ผ่าประเด็นร้อน
กลายเป็นว่าทุกเรื่องที่ ทักษิณ ชินวัตร เยื้องย่างไปไหนก็จะตามมาด้วยข่าวคราวผลประโยชน์ตามมาเสมอ และผลประโยชน์ที่ว่านั้นก็ไม่ธรรมดา แต่จะมีมูลค่ามหาศาลเสมอ เป็นลักษณะของผลประโยชน์ข้ามชาติ และที่สำคัญมักพัวพันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน มีรายงานที่ค่อนข้างยืนยันตรงกันว่า ทักษิณ ได้ดอดเข้าพม่าโดยใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเข้าไปเจรจากับผู้นำระดับสูงของพม่า ซึ่งเป็นการเดินทางไปก่อนหน้าที่ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะนำคณะรัฐมนตรีคนสำคัญอันประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นต้น ถือว่าเป็นคณะใหญ่พอสมควร
แม้ว่าตามกำหนดการหลักนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ไปร่วมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 แต่จากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิชัยก็ยอมรับว่าจะมีการเจรจาและลงนามเรื่องธุรกิจพลังงานในพม่าด้วย
หากติดตามเส้นทางบินของทักษิณในช่วงเวลาไกล้เคียงกันล้วนแล้วแต่น่าสงสัยแทบทั้งสิ้น เพราะก่อนหน้านั้นอีกก็เป็นการบินเข้ากัมพูชาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม และต่อมาทางรัฐบาลกัมพูชาก็ไม่ได้มีการปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว
ในเวลาใกล้เคียงกันก็มีความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ ก็มีกำหนดการเดินทางไปเจรจาที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา โดยอ้างว่าไปประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) อย่างไรก็ดี ล่าสุด วานนี้( 20 ธันวาคม) ก็มีรายงานข่าวยืนยันว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีกำหนดการเดินทางไปกัมพูชาพร้อมกันในวันที่ 29-30 ธันวาคม และมีวาระเจรจาสำคัญคือ เรื่องพลังงานโดยจะเจรจากับรองนายกรัฐมนตรี ซก อาน ของกัมพูชา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานองค์การปิโตรเลียมกัมพูชา
เมื่อปะติดปะต่อความเคลื่อนไหว และเส้นทางการเดินทางทุกอย่างมันก็ “เข้าเค้า” โดยเฉพาะบุคคลที่เข้ามาอยู่ในเหตุการณ์ล้วนแล้ว แต่ไม่น่าไว้วางใจทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันก็มีรายงานข่าวมาจากกัมพูชาอีกว่า รัฐบาลกำลังอนุญาตให้ “บริษัทชินุก” ของจีนได้สิทธิ์ขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยในเขตที่เรียกว่า “บล็อกเอฟ” และกำลังดำเนินการในต้นปีหน้า และก่อนหน้านั้นก็ได้อนุญาตให้บริษัทเชฟรอนบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา สำรวจน้ำมันใน “บล็อกเอ” ซึ่งเป็นบล็อกที่มีเขตแดนติดต่อกับอาณาเขตทางทะเลของไทย ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างสิทธิ์
ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกหรือไม่ ว่าทำไมท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่บอกว่าเป็นมหามิตรของไทยมานานจึงมีท่าทีแปร่งๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน รวมไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ออกมาวิจารณ์กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอ้างถึงการจำกัดเสรีภาพ
หากจะเห็นภาพชัดมากขึ้นไปอีกก็ต้องเชื่อมโยงไปถึงเรื่องกรณีที่บริษัทเชฟรอนกำลังขอใช้สนามบินดอนเมืองเพื่อเป็นฐานสำหรับการขนส่งอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือในการสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมัน ในแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะหากความสัมพันธ์กับพม่ากลับมาฟื้นฟูในระดับปกติในอนาคต
