กมธ.กฎหมาย สภาฯ ประชุม พ.ร.บ.กลาโหม “ประชา” ข้องใจผ่าน สนช.เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง แถมให้ รมว.กห., ผบ.ทัพ ตั้งนายพล ส่อขัด พ.ร.บ.ระเบียบราชการแผ่นดิน ต้องแก้ ม.25 และ ม.42 ให้คนนอกแจมนั่งสภากลาโหม อ้างทหารจะทำตัวเป็นองค์กรอิสระ ไม่เป็นประชาธิปไตย นายกฯ จุ้นไม่ได้ ด้าน ผช.กรมพระธรรมนูญ ค้าน ยันไม่มีปัญหา ชี้ มองกองทัพเหมือน สตช.ไม่ได้ ยัน กม.เข้า ครม.ตั้งแต่ยุค “แม้ว” ขณะที่ อดีตเลขาฯ สนช.ยันออก กม.ถูกต้อง
วันนี้ (11 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยมี พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นเสน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งได้มีวาระการพิจารณาศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านความเห็นชอบพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.กลาโหมฯ) ด้วยคะแนนเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ ก่อนมีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ.2551 ตามที่ นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานรองประธาน กมธ.กฎหมายฯ เป็นผู้เสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณา ทั้งนี้ที่ประชุมได้เชิญตัวแทนของหน่วยงานทหาร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขาธิการ สนช.มาให้ข้อมูล
โดย นายประชา ได้กล่าวเสนอเรื่องต่อที่ประชุม ว่า การผ่าน พ.ร.บ.กลาโหม ด้วยเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งนั้น มีข้อถกเถียงว่ายังคงสถานะของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ด้วยหรือไม่ อีกทั้งในมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้นำเหล่าทัพพิจารณาแต่งตั้งทหารชั้นนายพลนั้น ถือว่าขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ในมาตรา 11 ที่ให้อำนาจนายกฯ ฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ เพราะนายกฯที่ถือว่าใช้อำนาจแทนประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจ
นายประชา กล่าวอีกว่า ตนมีข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาและแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม จำนวน 2 ข้อ ได้แก่ 1.แผน 3 เดือนให้แก้ไขในมาตรา 25 ในส่วนของการแต่งตั้งทหารชั้นนายพล และแก้ไขมาตรา 42 เรื่องสมาชิกของสภากลาโหม เกือบ 30 คน แต่ไม่สามารถที่จะมีอำนาจในการมีส่วนร่วมในการพิจารณาให้ความเห็นในการแต่งตั้งนายทหารระดับสูงได้ มีหน้าที่เป็นเพียงสภาตรายางเท่านั้น และที่สำคัญ การประชุมสภากลาโหมแต่ละครั้งผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับเบี้ยประชุมคนละ 8,000 บาทต่อครั้ง สำหรับแนวทางแก้ไขนั้น ควรเพิ่มสมาชิกที่มาจากการคัดเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกสภากลาโหมด้วย
“เมื่อพิจารณาในประเด็นดังกล่าวแล้ว ผมมีความเห็นว่าหน่วยงานทหารกำลังเตรียมตัวเป็นรัฐอิสระ หรือ เป็นองค์กรอิสระ” นายประชา กล่าว
นายประชา กล่าวต่อว่า ข้อ 2 คือ แผน 1-3 ปี คือ การศึกษากฎหมายดังกล่าวทั้งฉบับ เพราะขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ดังนั้น จะใช้ พ.ร.บ.กลาโหม พ.ศ.2551 อีกจะเหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งกังวลว่าหากหน่วยงานหรือกระทรวงอื่นนำเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวไปปรับปรุกฎหมายของหน่วยงาน จะทำให้เกิดปัญหา ที่ว่านายกฯฝ่ายบริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่สามารถเข้าไปร่วมพิจารณาแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งที่สำคัญได้
ทั้งนี้ พล.ต.นิวัฒน์ ศิริเพ็ญ ผู้ช่วยเจ้ากรมพระธรรมนูญ ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้แทน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า พ.ร.บ.กลาโหม พ.ศ.2551 นั้นเป็นกฎหมายที่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยตนในฐานะผู้ปฏิบัติยังไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น แต่เมื่อมีข้อท้วงติง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้เรียกผู้นำเหล่าทัพเข้าหารือ ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายของผู้บังคับบัญชา สำหรับข้อกังวลในมาตรา 25 นั้น ยอมรับว่าได้เขียนเพื่อแยกส่วนอำนาจของทหาร และการเมืองให้เกิดความชัดเจน เพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงาน ส่วนข้อกังวลที่ว่านายกฯ ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแต่งตั้งนายทหารได้นั้น ต้องไม่นำตัวอย่างการแต่งตั้งนายตำรวจมาเปรียบเทียบกับทหาร เพราะปฏิบัติงานคนละหน้าที่ อีกทั้งส่วนของตำรวจนั้น นายกฯ ถือว่าเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จึงมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
“ส่วนการลงคะแนนเห็นชอบกฎหมายที่ทาง กมธ.ระบุว่า ผ่านด้วยเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งนั้น หากจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผมมองว่าเมื่อกฎหมายได้รับการประกาศใช้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญคงไม่สามารถรับเรื่องได้ แต่หาก กมธ.ติดใจสามารถนำบางมาตราให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร” พล.ต.นิวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารในส่วนงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงด้วยว่า พ.ร.บ.กลาโหมฯนั้น ได้เริ่มเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลการพิจารณาครั้งนั้นพบว่า ครม.ได้อนุมัติในหลักการและส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาในถ้อยคำของกฎหมาย แต่ก่อนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาเสร็จ ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นก่อน ดังนั้น เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ เข้ามาทำหน้าที่ ทางสำนักงานกฤษฎีกาจึงได้ส่งร่างกฎหมายให้กระทรวงพิจารณาแก้ไข ก่อนที่ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายและประกาศใช้
จากนั้น กมธ.ได้สอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรา 25 ตามร่างที่เสนอ ครม.ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ และร่างที่ได้รับการพิจารณาเป็นกฎหมายนั้นมีได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดย พ.อ.โอภาส ลิ่วศิริวงษ์เจริญ ผู้อำนวยการกองแผนการกำลังพล ชี้แจงว่า ได้มีการแก้ไข จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดตัวบุคคลและหลักเกณฑ์ที่ดำเนินการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ได้ระบุให้มีความชัดเจน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในการประชุมดังกล่าวนั้น ได้มีการถกเถียงระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ต่อประเด็นการผ่านกฎหมายที่ลงคะแนนเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งมีความถูกต้องหรือไม่ โดย นายประชา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านกฎหมายดังกล่าวนั้น บ้านเมืองอยู่ในช่วงของการรัฐประหาร ยึดอำนาจของผู้บริหารประเทศ ดังนั้น วันนี้เป็นการศึกษากฎหมายดังกล่าว ว่า เมื่อผ่านกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว โดยไม่มีเสียงคัดค้าน แต่ได้รับเสียงลงมติไม่ถึงกึ่งหนึ่ง กฎหมายฉบับนี้จะได้รับการยอมรับหรือไม่ หรือมีผลบังคับใช้หรือไม่
จากนั้น นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่ นายประชาเสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมพิจารณา เป็นการเสนอส่วนตัวหรือได้รับมติจากพรรคเพื่อไทยนำมาเสนอ ซึ่ง นายประชา ชี้แจงว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ที่ถือว่าเป็นฝ่ายบริหาร นายสุทัศน์ จึงได้กล่าวว่า สิ่งที่ตนสอบถามไม่มีเจตนาแอบแฝง แต่ในทางปฏิบัติของพรรคประชาธิปัตย์ กรณีที่ ส.ส.จะเสนอเรื่องใดให้กรรมาธิการ พิจารณาต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมพรรคก่อน อย่างไรก็ตามประเด็นที่ระบุว่าการออกกฎหมายดังกล่าวมีความชอบธรรมหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าหากพิจารณาตามหลักการของกฎหมายมีความชอบธรรม และมีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ เพราะผ่านการกลั่นกรองจากกฤษฎีกา ผ่านการพิจารณาของ สนช.มีการตั้ง กมธ.วิสามัญเสนอ รวมถึงผ่านกระบวนการลงมติในวาระ 2 และวาระ 3 ส่วนที่ระบุว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาช่วงการรัฐประหารนั้น ไม่ถือเป็นปัจจัย เพราะขณะนี้ประเทศได้มีการมอบอำนาจให้ สนช.ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
จากนั้นที่ประชุมได้ให้ นางวรารัตน์ อติแพทย์ รองเลขาธิการวุฒิสภา ผู้แทนของเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งเคยทำหน้าที่เลขาธิการ สนช.ชี้แจงว่า พ.ร.บ.กลาโหม ได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เมื่อวันที่ 24 ต.ค.50 โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการ และตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา ด้วยคะแนน 83 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ทั้งนี้ มีผู้ลงชื่อเข้าประชุมจำนวน 197 คน จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 249 คน จากนั้นวันที่ 20 ธ.ค.50 ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระ 2 และ 3 โดยมี สนช.เห็นชอบกับกฎหมายเป็นเอกฉันท์ จำนวน 85 เสียง จากผู้ที่ลงชื่อประชุมทั้งสิ้น 212 คน โดยวันดังกล่าวมีจำนวนสมาชิก สนช.ทั้งสิ้น 240 คน
ทั้งนี้ นายประชา ได้สอบถามว่า เมื่อ สนช.ลงมติผ่านกฎหมาย ด้วยเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ถือว่ากระบวนการออกกฎหมายนั้นใช้ได้ โดย นางวรารัตน์ กล่าวว่า โดยระเบียบของที่ประชุมนั้นได้ระบุไว้ว่า การให้ความเห็นชอบกฎหมายฉบับใดให้นับเสียงข้างมาก ส่วนองค์ประชุมนั้นให้ถือเอาจำนวนผู้ที่ลงชื่อเข้าร่วมประชุมเป็นเกณฑ์ จนกว่าจะมีการขอให้นับองค์ประชุมใหม่ ดังนั้นแม้ว่าการลงมติเห็นชอบ พ.ร.บ.กลาโหมฯ จะมีเพียง 85 เสียงก็ถือว่าเป็นการออกกฎหมายที่ถูกต้องตามขั้นตอน ทั้งนี้หลังจากที่ประชุม สนช.ผ่านกฎหมายแล้ว ไม่พบว่ามีผู้คัดค้าน พ.ร.บ.กลาโหมฯจึงถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้
“ที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์ ที่สภาผู้แทนราษฎร ผ่านกฎหมายโดยเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรีฯ ที่สภาฯ ลงมติผ่านร่าง เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2542 ด้วยจำนวนเสียง 150 เสียง จากผู้ที่มาลงชื่อเข้าร่วมประชุม 340 คน และ พ.ร.บ.ชั่งตวงวัดฯ ด้วย” นางวรารัตน์ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของที่ประชุม พล.ต.อ.วิรุฬห์ ได้ระบุว่าในประเด็นการศึกษานั้นได้มอบหมายให้ นายประชา เป็นผู้ไปดำเนินการ และให้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้งหลังจากที่ศึกษาแล้วเสร็จ