xs
xsm
sm
md
lg

“ภักดี” หวัง กม.ลูก ป.ป.ช.แก้โกงในระบบราชการได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป.ป.ช.สัมมนาแนวทางปฏิบัติตาม กม.ลูก “ภักดี” ชี้ โกงในระบบราชการทำชาติเสียหาย ชี้ กฎหมายบังคับรัฐเปิดราคากลางจะช่วยคนไม่กล้าหมกเม็ด แบ่งเปอร์เซ็นต์ยาก ชูทำงานร่วมสรรพากรยิ่งเล็ดลอดยาก ด้านเลขาฯ สมาคมก่อสร้าง ยันราคากลางพิสูจน์ได้

วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจิตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเวลา 09.30 น.ได้จัดการสัมมนาเรื่องแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 โดย นายภักดี โพธิ์ศิริ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า การทุจริตในระบบราชการสร้างความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก หากมีการทุจริตเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็รับไม่ได้แล้ว เพราะเงินที่จะนำใปใช้พัฒนาประเทศ หากเสียไป 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะใช้งบได้แค่ 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่นับรวมเรื่องภาพลักษณ์ที่เสียหาย ที่สำคัญยังไม่สามารถไปแข่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย ได้ เพราะภาพลักษณ์เราไม่ดี ดังนั้น สิ่งที่เสนอเป็นมาตรการป้องกันขึ้นมา แม้ยังไม่ได้เป็นคำตอบของการป้องกันทุจริตได้ทั้งหมด แต่เป็นการทำให้คนคิดว่าการทำทุจริตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีคนจับตาดูอยู่ ทาง ป.ป.ช.จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์

นายภักดี กล่าวว่า ซึ่งมาตรการและหลักเกณฑ์ที่ ป.ป.ช.ได้กำหนดขึ้นนั้น คือ ประกาศ ป.ป.ช.ที่ออกภายใต้มาตรา 103/7 โดยกำหนดให้หน่วยงานชองรัฐจะต้องมีการเปิดเผยราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ในระบอบข้อมูลทางอิเลกทรอนิกส์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกำหนดราคากลางที่โก่งขึ้นไป หรือมีส่วนต่างของราคากลางเกิดขึ้น หากมีการเปิดเผย ก็คงมีส่วนช่วยให้คนไม่กล้าทำอะไรหมกเม็ดไว้ และทำให้การแบ่งเปอร์เซ็นต์ต่างๆ ทำได้ยากขึ้น เช่น อาจเป็นราคากลางแค่ 9 พันล้าน แต่กลับมีการตั้งวงเงินไว้ 1 หมื่นล้าน ทำให้เหลืออีก 1 พันล้านมาเป็นการทุจริต แต่ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว ตามมาตรา 103/8 เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้หน่วยงานราชการนำไปปฏิบัติ โดย ครม.ได้บรรจุเรื่องในวาระเตรียมพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 13 ธ.ค.นี้แล้ว

นายภักดี กล่าวอีกว่า ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ และแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคล หรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐนั้น ที่ให้บุคคล หรือนิติบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐยื่นบัญชีแสดงรายรับรายจายของโครงการต่อกรมสรรพากรนั้น ก่อนหน้านี้ ทาง ป.ป.ช.ได้ออกประกาศฉบับแรกไว้แล้ว มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2555 แต่มีบริษัทคู่สัญญากับรัฐเป็นจำนวนมากให้เหตุผลว่าติดปัญหาอุทกภัย และเตรียมตัวไม่ทันจึงไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้ ทาง ป.ป.ช.จึงยกร่างประกาศฉบับที่สอง มาปรับปรุงเพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2555

นายภักดี กล่าวว่า ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดของหลักเกณฑ์นั้น โดยมูลค่าของสัญญาที่ต้องยื่นบัญชีรายรับ จ่าย ต่อกรมสรรพากรจะต้องมีมูลค่าตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป เพื่อให้ ป.ป.ช.และ กรมสรรพากรตรวจสอบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ สาเหตุที่กำหนดมูลค่า 5 แสนบาทนั้น เพื่อสามารถลงไปตรวจสอบการทุจริตในระดับภูมิภาค และ ระดับท้องถิ่นด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีแรกทาง ป.ป.ช.ผ่อนปรน โดยในช่วง 1 เม.ย.2555-1 มี.ค.2556 จะใช้บังคับเฉพาะสัญญาที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปก่อน เพราะต้องจัดซื้อจัดจ้างในระบบอิเลกทรอนิกส์ หรือ อี-ออกชัน ก่อน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2556 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้ตามสัญญาที่มีมูลค่า 5 แสนบาท ส่วนการใช้จ่ายเงินของคู่สัญญาจะต้องรับ จ่าย ผ่านเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทกระแสรายวัน เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินสด ที่แต่ละครั้งจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท

“การตรวจสอบจะทำร่วมกับกรมสรรพากร กับ ป.ป.ช.ตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อมีทางคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับรัฐยื่นหลักฐานที่กรมสรรพากร ข้อมูลก็จะมาปรากฏที่ ป.ป.ช.เช่นกัน เพราะระบบมีการเชื่อมโยงทั้งหมด การทุจริตเล็ดลอดได้ยากแม้ไม่มีบทลงโทษอาญา แต่มีบทลงโทษการเป็นคู่สัญญาของรัฐ หากมีการยื่นหลักฐานมาไม่สมบูรณ์ หรือไม่ยื่นหลักฐานมาบริษัทดังกล่าวก็จะไม่สามารถเป็นคู่สัญญากับรัฐได้อีกเลย” นายภักดี กล่าว

ด้าน นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง เลขาธิการสมาคมการก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เรื่องของราคากลางผ่านไป 10 ปี ก็ยังสามารถตรวจสอบได้ เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ ว่าแต่ละโครงการใช้วัสดุอะไรจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งราคากลางแบ่งเป็นราคาต่อหน่วย คือ สินค้าชิ้นหนึ่งเขียนราคาแพงกว่าราคาจริง จึงเป็นที่มาของการแสวงผลประโยชน์ อีกส่วนคือราคาปริมาณ ที่ส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องตรวจสอบควบคุมว่าสินค้าชนิดเดียวกันมีการตั้งราคาขายเท่าไหร่ เพราะแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่มีราคาไม่เท่ากัน บางพื้นที่สูง บางพื้นที่ต่ำ ซึ่งสมควรต้องมีราคาที่เป็นธรรม ทางสมาคมจึงร่วมกับสมาคมวิศวกรรมสถาน สมาคมสถาปนิกสยาม และสมาคมวิศวกรรมที่ปรึกษา เพื่อจัดตั้งสถาบันคิดราคากลางที่ปัจจุบันมีการคิดราคากันเอง และในแต่ละโคงการหากผู้มีอำนาจสั่งให้บวกเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะปฏิบัติตาม โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการตอบรับในเรื่องของสถานที่อบรมแล้ว

“ผมเชื่อว่า ผู้ประกอบการไม่มีใคร อยากจ่ายใต้โต๊ะ เราต้องทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการที่สุจริตอยู่ได้ เชือว่า หากราคากลางเป็นธรรม ก็เป็นต้นทางของการแก้ปัญหา” นายกฤษดา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น