ที่ประชุม ครม.เงา ปชป.ห่วงรัฐลอยแพแก้ปัญหาน้ำท่วมใต้ บี้สั่ง “ศปภ.” รับหน้าแก้ปัญหา จวก หลักเกณฑ์เยียวยามั่ว ปชช.สับสน จี้ขยายเงื่อนไขชดเชยลดหย่อนภาษีบ้าน-รถพัง แฉมุบมิบ พ.ร.ก.การเงิน 4 ฉบับ ซ่อนอำนาจ ครม.สั่งการโอน เงินคงคลัง-ทรัพย์สิน ธปท. สะเทือนระบบธนาคารกลางรุนแรง หวั่นเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย พุ่ง
วันนี้ (6 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ ว่าที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ โดยเป็นห่วงว่ามาตรการการช่วยเหลือจะไม่ถึงคนจน ซึ่งแนวคิดเรื่องการลดหย่อนภาษีให้บ้านและรถที่เสียหายเป็นเรื่องที่ดี แต่คนจนจะไม่ได้รับความช่วยเหลือเพราะรายได้ไม่ถึงการเสียภาษี และหลายส่วนยังไม่ทราบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และขอให้แก้หลักเกณฑ์ที่ขีดเส้นไว้สำหรับผู้ที่เดือดร้อนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2554 เท่านั้น เพราะกรณีภาคใต้จะไม่เข้าเกณฑ์ อยากให้รัฐบาลดูแลครบวงจร รวมถึงเกิดความไม่พอใจในคูปองช่วยเหลือเพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า จึงอยากให้รัฐบาลทำงานและสื่อสารให้ประชาชนรับทราบอยากเป็นระบบ และร้องร้องให้รัฐบาลมอบหมายให้ ศปภ.รับผิดชอบในส่วนของภาคใต้ด้วย
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงมติ ครม.ที่ออก พ.ร.ก.ด้านการเงิน 4 ฉบับ โดยเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ที่ให้มีกกองทุนประกันภัย ส่วนอีก 3 ฉบับต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีคำถามว่ารัฐบาลกำลังโดยภาระการแก้ปัญหาการเงินการคลังให้หน่วยงานอื่น แทนที่จะทบทวนการบริหารจัดการงบประมาณของตัวเอง ซึ่งจะสร้างปัญหาในอนาคต รัฐบาลกำลังใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการพิมพ์ธนบัตรอัดเข้าระบบ ดังนั้น ครม.เงาจึงอยากเห็น 1. รายละเอียดร่างกฎหมายและกรอบเวลาการใช้เงินกู้นอกงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท 2. การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารเฉพาะกิจ ซึ่งจะช่วยระดมเงินในหารฟื้นฟูภาคเอกชนจากน้ำท่วมได้ แต่ถือเป็นการผลักภาระให้ ธปท.และเป็นภาระต่อประชาชนในส่วนของดอกเบี้ย และมีความเป็นห่วงเรื่องความไม่โปร่งใสทางการเงินการคลัง
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า 3. การแก้ไขระบบคุ้มครองเงินฝากและการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูให้กับ ธปท.ครม.เงาไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้เกิดความสับสนในระบบการเงิน และสถาบันการเงินของชาติ เป็นการเรียกเงินมาปนกันเพื่อชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการดูแลของ ธปท. ซึ่งถือว่าไม่จำเป็นในขณะนี้ เพราะจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สาธารณะได้ เพราะสุดท้ายกระทรวงการคลังซึ่งมีหน้าที่ออกพันธบัตรก็ต้องออมาค้ำประกันอยู่ดี
“ชัดเจนว่ารัฐบาลพยายามเข้าไปล้วงเงินของ ธปท.ในหลายรูปแบบ เป็นการผลักภาระให้ระบบ ให้อนาคตและให้ประชาชน แต่ไม่ยอมทบทวนการบริหารงบของตัวเอง และยิ่งเป็นการเติมเงินเฟ้อที่ส่งผลให้เงินในมือประชาชนมีมูลค่าน้อยลง ส่วนข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนระบุมีการแก้ไขกฎหมาย ธปท.โอนกำไร กองทุนและทรัพย์สิน ให้ ครม.มีอำนาจบริหารจัดการ หากเป็นความจริงถือเป็นมาตราที่ให้ ครม.ตัดสินใจและบังคับให้ ธปท.โอนทรัพย์สินตามคำสั่งของ ครม.ได้ จะกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีสำหรับธนาคารกลางในระบบสากล เพราะทรัพย์สินของ ธปท.ตีความได้มากมาย ทั้งกำไร ทองคำ โดยเฉพาะเงินคงคลัง ไม่ต่างอะไรจากการใช้เงินอนาคตโดยผลักภาระการเงินในคนอื่น” นายอภิสิทธิ์กล่าว