xs
xsm
sm
md
lg

“เผดิมชัย” แจงนานาชาติ แผนฟื้นฟู 3 ระยะหลังน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เผดิมชัย” แจงเวทีนานาชาติเรียกความเชื่อมั่นประเทศพันธมิตรเศรษฐกิจ หลังพ้นวิกฤตน้ำท่วม ชูแผนฟื้นฟู 3 ระยะ ยันดูแลแรงงานตามมาตรฐานสากล

วันนี้ (7 ธ.ค.) น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานโดยนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงานได้ไปเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 15 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระหว่างวันนี้ 4-7 ธ.ค. 2554 ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจาก 44 ประเทศเข้าร่วม โดยรมว.แรงงานได้กล่าวในการประชุมว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกไอแอลโอได้มุ่งมั่นสรรค์สร้างความยุติธรรมทางสังคมให้เกิดขึ้นจริงแก่ทุกคนในสังคมไทย ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของคนทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งได้ดำเนินนโยบาย แผนงาน รวมทั้งแนวปฏิบัติที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของวาระงานที่มีคุณค่า (Decent Work )

ทั้งนี้ ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือไตรภาคี ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้ปฏิบัติตามหลักการอนุสัญญาของไอแอลโอที่ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานและให้ความสำคัญกับมิติความเสมอภาคของมนุษย์โดยสอดแทรกกับทุกนโยบายของรัฐ รวมทั้งได้ยอมรับหลักการของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในสังคมบนหลักการการเจรจาทางสังคมของไอแอลโอ

พร้อมกันนี้ รมว.แรงงานยังได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยในประเทศโดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูประเทศออกเป็น 3 ระยะหลักๆ ได้แก่ 1.การกู้ภัย โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รับเรื่องราวร้องทุกข์ และแก้ไขปัญหาให้ผู้ประสบภัย 2.ระยะการซ่อม ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปีเพื่อฟื้นฟูให้ระบบต่างๆ สามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง รวมทั้งเยียวยาให้เงินช่วยเหลือ เงินกู้สิทธิประโยชน์ต่างๆ และ 3.ระยะการสร้างเป็นไปตามภารกิจเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ 2 ชุดขึ้นมาดูแล

โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ประเทศจะได้รับจากการประชุมครั้งนี้นอกจากได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ปัญหาด้านแรงงานแล้ว ประเทศไทยยังได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังจะมีการหารือในประเด็นเกี่ยวกับอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 และ98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัว เจรจาและต่อรอง ซึ่งล่าสุดได้มีความคืบหน้าของประเทศไทยที่จะอยู่ระหว่างการรับรองอนุสัญญา 2 ฉบับนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น