608 เรื่อง พบว่า เรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุด คือ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม รองลงมาเป็นการจัดการที่ดิน สิทธิชุมชน สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิทางการเมือง

ส่วนการทำงานของกรรมการสิทธิฯ 2 ปีที่ผ่านมา ได้ตรวจสอบและเห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบแล้ว 629 เรื่อง และให้ดำเนินการติดตามมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน จำนวน 299 เรื่อง เช่น กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกระทำทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่ไร้มนุษยธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล กรณีขอให้ตรวจสอบการเสียชีวิตของชาวโรฮิงญาในห้องกัก กรณีพิพิธภัณฑ์ของวัดพระบาทน้ำพุ ถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิผู้ติดเชื้อเอดส์ นอกจากนี้ ได้ดำเนินการฟ้องคดีด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 การคุ้มครองสิทธิผู้สอบคัดเลือกศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต

สำหรับเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อนสรุปเสนอต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ อาทิ ร่างรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 เรื่องดังกล่าวคาดว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์ น่าจะมีรายงานออกมาได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในการทำงานต่อไปจะเน้นงานเชิงยุทธศาสตร์ เช่น การตรวจเยี่ยมสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ เรือนจำ สถานีตำรวจ สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ด่านตรวจคนเข้าเมือง

เมื่อถามว่า กรรมการสิทธิฯมีจุดยืนอย่างไรต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 นางอมรา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวกรรมการสิทธิดำเนินการใน 2 ส่วน 1 ส่วนของคำร้องก็ให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองดำเนินการพิจารณา 2.ในส่วนของกรรมการสิทธิฯทั้งชุดยังไม่ตึกผลึก ยังคุยและศึกษากันอยู่ แต่ที่กรรมการเห็นตรงกัน คือกรรมการสิทธิฯจะพิจารณาเรื่องนี้ในมิติของสิทธิมนุษยชน จะไม่เกี่ยวกับประเด็นการเมืองที่ขณะนี้ถูกโยงไปมาก ซึ่งเหตุที่กรรมการสิทธิฯเพิ่งจะเคลื่อนเรื่องนี้ ทั้งที่ได้รับเรื่องมานานแล้วก็เพราะตอนแรกลังเลๆ กันอยู่ แต่กรณีนี้กรรมการสิทธิฯ เห็นว่า ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ทั้งนี้ ก็คิดว่า ปลายปี 55 ก็น่าจะทราบจุดยืนของกรรมการสิทธิฯต่อเรื่องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแถลงข่าวปรากฏว่า ประธาน กสม.ถูกผู้ที่เคยมายื่นเรื่องร้องเรียนสอบถามถึงความคืบหน้าของการสอบสวนเรื่องที่ได้ร้องเรียน อย่างกรณีการเลิกจ้างพนักงานของบริษัท ไทรอัมพ์ ที่เคยชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อปี 52 และถูกเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องแอลแรค หรือเครื่องส่งคลื่นความถี่สูง ในการสลายการชุมนุม เหตุใดกรรมการสิทธิฯจึงตรวจสอบล่าช้าจนขณะนี้แกนนำถูกอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว หรือกรณีมารดาของ น.ส.กมลเกศ อัคฮาด ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุม ปี 2553 ก็เดินทางมาทวงถามความคืบหน้าของการสอบสวนกรณีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง รวมทั้งมีการตั้งคำถามว่าเหตุใดกรรมการสิทธิฯจึงไม่ช่วยเหลือให้ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงที่กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ได้รับสิทธิในการประกันตัว

ซึ่ง นางอมรา ก็ได้พยายามชี้แจงว่า กรณีของ น.ส.กมลเกศ นั้น ได้เคยแจ้งให้ญาติทราบแล้วว่าช่วงปลายเดือนนี้กรรมการสิทธิฯจะมีการรายงานผลการตรวจสอบกรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงแต่ก็จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นยังไม่ใช่ทั้งหมด ส่วนกรณีของพนักงานไทรอัมพ์นั้นทางกรรมการสิทธิฯมีข้อสรุปและยุติเรื่องไปแล้ว แต่แม้หากเรื่องนี้ยังไม่ยุติ ถ้าเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลยุติธรรมแล้ว ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.กรรมการสิทธิมนุษยชน กรรมการสิทธิฯก็ต้องหยุด สร้างความไม่พอใจให้กับพนักงานไทรอัมพ์ที่มาติดตามเรื่องและมองว่า หากกรรมการสิทธิฯทำรายงานผลการตรวจสอบออกมาเร็วก็อาจจะช่วยในเรื่องให้ไม่ถูกสั่งฟ้องได้ รวมทั้งยังมีการท้วงติงว่า กรรมการสิทธิฯจะต้องแยกการตรวจสอบให้ออกระหว่างคดีที่ผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมุนษยชน เพราะถ้าคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลฯแล้วกรรมการสิทธิฯหยุดการตรวจสอบก็ไม่น่าจะถูกต้อง

ด้าน นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิฯ กล่าวถึงการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษากรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ประเด็นที่ศึกษาจะเป็นในแง่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และการรักษาพระเกียรติยศ ว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ไปด้วยกันได้ เราไม่เคยพูดว่าจะไปแก้ไข ส่วนเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 ที่เป็นคนเสื้อแดงนั้นกฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวไว้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมจะพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น