ผ่าประเด็นร้อน
แม้ว่าในที่สุดแล้วการก่อม็อบปิดถนนของกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งหลายรูปแบบ ทั้งแท็กซี่ รถบรรทุกขนส่งสินค้า รถร่วมขนส่งมวลชนฯ จะสลายตัวไป หลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลยอมรับข้อเสนอด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาทบทวนการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีออกไปเป็นเวลา 4 เดือน รวมไปถึงการผ่อนปรนเงื่อนไขเรื่องบัตรเครดิตพลังงานออกไปอีก เป็นผลพลอยได้ตามมา ซื้อเวลาออกไปอีก
แม้ว่าม็อบจะสลายภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่มีการปิดถนนเส้นทางสายหลักเพื่อต่อรอง ทำให้การเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่จะเดินทางเข้าออกกรุงเทพฯ จะต้องเป็นอัมพาตเมื่อวันจันทร์ สร้างความชุลมุนไปพอสมควร ซึ่งก็ได้ผลทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ ทักษิณ ชินวัตร ต้องรีบลนลานยอมอ่อนข้อชั่วคราวก็ตาม
แม้ว่าการชุมนุมปิดถนนของกลุ่มรถขนส่งครั้งนี้อาจจะมี “เบื้องหลัง” บางอย่าง เพราะมีทั้งกลุ่มนายทุน เจ้าของอู่รถแท็กซี่ ผู้ประกอบการรถขนส่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เรียกได้ว่าสามารถสร้างแรงกดดันอย่างได้ผล
อย่างไรก็ดี ผลจากการก่อม็อบของกลุ่มคนดังกล่าวมองอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นการทำให้เกิดอาการ “เสียความรู้สึก” ในหมู่คนกันเองขึ้นมาไม่น้อย เพราะรับรู้กันอยู่ว่า ทั้งแท็กซี่ คนขับรถ รวมไปถึงเจ้าของอู่ทั้งหลายแหล่ล้วนเกือบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ชื่นชอบ ทักษิณ ชินวัตร เรียกว่าเป็นคนเสื้อแดงว่างั้นเถอะ
แต่คราวนี้เหมือนกับว่าเป็น “ทางบังคับ” จำเป็นต้องเผชิญหน้าเลี่ยงกันลำบาก เนื่องจากมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องเลือกผลประโยชน์นำหน้ามาก่อน มันจึงไม่อาจปล่อยให้ผ่านเลยไปได้
แน่นอนว่าการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จากปัจจุบันกิโลกรัมละ 8.50 บาทเป็น 14.50 บาท โดยอ้างว่าเพื่อสะท้อนต้นทุนซึ่งจะใช้วิธีทยอยปรับขึ้นไปทีละ 50 สตางค์เริ่มจากวันที่ 16 มกราคมเป็นต้นไป แม้จะอ้างว่าหากจะให้คุ้มทุนจริงๆ ก็ต้องปรับขึ้นราคาให้ไปถึง 15 บาทกว่า แค่นี้ยังถือว่าปราณีแล้วอะไรประมาณนั้น
การปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีเที่ยวนี้ยังมีผลไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ก๊าซประเภทนี้ด้วยโดยจะมีการปรับขึ้นในอีกราคาหนึ่ง ซึ่งก็อ่วมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่ราคาพลังงานถือว่าเป็นต้นทุนหลักไม่ต่ำกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงงานเซรามิคในภาคเหนือ โรงบ่มยา เป็นต้น คนเหล่านี้ก็ล้วนเป็นแฟนคลับของ ทักษิณ ไม่น้อย
ที่น่าสังเกตก็คือ การปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีของบริษัท ปตท.ดังกล่าวก็เกิดคำถามตามมาว่าข้ออ้างที่บอกว่าตัวเอง “ขาดทุน” นั้นมันขาดทุนประเภทไหนกันแน่ เป็นการ “ขาดทุนกำไร” หรือเปล่า เพราะผลประกอบการในแต่ละปีรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่าแสนล้านทุกปี
