“ชวนนท์” จี้ คอป.แยกให้ชัดนักโทษการเมืองครอบคลุมใครบ้าง ชี้มีคดีอาญาเกี่ยวข้องด้วย หวั่นถูกนำไปบิดเบือน สร้างความแตกแยก พร้อมเร่งรัฐทำความเข้าใจต่างชาติเสนอแก้ ม.112 เกรงเข้าใจผิดจนกระทบสถาบัน
วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่มีการพยายามหยิบยกข้อเสนอเกี่ยวกับนักโทษการเมืองของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มาเป็นประโยชน์ต่อพวกตัวเองว่า อยากให้ คอป.ชี้แจงให้ชัดเจนว่า นักโทษการเมือง ครอบคลุมถึงเรื่องใดบ้าง เพราะที่ผ่านมาก็มีคดีอาญาที่เกิดระหว่างการชุมนุม ทั้งการเผาบ้านเผาเมือง การปล้นปืน และการใช้อาวุธเอ็ม 79 ยิงใส่ประชาชน ซึ่งไม่ใช่ความผิดทางการเมือง แต่ไม่มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพูดถึง ทั้งนี้ ถ้า คอป.ยังไม่มีความชัดเจน ข้อเสนอก็จะถูกนำมาบิดเบือน เพราะแทนที่จะสร้างความปรองดอง กลับจะสร้างความขัดแย้งตามมา
“ทั้งนี้ การที่รัฐบาลหยิบข้อเสนอของ คอป.มา ไม่ใช่แปลว่ารัฐบาลจะทำได้ทุกอย่าง แต่ต้องฟังความเห็นต่าง อย่าไปกระตุ้นความขัดแย้งให้เกิดขึ้นเสียเอง ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการอิสระ และขอฝากไปถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้หยุดพูดแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หยุดพูดชี้นำรัฐบาล เพราะถ้าพูดลักษณะเช่นนี้อยู่ เมื่อมีผลพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมออกมา ก็อาจจะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยอมรับได้ และข้อเสนอของ คอป.ก็ระบุว่าจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเกิดจากหักดิบการใช้กฎหมายในคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 47 ที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้กฎหมายบิดเบี้ยว และที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยพูดว่า สองมาตรฐาน ไม่ได้รับความเป็นธรรม จะเห็นได้ว่า ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า สองมาตรฐาน ที่มีการบิดเบือนข้อกฎหมาย ซึ่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งของประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ถ้าไม่มีการหักดิบกฎหมายเกิดขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงจะไม่ได้เป็นายกฯ ความขัดแย้งก็จะไม่มี การปฎิวัติรัฐประหารก็จะไม่เกิด จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลว่า อย่าให้ตอนจบเป็นเช่นนี้อีก อย่าให้มีการกดดันกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น จนกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นมาอีก” นายชวนนท์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายชวนนท์กล่าวถึงกรณีที่ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะขอให้มีการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่า รัฐบาลควรออกมาทำความเข้าใจว่า การใช้กฎหมายมาตรา 112 มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และครบถ้วนจากหลายหน่วยงาน มีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องนี้อย่างเหมาะสม และต้องทำความเข้าใจให้ต่างชาติได้รับทราบ เพราะการหมิ่นประมาทก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย แต่หากยังคงเพิกเฉยก็อาจทำให้ต่างชาติเข้าใจผิดได้ และอาจส่งผลร้ายต่อสถาบันที่เราเคารพรัก รัฐบาลจึงควรทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