xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” เชื่อปี 55 น้ำลดไฟลุก “แม้ว” รุกฆาต รัฐปล่อยแก๊งล้มเจ้า สู่สงครามการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (แฟ้มภาพ)
“กลุ่มกรีน” ชี้การเมืองไทยปีนี้จมแต่ความขัดแย้ง รัฐอภิสิทธิ์ส่อโกงเสียเองทำฝ่ายแดงขยายใหญ่ สู่รัฐปูแดงแก้แค้นไม่แก้ไข เชื่อปีหน้าน้ำลดไฟลุก “ทักษิณ” เปิดเกมเร็วนิรโทษกรรมใช้ ส.ส.ร.3 แค่พิธีกรรมปูทางกลับบ้าน แฉรัฐล้อมกองทัพปราบเว็บหมิ่นปล่อยแก๊งล้มเจ้ารุกคืบท้องถิ่น แถมภัยพิบัติเสี่ยงหายะนะเพิ่ม ระบุปฏิรูปประเทศถูกลดเหลือแค่แก้ รธน.ส่อสงครามการเมืองนำพาชาติจุดจบ

วันนี้ (28 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์กลุ่มกรีน (Green Politics) “เหลียวหลังแลหน้าการเมืองไทย 2554-55 น้ำลด ไฟลุกท่วม เข้าสู่สภาวะรัฐล่มสลาย” ถึงสังคมการเมืองไทยปี 2554 “ส่งท้ายอำนาจเก่า เข้าสู่อำนาจใหม่” ว่า สถานการณ์สังคมการเมืองไทยตลอดช่วง ปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ยังจมอยู่กับวิกฤตของความแตกแยกขัดแย้งเผชิญหน้าที่ส่งต่อมาตั้งแต่การล้มครืนของระบอบทักษิณ แม้ครึ่งปีแรกอำนาจจะอยู่ในมือฝ่ายตรงข้ามระบอบทักษิณ แต่ก็เป็นภาวะเสื่อมถอยจนไม่สามารถรุกคืบจัดระเบียบฝ่ายระบอบทักษิณได้ ซ้ำร้ายความไม่ชอบมาพากลในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐบาลอภิสิทธิ์เองก็ส่งผลให้ความชอบธรรมของฝั่งฝ่ายเครือข่ายทักษิณเติบโตขยายใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ

หลังเลือกตั้ง 3 ก.ค. อำนาจเปลี่ยนมือกลับไปอยู่ภายใต้การบงการของระบอบทักษิณอีกครั้ง นับหนึ่งของการทวงคืน “แก้แค้น แต่ไม่แก้ไข” จากระบอบทักษิณก็เริ่มต้นอย่างรวดเร็ว เช่น โยกย้ายข้าราชการประจำฝั่งตรงข้าม ขอคืนพาสปอร์ต เปิดแผลรัฐบาลเก่า ฯลฯ

ความล้มเหลวในการบริหารจัดการวิกฤติอุทกภัยที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น แต่ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของคนไทยด้วยกัน ไม่เว้นแม้แต่ผู้สนับสนุนรัฐบาลเองก็ตาม บวกกับความสามารถของผู้นำอย่างนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า “ขาดภาวะผู้นำ” อย่างสิ้นเชิง ไร้ซี่งความรู้ ขาดวิสัยทัศน์ นับวันบทบาทของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่แม้เป็นนักการเมืองต้นทุนต่ำ แต่กลับบดบังจนกลายเป็นนายกฯ ตัวจริงโดยพฤตินัยไปแล้ว

เทศกาลการจัดระเบียบอำนาจเก่าผ่านการโยกย้ายผู้ว่าฯ ตำรวจ ข้าราชการประจำตามกระทรวงฯ ต่างๆ ผ่านพ้นไปแล้ว เหลือเพียงทอดสะพานสมานไมตรีกับกองทัพ เมื่อทุกอย่างนิ่งเข้าที่เข้าทาง ก็ถึงเวลา “ส่งท้ายอำนาจเก่า เข้าสู่อำนาจใหม่” เต็มระบบ

โดยแนวโน้มการเมืองปี พ.ศ. 2555 นายสุริยะใส เห็นว่า 1. มิติทางสังคมปีหน้า “น้ำลด ไฟลุกท่วม” ด้วยเหตุที่ความแตกแยกในสังคมเฉพาะวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันเนื่องจากระบอบทักษิณ ยืดเยื้อเรื้อรังมา 6 ปี บวกกับความพิกลพิการของโครงสร้างสังคมไทยที่เต็มไปด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองกระจุกตัวที่ส่วนกลางและคนส่วนน้อยมายาวนาน ส่งผลให้สังคมไทยขาดต้นทุนที่เข้มแข็งพอในการรับมือกับวิกฤติการเมือง วิกฤติสังคม และวิกฤติทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น