ขณะเดียวกัน หากจะพิจารณา ปตท.ก็ต้องมองย้อนกลับไปเมื่อตอนที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแห่งนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จากเดิมเป็นของรัฐทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เปิดทางให้เอกชนประเภทต่างๆ เข้ามาถือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่ารัฐจะยังถือหุ้นใหญ่ อ้างว่าเป็นของรัฐ แต่จำนวน 49 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือละเป็นเอกชนต่างชาติ พวกนักการเมืองตระกูลดังๆทั้งสิ้น และเมื่อเปิดให้จอง “ซื้อหุ้นกำมะลอ” ก็ขายเกลี้ยงในไม่กี่วินาทีและฟันกำไรกันอู้ฟู่
ที่สำคัญมีการสงสัยกันมานานแล้วว่า ทักษิณ ถือหุ้นอยู่ใน ปตท.ในลักษณะ “นอมินี” หรือไม่ก็ต้องเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
นี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่าจะไม่ยอมให้มีการขาดทุนกำไรอย่างเด็ดขาด และคนที่ผลักดันเรื่องปรับราคาก๊าซก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิชัย นริพทะพันธุ์ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ นั่งหัวโต๊ะให้ความเห็นชอบ เหมือนกับว่าไม่สนใจความรู้สึก ความเดือดร้อนของคนกันเองยังไงพิกล
เมื่อจำเป็นต้องเดินหน้า มันก็ย่อมทำให้เสียความรู้สึก แม้ว่าจะซื้อเวลาไปอีกพักหนึ่ง แต่งานนี้มันก็ต้องมีการหยุดคิดกันบ้าง บางครั้งเหมือนกับการถูกต้ม ทำท่าเหมือนจะ “รื้อนั่งร้าน” ทิ้งอย่างงั้นแหละ ประกอบกับเมื่อย้อนกลับไปดูผลงานที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่ห่วย แตก มีพิรุธหากให้ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมก็หนีไม่พ้นการแก้ปัญหาเยียวยาเรื่องน้ำท่วมน้ำลด การทุจริตถุงยังชีพ มาจนถึงการต้มตุ๋นแจก “คูปอง 2 พันบาท” ที่วุ่นวายมีการประท้วงปิดถนนเดือดร้อนกันไปทั่ว
ยังทราบข่าวมาอีกว่า ในอีกไม่กี่วันข้างหน้ากลุ่มชาวสวนยางทั่วประเทศก็เตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคาที่กำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ พร้อมทั้งขู่จะบุกไปเทน้ำยางข้นหน้าบ้านนายกฯ ยิ่งลักษณ์เสียด้วย นี่ยังไม่นับเรื่องความเดือดร้อนจากปัญหาราคาผลผลิตมันสำปะหลัง เป็นต้น รวมถึงมีรายงานว่า ข้าวถุงชนิด 5 กิโลกรัม กำลังปรับขึ้นราคาใหม่อีก 20 เปอร์เซ็นต์
ทุกอย่างเริ่มสวนทางกับราคาคุยที่บอกว่าจะ “กระชากค่าครองชีพ” ลงมา หรือแม้แต่ราคาน้ำมันที่ตอนนั้นมีการเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจนทำให้ราคาลดลงมาทันที 5-6 บาท แต่เวลานี้ราคากลับพุ่งขึ้นไปเกือบเท่าเดิมแล้ว
อย่างไรก็ดี กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยกำลังหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้ว่าจะมาในหลากหลายรูปแบบ แต่เป้าหมายปลายทางก็เพื่อให้ ทักษิณ พ้นผิดและกลับมามีอำนาจอีกครั้งเท่านั้น
ดังนั้น แม้ว่าเมื่อวานนี้ (9 มกราคม) ม็อบรถขนส่งจะยอมสลายตัวไปหลังจากมีการเจรจายอมรับข้อเสนอ เป็นการยืดเวลาออกไปชั่วคราว แต่มันก็ทำให้เสียความรู้สึก ทำให้เห็นว่าสิ่งไหนก็ตามที่เป็นผลประโยชน์เป็นผลกำไรโดยเฉพาะผลกำไรของนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังมันก็ไม่มีทางยอมง่ายๆ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ชี้ให้เห็นว่าในที่สุด “ความจริง” ก็ต้องพิสูจน์ออกมาให้เห็นเองว่าใครของแท้ใครของเทียม วันนี้ม็อบแท็กซี่ถอย พรุ่งนี้ม็อบยางพารามา อีกวันก็จะมีม็อบอื่นสารพัดตามมาเพราะความเดือดร้อนมันเริ่มก่อตัวประดังเข้ามาสารพัด
ไม่รู้ว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะ “เอาอยู่” นานแค่ไหน!!