ผ่าประเด็นร้อน
เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆแล้วว่าบทบาทของ ทักษิณ ชินวัตร นับจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร โดยสังเกตได้จากความเคลื่อนไหวในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะหลังจากต้นปีหน้าเป็นต้นไปก็จะยิ่งชัดมากขึ้นไปอีก นั่นคือภาพของ “นายหน้า” ร่วมมือกับกลุ่มทุนข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล และเป็นประเทศที่กำลังเปิดกว้างรับการลงทุน ซึ่งเวลานี้ก็คือ กัมพูชา และพม่า นั่นเอง
สิ่งที่ เชื่อว่า ทักษิณ ทำได้ดีและมีความได้เปรียบก็คือ เขาสามารถสั่งการ บงการรัฐบาลไทยให้ทำตามในสิ่งที่เขาต้องการได้อย่างไม่ยากเย็น
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทักษิณ เป็นเจ้าของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็น “โคลนนิ่ง” รวมไปถึงรัฐมนตรีในตำแหน่งสำคัญล้วนต้องได้รับการคัดเลือกและได้รับความเห็นชอบจากเขาทั้งสิ้น
ดังได้เห็นพฤติกรรมของรัฐมนตรีหลายคนต้องทำงานเพื่อเอาใจ และสนองตอบความต้องการของเขาทั้งสิ้น
สำหรับ ทักษิณ ชินวัตร นาทีนี้ถือว่า มีอิทธิพลสูงสุดในวงการเมืองไทย อย่างน้อยที่สุดสำหรับรัฐบาลไทย ที่หากกล่าวว่าเขา “เป็นเจ้าของ” ก็ไม่น่าเกินเลย ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบรูไน สิงคโปร์ มาถึงกัมพูชา เวลานี้สามารถเข้านอกออกในได้ตลอดเวลา ล่าสุดกำลังสร้างบทบาทในพม่า
ที่ผ่านมาหากทบทวนความจำก็จะเห็นว่า เขากำลังหันเหมาลงทุนทางด้านธุรกิจพลังงาน แต่ที่ผ่านมาเกิดสะดุดเล็กน้อยหลังจากรัฐบาลของเขาถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อย่างไรก็ตามการเจรจาต่อยอดกยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมักมีการตั้งข้อสังเกตว่าในรัฐบาล “นอมินี” ของเขามักมีการเจรจาทำสัญญาเขตแดนให้ไทยเสียเปรียบอยู่เสมอ
สาเหตุเป็นเพราะการแลกผลประโยชน์และการร่วมลงทุนทางธุรกิจ หากต้องทำกับฝ่าย ฮุนเซน ผู้นำกัมพูชาที่ผูกขาดทุกอย่างในประเทศนั้นสามารถทำได้สะดวกกว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย ที่อย่างน้อยก็มีฝ่ายค้านและภาคประชาชนที่รู้ทันคอยขัดคออยู่ตลอดเวลา หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ หากซื้อ ฮุนเซน ได้เพียงคนเดียวทุกอย่างจบ
ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่มักมีข่าวกล่าวหาว่าในรัฐบาลทักษิณ รวมไปถึงรัฐบาลนอมินีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลายฝ่ายกำลังมองว่าประเทศไทยกำลังเสียเปรียบ ทั้งในเรื่องเขตแดน และทรัพยากรธรรมชาติ เพราะมีการแลกเปลี่ยนกันทางธุรกิจพลังงานในอ่าวไทย รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ตามมา
ขณะเดียวกัน ล่าสุด ทักษิณ ชินวัตร กำลังรุกคืบเข้ามาเคลื่อนไหวเจรจาลงทุนในพม่า หลังจากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งของประธานาธิบดี พล.อ.เต็งเส่ง เริ่มมีนโยบายปฏิรูปอ้ารับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาเขาได้จับขั้วกับฝ่ายตรงข้าม คือ ขิ่นยุ้นต์ ที่ถูกรัฐประหารไปเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่สำหรับคนอย่างเขาก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะสามารถเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตรได้เสมอหากผลประโยชน์ลงตัวดังตัวอย่างกรณีของฮุนเซน ที่ก่อนหน้านี้เคยถูกระบุว่า ทักษิณ เป็นคนอยู่เบื้องหลังให้ “นายพลสินสอง” ก่อรัฐประหารฮุนเซน แต่ล้มเหลวเสียก่อน