“วิกฤตอุทกภัย” เปลือยประจานสังคมการเมืองไทยว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารจัดการ ขาดองค์ความรู้ ขาดศักยภาพในการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อำนาจจัดการรวมศูนย์และถูกแทรกแซงด้วยผู้มีส่วนได้เสียที่ทรงอิทธิพล ปล่อยให้ประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติเผชิญชะตากรรมกันตามลำพัง

หลังน้ำลดเข้าสู่ช่วงฟื้นฟู น่าจะเป็นโอกาสของการระดมพลังแผ่นดินสลายขั้วสลายสีเพื่อตั้งโจทย์ของประเทศร่วมกัน แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับวนเวียนอยู่กับวาระทักษิณ หรือความใคร่ทางการเมืองของพี่ชาย ทำให้โอกาสการสร้างความปรองดองในสังคมด้วยแผนฟื้นฟูประเทศหลุดมือไปพร้อมกับช่วงน้ำท่วมใหม่ที่ ศปภ. และรัฐบาลเลือกปฏิบัติเยียวยาเฉพาะพื้นที่เสื้อแดงและฐานเสียง จนเสียโอกาสที่จะหลอมรวมความร่วมไม้ร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ปล่อยให้วาระทักษิณ บดบังความตั้งมั่น ความเสียสละ และพลังจิตอาสา ของผู้รักชาติรักแผ่นดิน ปีหน้าสังคมไทยจึงก้าวสู่ยุค “น้ำลด ไฟลุกท่วม” ยากที่จะหลีกเลี่ยง

2. มิติทางการเมืองปีหน้า “จัดหนักวาระทักษิณ” การเมืองเชิงอำนาจและผลประโยชน์ยังเป็นกลไกที่ทรงอานุภาพในการขับเคลื่อนสถานการณ์ความแตกแยกเผชิญหน้าต่อไป ไม่พร้อมปรับปฏิรูปเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ของชาติแต่อย่างใด ซ้ำร้ายการเมืองว่าด้วยเรื่องทักษิณจะถูกรุกเร่งจากเจ้าของอำนาจตัวจริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปิดเกมเร็วเพื่อนิรโทษกรรมความผิดให้กับตัวเองและบริวาร ภายใต้การเดินเกมแก้รัฐธรรมนูญที่ใช้ ส.ส.ร.3 เป็นแค่ “พิธีกรรมปูทางกลับบ้าน” ในฐานะผู้ถูกรังแกจากอำนาจพิเศษและอำมาตย์

“อำนาจและผลประโยชน์จะถูกกระชับด้วยระบอบทักษิณอีกครั้ง ภายใต้ประสบการณ์และบทเรียนที่ผิดพลาดของคุณทักษิณในอดีต เพื่อให้อำนาจอยู่ในมือนานเท่านานและไปถึงจุดมุ่งหมายปลายทางหรือระบอบการปกครองที่ออกแบบกันไว้แล้ว ปีหน้าทั้งปีวาระทักษิณจะถูกจัดหนักในทุกมิติจากรัฐบาลน้องสาว ด้วยกลเกมสองหน้าจัดวางน้องสาวแค่นายกฯ พิธีกรรม ส่วนไพร่พลมืองานจะเล่นบททุบโต๊ะตัดสินใจและพร้อมเป็นหมากเบี้ยรับผิดชอบแทนนายตลอดเวลา” นายสุริยะใสกล่าว

ในขณะที่กองทัพในฐานะผู้พิทักษ์ความมั่นคงของชาติและราชบัลลังก์จะถูกทอนพลังด้วยผลประโยชน์ งบประมาณจัดซื้ออาวุธ การเมืองจะดำเนินนโยบาย “ล้อมคอกกองทัพ” ด้วยนโยบายปราบปรามเว็บหมิ่นฯ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เพราะต้นเหตุของภาคปฏิบัติการขบวนการล้มเจ้าไม่ใช่แค่โซเชียลมีเดีย (Social Media) แต่ลุกคืบและขยายตัวปกคลุมกลไกรัฐทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผ่านปรากฏการณ์รณรงค์แก้ไขกฎมายอาญา มาตรา 112 และ “ปรากฏการณ์อากง” ที่ง่ายต่อการอธิบายขยายผลและเข้าถึงชาวบ้าน

