xs
xsm
sm
md
lg

“อุกฤษ” เมินเสียงค้าน ดันตั้ง 34 คนแก้ รธน.ใน 60 วัน เล็งชงร่างฯ คู่รัฐด้วย ปัดรับใบสั่ง “นช.แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการองค์กรอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอนธ.)แถลงข่าวไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)ที่จะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาค,มีค่าใช้จ่ายสูง,ไม่เป็นธรรมและเสียเวลาอีกเป็นปี ที่มูลนิธิพีรยานุเคราะห์ ซอยพหลโยธิน 47 เมื่อ 10 ม.ค.
ประธาน คอ.นธ.เผยเล็งชงนายกฯ แก้ระเบียบ สตช.กฎจราจรห้าม ตร.ยึดกุญแจรถ-ใบขับขี่ เสนออธิบดีราชทัณฑ์แก้หลักประกันตัว-เครื่องพันธนาการนักโทษ ค้านแก้อาญา ม.112 แต่จ่อชง สตช.ตั้งกุนซือกลั่นกรองคดีหมิ่นเพิ่ม ย้ำหนุนตั้ง 34 นักวิชาการแก้ รธน.ใน 60 วัน ถ่ายสดประชุมทุกนัด ไม่รับเบี้ยประชุม พร้อมยกร่างฯ เสนอคู่รัฐบาลด้วย ชี้เลือก ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คนขัดเสมอภาค แถมงบบาน ยันไม่ได้รับใบสั่งจากใคร สุจริตใจมากๆ


วันนี้ (10 ม.ค.) นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) แถลงข่าวถึงข้อเสนอแนะ คอ.นธ.ในการแก้ไขการบังคับใช้กฎหมายและแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นธรรมว่า หลังจากที่ คอ.นธ.สรุปรายงานความคืบหน้าการทำงานของ คอ.นธ.รอบ 3 เดือน และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นหลักนิติธรรม 5 ประเด็นแล้ว วันนี้จะส่งรายงานให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีรับทราบและพิจารณา เช่น การบังคับใช้กฎหมายจราจร ที่เห็นสมควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ออกระเบียบปฏิบัติภายในเพิ่มเติม เช่น กำหนดให้การออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับนั้น เจ้าพนักงานจะต้องไม่เรียกเก็บใบอนุญาตไว้ก่อน และจะต้องไม่มีการยึดกุญแจรถ หรือการเปรียบเทียบค่าปรับในข้อหาความผิดเล็กน้อยที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายผู้ใช้รถใช้ถนน ให้อยู่ที่ 100 บาท และข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาและจำเลย คอ.นธ.เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาแนวทางบังคับใช้กฎหมายด้วยการยึดมั่นหลักความยุติธรรม เสมอภาค และควรใช้ดุลพินิจในกรอบของกฎหมายและหลักเมตตาธรรม

“ปัญหาอยู่ที่ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่ที่ไหน หมดสมัยแล้วที่เราจะมานั่งให้ข้าราชการกดขี่ข่มเหงประชาชน เราจะเสนอแนะให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมกับอดีตอัยการสูงสุดที่เป็น คอ.นธ.หาทางแก้ไขเรื่องหลักประกันที่สูง เรื่องเครื่องพันธนาการ” ประธาน คอ.นธ.ระบุ

นายอุกฤษกล่าวว่า ส่วนปัญหาการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลายคนออกมาพูดเรื่องนี้ว่าแก้ไม่แก้ ซึ่งที่น่าห่วงคือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายท่าน บอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วเอามาตรา 112 เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกันเพราะมาตรา 112 เป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเลย จึงทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ตนจึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยกันตรวจสอบว่าผู้ให้ข่าวเหล่านั้นด้วยว่าได้อ่านหนังสือหรือไม่ ส่วนความเห็นของ คอ.นธ.เรื่องมาตรา 112 ที่จะเสนอรัฐบาล เห็นว่ายังไม่สมควรแก้ไข แต่การดำเนินคดีที่ทำอยู่ยังไม่รัดกุม โดยพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ออกมายิ่งทำให้ถูกการเมืองนำเอากฎหมายเหล่านี้มาใช้เล่นงาน จึงจะเสนอ ให้ สตช.ตั้งคณะที่ปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิทุกด้านที่มีความเป็นกลาง นับถือสถาบัน มีความรู้ลึกซึ้ง มาเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของ สตช. เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นไปอย่างรอบคอบ

สำหรับข้อเสนอกระบวนการและขั้นตอนแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ นายอุกฤษกล่าวว่า คอ.นธ.เห็นควรการแก้รัฐธรรมนูญฯ ให้ดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์บทบัญญัติมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ที่ไม่จำเป็นต้องแก้มาตรา 291 เพื่อให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ชุดที่ 3 แต่ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา 34 คน จากนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ให้เสร็จภายใน 60 วัน อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะมีคณะบุคคลใดดูแลการยกร่าง คอ.นธ.ยังมีเงื่อนไขด้วยว่า ขอให้มีการถ่ายทอดตลอดเวลาการประชุมเพื่อเป็นการให้การศึกษากับประชาชนในเบื้องต้นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหน ดีไม่ดีอย่างไร ก่อนที่จะมีการตกผลึกเสนอร่างต่อสภา ขณะที่ส่วนของ คอ.นธ.เองจะยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับฉบับของรัฐบาลด้วย ซึ่ง คอ.นธ.เห็นว่ารัฐธรมนูญควรแก้เป็นมาตราเป็นจุดๆ ไป

นายอุกฤษกล่าวอีกว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้มี ส.ส.ร.เหมือนปี 2539 นั้น เพราะ ส.ส.ร.ที่จะให้เลือกมาจาก 77 จังหวัดๆ ละ 1 คนนั้น อยากถามว่าประชากรในแต่ละจังหวัดเท่ากันหรือไม่ เช่น จ.ระนอง 2 แสนคน กทม. 6 ล้านคน ถ้าให้มี ส.ส.ร.1 คนจากจังหวัดก็จะขัดหลักความเสมอภาค ความเป็นธรรม ซึ่งนี่คือหน้าที่ของ คอ.นธ. นอกจากนี้ ถ้าจะให้มี ส.ส.ร. จะเลือกจากใคร จะให้คนที่มาแก้ไขไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญมาก่อนเลยก็ไม่ได้และในการเลือกจะมีการครอบงำหรือไม่ อีกทั้งเมื่อมี ส.ส.ร.ยังต้องมีการใช้งบประมาณ ในอดีต ส.ส.ร.มีการใช้งบเดินทางไปดูงานที่ต่างๆ มีความจำเป็นเพียงใด ซึ่งเคยมีการใช้งบดูงานต่างประเทศถึง 20 ล้านบาทแล้วกลับได้รัฐธรรมนูญที่ไม่เข้าหลักนิติธรรมเลยเป็นหัวมงกุท้ายมังกร

นายอุกฤษกล่าวต่อว่า โดย ส.ส.ร.ชุดแรกมีการใช้งบ 1,000 ล้านบาทเอาไปใช้ส่วนใดบ้าง ถ้าจะให้มีการตั้งคณะบุคคล 34 คน ดูแลยกร่างที่ คอ.นธ.เสนอตนพร้อมที่จะขอให้ทุกคนไม่รับเบี้ยประชุม ค่าตอบแทนที่จะดำเนินยกร่าง ก็จะประหยัดงบประมาณที่จะได้เอาไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมดีกว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่ว่า คอ.นธ.ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพราะจะให้มีคณะบุคคล 34 คนแทน ส.ส.ร.นั้น คอ.นธ.ทำตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ว่าการเสนอแก้ รธน.มาจาก 3 ทาง คือ คณะรัฐมนตรี สภา และประชาชนลงชื่อ 50,000 คน อย่างไรก็ดี หาก คอ.นธ. รายงานข้อเสนอแนะไปแล้ว รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี จะพิจารณานำไปเป็นแนวปฏิบัติหรือไม่ คอ.นธ.ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ต่อไปซึ่งยังมีเรื่องปัญหาคอรัปชั่นที่เป็นเรื่องใหญ่จะต้องศึกษาแก้ไขอีก

อย่างไรก็ตาม นายอุกฤษกล่าวยืนยันด้วยว่า การทำงานของ คอ.นธ.เป็นอิสระไม่ได้ขึ้นอยู่ในอำนาจของรัฐบาล ไม่มีการรับใบสั่งจากใคร หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาก่อการร้าย ซึ่งข้อเสนอของ คอ.นธ.เป็นเรื่องที่สุจริตใจมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น