น่าสังเกตก็คือ การเคลื่อนไหวของเขาล้วนมาป้วนเปี้ยนอยู่ในแถบประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นประเทศการตรวจสอบด้านข่าวสารเป็นไปได้อยาก หรือมีน้อย อย่างกัมพูชา และพม่า ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงลักษณะการลงทุนน่าจะเน้นไปที่ธุรกิจพลังงาน ขณะที่ในพม่าอาจพ่วงในเรื่องโครงการใหญ่ ซึ่งเท่าที่เพิ่งได้ยินชื่อเข้ามาใหม่ก็คือโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย
อย่างไรก็ดี เท่าที่ติดตามความเคลื่อนไหวในระยะหลังจะพบร่องรอยการเป็นทั้ง “นายหน้า” และร่วมทุนทางธุรกิจกับ “ทุนยักษ์ใหญ่” ข้ามชาติ ซึ่งในที่นี้ให้จับตา “บริษัท เชฟรอน” ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งระยะหลังมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย มีการเข้าพบแสดงความยินดีกับ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลายครั้ง ทั้งก่อนและหลังการเยือนกัมพูชาและพม่า โดยมีการเกี่ยวพันไปถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยอีกด้วย และหากย้อนกลับไปดูข่าวเก่าๆก็จะพบว่าบริษัทดังกล่าวนี่แหละที่เพิ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาให้ขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยในหลุมเอ หรือ “บล็อกเอ” ในพื้นที่ที่ติดกับอาณาเขตทางทะเลของไทยแต่ฝ่ายกัมพูชาอ้างสิทธิ์
เมื่อวกกลับมาที่ประเด็นทางการเมืองในประเทศ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุดจะเห็นว่าท่าทีของ ทักษิณ ดูแล้วเหมือนกับยังไม่ค่อยส่งสัญญาณรีบร้อนมากนักค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจใช้วิธีประชามติ แม้ว่าเชื่อว่าในใจลึกๆอยากให้มีการแก้ไขในประเด็นที่ทำให้ตัวเองพ้นผิดและได้ทรัพย์สินคืนมา แต่ในความเป็นจริงเขากำลังได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อีกทั้งยังสามารถชักใยให้รัฐบาลน้องสาวทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการในเรื่องอะไรก็ได้ ดังที่สังคมกำลังสงสัยในเรื่อง “วาระซ่อนเร้น” ระหว่างการเยือนพม่า เพราะเกิดขึ้นคล้อยหลัง ทักษิณ เพียงแค่สองวันเท่านั้น และมีการเปิดเผยออกมาว่ามีการเจรจาเรื่องธุรกิจพลังงานด้วย
ดังนั้น ถ้าพิจารณาอย่างเข้าใจก็ต้องบอกว่า แม้อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญใจจะขาด แต่ในเมื่อมีกระแสต่อต้านและเป็นเรื่องอ่อนไหว ก็น่าชะลอไปก่อน เพราะอีกด้านหนึ่งตัวเองก็ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ขณะเดียวกันยังสามารถใช้ประโยชน์จากรัฐบาล ลงนามในสิ่งที่ต้องการได้ทุกเรื่อง การเป็น “นายหน้า-ร่วมทุน” กับทุนข้ามชาติภายใต้การมีรัฐบาลส่วนตัว มีรัฐมนตรีส่วนตัว มันก็ย่อมได้เปรียบ สามารถทำกำไรได้มหาศาล อย่าว่าแต่เงินแค่ 4.6 หมื่นล้านบาทที่ถูกยึดไปเลย ต่อให้มากกว่านี้อีกหลายเท่าก็ทดแทนได้ไม่ยาก หากยังเคลื่อนไหวอยู่ “หลังม่าน” ในลักษณะดังกล่าวต่อไป!!