นี่เป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพใหญ่ๆ ที่บังเอิญเชื่อมโยงถึงกัน และเกิดขึ้นในเวลาที่พอเหมาะพอดี สอดรับกันอย่างไม่น่าเชื่อ
วกกลับมาที่พม่า หลังจากที่มีรายงานข่าวว่า ทักษิณ ชินวัตร ได้นั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวไปหารือกับผู้นำระดับสูงของพม่าเมื่อ 3-4 วันก่อน ก่อนที่จะไปเนปาล แน่นอนว่า หลายคนคงต้องคิดตรงกันว่าหัวข้อหลักก็น่าจะเป็นเรื่องธุรกิจพลังงาน ที่เวลานี้ทางการพม่ากำลังเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้าไปสำรวจ และที่สำคัญพม่าก็มีทรัพยากรธรรมชาติอีกจำนวนมากที่รอให้ต่างชาติเข้าไปกอบโกย ซึ่งบริษัทต่างชาติ หรือบริษัทข้ามชาติดังกล่าวหลายคนก็มั่นใจว่า ทักษิณ ย่อมมีส่วนร่วมอยู่ด้วยแน่นอน
ที่ผ่านมาหลังจากขายหุ้นจากธุรกิจสื่อสารเมื่อต้นปี 2549 มีวงเงินที่เปิดเผยจำนวนถึง 7.6 หมื่นล้านบาท ก็มีเป้าหมายเพื่อนำมาลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เขาคิดว่าว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต กำไรสูง และที่ผ่านมาขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจบริหารอยู่ในมือนั้นก็ได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อรองรับธุรกิจประเภทนี้เอาไว้ล่วงหน้า แต่บังเอิญว่ายังไม่ทันสำเร็จตามเป้าหมายก็ถูกปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ไปเสียก่อน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะต้องระเหเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศนานหลายปี ก็ยังมีความเคลื่อนไหวและข่าวคราวการเจรจาเรื่องธุรกิจพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทย ขณะที่ความเคลื่อนไหวในพม่านั้นก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีความคืบหน้า เนื่องจากว่า ทักษิณ จับขั้วอำนาจผิด เคยทำธุรกิจร่วมกับ นายพลขิ่น ยุ้นต์ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีพม่า และมีเรื่องอื้อฉาวเรื่องธนาคารเอ็กซิมแบงค์ปล่อยกู้ให้บริษัทโทรคมนาคมของลูกชายขิ่น ยุ้นต์ 4 พันล้านบาท ต่อมาเมื่อการเมืองพลิกผัน ขิ่นยุ้นห์ถูกรัฐประหาร ถูกกักบริเวณ ลูกชายถูกจับกุม แต่เมื่อกลุ่มทหารพม่าต้องการเปิดประเทศ เริ่มปฏิรูปการเมืองหลังมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ มี พล.อ.เต็งเส่ง เป็นประธานาธิบดี เมื่อไม่นานมานี้สหรัฐฯก็ส่ง ฮิลลารี คลินตัน ไปเยือนถึงกรุงเนปิดอร์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า
สภาพโดยรวมเหมือนกับว่าบรรยากาศการลงทุนเริ่มเปิดกว้าง และกลุ่มทุนทักษิณกับทุนสหรัฐก็น่าจะเชื่อมถึงกัน หากพิจารณาจากท่าทีของสหรัฐในระยะหลังที่มีต่อรัฐบาลไทยในยุคของพรรคเพื่อไทย
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้น ทั้งจากข่าวคราวเรื่อง ทักษิณ นั่งเครื่องบินเจ็ตไปเจรจากับผู้นำระดับสูงของพม่า ก่อนหน้าที่ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ จะนำคณะไปเยือน และหนึ่งในนั้นก็มีรัฐมนตรีพลังงานร่วมเดินทางไปด้วย โดยยอมรับว่ามีกำหนดการเจรจาเรื่องพลังงานด้วย จากนั้นในวันที่ 29-30 ธันวาคม ทั้งรัฐมนตรีต่างว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็มีกำหนดเดินทางไปกัมพูชา ก็มีเรื่องธุรกิจพลังงานด้วยเหมือนกัน ซึ่งทั้งสองประเทศดังกล่าว ทักษิณ ได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้วทั้งสิ้น เหมือนกับว่านำร่องไปก่อนแล้วค่อยไปลงนามในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ผลประโยชน์จะตกถึงใครบ้างลองหลับตานึกภาพก็แล้วกัน!!