เรื่องราวเหล่านี้ซึมลึกอยู่ในบทสนทนาและวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนจากระดับบนจนลงไปสู่ระดับล่างเข้มข้นกว่ายุคสมัยที่ถูกคุกคามด้วยภัยคอมมิวนิสต์เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว โดยในระหว่างการจัดระเบียบกองทัพยังไม่ลงตัวขบวนการล้มเจ้าจะปรับกลยุทธ์จาก “ล้มเจ้า” เป็น “ล้อมเจ้า” ไปพลางๆ ก่อน

3. วิกฤตภัยพิบัติ “ผู้มาเยือน ที่ไม่มีวันกลับ” สำหรับภัยพิบัติหรือวิกฤตการณ์จากภัยธรรมชาติโดยเฉพาะ “ภาวะโลกร้อน” อันเกิดจาก Climate Change สังคมไทยยังต้องลุ้นระทึกต่อซึ่งอาจได้รับผลกระทบทั้งจากปรากฎการณ์ “ลานินญา” และ “พายุสุริยะ” ซึ่งปีหน้ามีโอกาสเกิดปรากฎการณ์เหล่านี้ โอกาสเผชิญกับมหาอุทกภัย วาตภัย ยังคงมีต่อและอาจรุนแรงสร้างหายนะมากกว่าที่เพิ่งผ่านมา ภัยธรรมชาติจึงเปรียบเสมือน “แขกหรือผู้มาเยือนที่ไม่มีวันกลับ” ไปแล้ว

บทเรียนจากอุทกภัยครั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ยังไม่กล้า “คิดนอกกรอบ” วางแผนฟื้นฟูภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ผิดพลาดล้มเหลว ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติ รัฐบาลประเมินแต่ผลกระทบต่อนักลงทุนและโรงงานอุตสาหกรรม แต่เพิกเฉยต่อผลกระทบทางเกษตรกรรม ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และจิตใจความรู้สึกของประชาชนที่ตกอยู่ในอาการหวาดผวาขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล

ภัยพิบัติแม้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยากแต่สังคมก็ต้องมีมาตรการและการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบและบรรเทาทุกข์ได้ทันท่วงที ไม่ใช่แค่ “ผังเมือง” และ “Flood Way ทางน้ำ” ที่ต้องขบคิดกันเท่านั้น แต่แผนฟื้นฟูฯ ต้องกล้าคิดเรื่อง “ผังอำนาจ” โดยเพาะการกระจายอำนาจ ลดการผูกขาดในทุกมิติ เปิดพื้นที่ให้สังคมและประชาชนเข้ามามีสวนร่วมในการจัดการทรัพยากรเพื่อกำหนดทิศทางของการพัฒนาที่สร้างดุลยภาพระหว่างคนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากกว่าการวิ่งตามก้นต่างประเทศเท่านั้น

4. ปฏิรูปประเทศไทย “วาระความอยู่รอด แต่ไม่มีเจ้าภาพ” ปฏิรูปประเทศไทยกำลังถูกลดทอนเหลือแค่การแก้รัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันการปรองดอง ก็วนอยู่กับการนิรโทษกรรมคนๆ เดียว วาระว่าด้วยการปฏิรูปประเทศไทยที่แม้เป็นทางออกเดียว แต่ยังไม่มีเจ้าภาพ ยังเป็นเป็นสังคมที่พึงพอใจอยู่กับการเลือกฝั่ง สังกัดฝ่าย ด้วยเหตุดังนี้วิกฤตการณ์ยังจะคุกคามเล่นงานสังคมไทยในทุกมิติต่อไป อำนาจรัฐที่แม้มาจากการเลือกตั้งและเสียงข้างมาก จะเข้าสู่จุดเสื่อมถอยทั้งระบบ ฉากและภาพพจน์ที่ออกแบบกันมิอาจปิดกั้นตัวตนที่แท้จริงของรัฐบาลได้อีกต่อไป

การลุกฮือของประชาชนไม่ว่าฝ่ายใดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องเพราะประชาชนจำนวนมากเข้าสังกัดขั้วค่ายทางการเมืองจนรู้สึกเป็นผู้มีส่วนได้เสียทางการเมืองมากขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลซึ่งถูกบงการด้วยวาระทักษิณ ก็ไม่สามารถหลบเลี่ยง ปกปิดหรืออำพรางตัวได้อีกต่อไป “การเมืองของมวลชน” จะถูกปลุกลุกฮือขึ้นมาเพื่อตัดสินชี้ขาดกันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้อาจเป็น “สงครามการเมือง” นำพาชาติเข้าสู่จุดจบ จนเกิด “สภาวะรัฐล่มสลาย หรือ Failed State” ทั้งระบบ การเลือกตั้ง การยุบสภา ปรับ ครม. หรือทางออกในระบบและกลไกในรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่คำตอบของวิกฤตการณ์ได้อีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น