“อภิสิทธิ์” เชื่อคดีเผาเมืองจะเริ่มชัด หลังศาลพิพากษามือยิงวัดพระแก้ว จี้ คอป.แจงเป็นคดีการเมืองหรือไม่ งง รัฐไม่ถกปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีแต่เรื่องเกี่ยวกับ “นช.แม้ว” คาด มีพวกปลุกอุดมการณ์สร้างความขัดแย้งเพิ่ม ยันพวกผิด ม.112 กรณีอาฆาตมาดร้ายไม่ใช่คดีการเมือง ชี้ หลายชาติก็มีกฎหมายจำกัดสิทธิ์เพื่อความสงบ จับตาพวกขยายผลเล่นการเมือง แนะตั้ง กก.วางแนวทางแก้ให้ชัด
วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลพิพากษาตัดสินมือยิงจรวดอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม ให้จำคุก 38 ปี ว่า เมื่อวาน (13 ธ.ค.) ตนได้ไปขึ้นศาลในคดีหมิ่นประมาท และบังเอิญได้ร่วมนั่งฟังการพิพากษาในคดีนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งยืนยันเหตุการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงปี 53 ซึ่งในคำพิพากษาจะเห็นว่าศาลรับฟังพยานที่ให้ปากคำ และหลักฐานว่าบุคคลเหล่านี้ได้ทำอะไรลงไป ซึ่งตนหวังว่า ยังมีอีกหลายคดีที่จะทำให้ความผิดต่างๆ ปรากฏชัดเจนออกมา ให้เห็นภาพรวมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 53 เพราะมีความพยายามจากบางฝ่ายที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริง ว่า เป็นการล้อมปราบประชาชนของเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ความรุนแรงเกิดขึ้นจากการกระทำของบางกลุ่ม และมีสื่อบางฉบับอ้างว่า เป็นปัญหาของคนที่มีอำนาจในขณะนั้น สั่งการทั้งที่เหตุการณ์ชุมนุมยุติลงแล้ว โดยยกกรณีเหตุการ์ณที่วัดปทุมวนาราม ซึ่งข้อเท็จจริง คือ เมื่อมีการยุติการชุมนุมทางศอฉ.ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ยุติการเคลื่อนไหว และได้หารือว่าจะส่งประชาชนที่ชุมนุมอยู่กลับบ้านอย่างไร แต่ก็ยังเกิดความวุ่นวายขึ้นในอีกหลายพื้นที่ ทั้งวางเพลิง ลักทรัพย์ ซึ่งคนเหล่านี้สุดท้ายก็ถูกศาลลงโทษไปแล้ว ทั้งนี้ หากมีการรวบรวมข้อเท็จจริงจากคดีต่างๆ ที่พิพากษาไปแล้วจะเห็นความชัดเจนขึ้นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนคดียิงกระทรวงกลาโหม จะถูกดึงไปเป็นคดีการเมืองหรือไม่นั้น ตนยืนยันว่า หากมีการเคลื่อนไหวชุมนุมในเรื่องของการเมือง แต่บังเอิญติดอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ตนยอมรับได้ แต่กรณีนี้ที่มีการเตรียมอาวุธสงครามไปยิง ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าตั้งใจไปยิงกระทรวงกลาโหม หรือ วัดพระแก้ว เพราะดูจากทิศทางและภาพการยิง มีความเป็นไปได้ว่าจะยิงวัดพระแก้ว กรณีเช่นนี้ตนอยากให้ คอป.ออกมาชี้แจงให้เห็นว่าจะนับกรณีนี้เป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่ เพราะถ้าเริ่มต้นยอมรับว่ามีคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ ควรจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่เช่นนั้นบรรทัดฐานและความสับสนกับเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาตามมา
“ผมแปลกใจที่รัฐบาลไม่เคยมีการหยิบยกปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนมาพิจารณา ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยอ้างว่าเป็นปัญหาพื้นฐานของความขัดแย้ง โดยเฉพาะข้อเสนอ 6 มาตรการที่นำไปสู่ความปรองดอง ไม่มีการเอ่ยถึงเรื่องนี้ มีแต่อ้างถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีเรื่องของประชาชนเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีการหยิบเรื่องนี้มาอ้างกันมาก และปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ จุดที่นำไปสู่ความขัดแย้งมากที่สุด โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่ม ซึ่งมีความพยายามสร้างปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาแล้วแบ่งเป็นกลุ่ม เป็นฝ่าย ดังนั้น จากนี้ไปจะมีความพยายามสร้างกลุ่ม เพื่อสร้างเงื่อนไขในการใช้ปลุกระดม โดยอ้างเรื่องอุดมการณ์ ซึ่งจะเป็นปัญหาสร้างความขัดแย้งที่มากขึ้นในอนาคต ดังนั้น หากมีการดึงความผิดเหล่านี้มาเป็นความผิดทางการเมือง ก็จะเป็นการเชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มที่เคลื่อนไหว โดยอ้างอุดมการณ์มาทำผิดอีกเป็นจำนวนมาก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นใจที่จะนิยามความหมายของความผิดทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องยากแม้ คอป.จะมีการพูดถึงความผิดในบางมาตรา เช่น คดีเกี่ยวกับความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งตนเห็นด้วย แต่กับมาตรา 112 ตนเห็นด้วยเพียงครึ่งเดียวหากมีการทำผิดในแง่วิชาการนั้น ยังพอเข้าข่ายความผิดทางการเมือง แต่กรณีหมิ่นประมาทพระบรมเดชานุภาพ ในลักษณะเอาความเท็จมาให้ร้าย หรืออาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่บุคคลธรรมดาแล้วมาบอกว่ากรณีนี้เป็นความผิดทางการเมืองไม่ได้
ส่วนกรณีที่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ ออกมาพูดเชิงกดดันให้ไทยยกเลิกมาตรา 112 นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราต้องทำความเข้าใจ เพราะกฎหมายแต่ละประเทศบังคับใช้ล้วนมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน ในช่วงที่ตนเป็นนายกฯ ก็มีการเดินสายบอกกับต่างชาติอธิบายจนทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้น แต่ข้อสังเกตบางอย่างเราก้ต้องรับฟัง เช่น การลงโทษในบางกรณีที่ดูจะรุนแรงไป ซึ่งเป็นความเห็นหลากหลาย เพราะบางประเทศก็ไม่เห็นด้วยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ และบางครั้งก็เป็นเรื่องของปัญหาการบังคับใช้ ยกตัวอย่างกรณีประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต่างชาติถูกตรวจกระเป๋า โดยมีการพูดเล่นกับเจ้าหน้าที่ที่ตรวจว่าข้างในมีระเบิด กลับถูกจำคุกถึง 6 เดือน เพราะสหรัฐฯ ไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องขำ ซึ่งตนอยากถามว่าเป็นการลงโทษที่เกินเหตุหรือไม่ และบางประเทศก็มีโทษประหารชีวิต ขณะที่บางประเทศมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ดังนั้น ต้องค่อยๆ มาปรับแนวทางในเรื่องที่เป็นหลักสากลกับสิทธิมนุษยชนว่าคืออะไร แต่ที่มาที่ไปและหลักกฎหมายของแต่ละประเทศ คืออะไร
“หาก ม.112 จะเป็นการจำกัดเสรีภาพ ผมก็อยากถามว่าแล้วกฎหมายหมิ่นประมาทเป็นการจำกัดเสรีภาพด้วยหรือไม่ เพราะในหลายประเทศก็มีการจำกัดเรื่องธง ศาสนา แต่เขามีกฏหมายเพื่อความสงบของบ้านเมือง เพราะบางเรื่องมีความละเอียดอ่อนเกินไป และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ส่วนจะจำกัดแค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ เพราะในหลวงก็เคยมีกระแสพระราชดำรัส ในปี 48 ก็รับสั่งเรื่องนี้ แต่ก็มีการหยิบเรื่องนี้มาขยายผลทางการเมืองจึงต้องจับตาดูให้ดี เหมือนเรื่องความผิดทางการเมือง ดังนั้น เรื่องนี้ควรเริ่มต้นจากมีคณะกรรมการมาช่วยวางแนวทางที่เหมาะสม และหากเห็นว่าปัญหาเกิดจากกฎหมายขาดความชัดเจน หรือขาดเงื่อนไขถึงค่อยพิจารณากัน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว