xs
xsm
sm
md
lg

รอง ปธ.หอการค้ายันภาคประชาชนฟ้องรัฐไม่ส่งผลประกันเบี้ยวจ่ายเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล
รองประธานหอการค้า จี้นายกฯสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนด้วยการออกมาประกาศว่าน้ำจะไม่ท่วมประเทศไทยอีก พร้อมยันภาคประชาชนฟ้องรัฐบาลไม่ส่งผลให้ประกันภัยไม่จ่ายเงิน ด้าน “ณรงค์” มองว่าหลังน้ำลดเศรษฐกิจฟื้นง่าย เนื่องจากความต้องการซื้อมีมาก หวั่นประเมินความเสียหายเกินเหตุ เปิดโอกาสโกงกินงบประมาณกันอย่างเมามัน

วันที่ 1 ธ.ค. นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ นายณรงค์ โชควัฒนา นักธุรกิจอิสระ ได้ร่วมรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางเอเอสทีวี

นายพรศิลป์กล่าวว่า รัฐบาลจ่ายชดเชยให้ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมขั้นต่ำ 5 พันบาท ตนว่ามันน้อยไปหน่อย วันนี้อย่างน้อยประมาณแสนบาท ควรให้มากกว่านี้ ส่วนความมั่นใจต่อไปข้างหน้าอยากได้ยินมากสุดตอนนี้ คือ นายกฯ ต้องออกมาทุบโต๊ะพูดเลยว่าประเทศไทยจะไม่มีน้ำท่วมอีกตลอดชีวิต ทำเป็นเป็นเมกกะโปรเจกต์เลย

นายพรศิลป์กล่าวอีกว่า เรื่องประกันภัยก็สำคัญ เป็นตัวสร้างความมั่นใจ ถ้าจัดการไม่ดีเหนื่อย เอาง่ายๆวันนี้จำนวนเงินที่จะต้องเคลม 3 แสนล้าน ทุนประกัน 7 แสนล้าน เรื่องเบี้ยประกัน ยืนยันว่าขึ้นแน่นอน 2-3 เท่า แต่วันนี้รัฐบาลต้องทำให้เกิดความมั่นใจ

ประกันภัยตอนนี้ไม่มีใครกล้ารับ เขายังไม่รู้เลยว่าตัวเองเสียหายเท่าไหร่ ตอนนี้บริษัทประกันภัยทั่วไปก็คือรับมาแต่ไม่เก็บไว้ เขาก็จะส่งประกันต่อ เอาความเสี่ยงตัวเองไปกระจายต่อ ก็มีบริษัทใหญ่ๆรับกระจายต่อ วันนี้ปัญหาก็คือเกิดอุทกภัยใหญ่มาก เสียหายพร้อมๆกัน บริษัทประกันภัยเลยปวดหัว คิดบัญชีไม่จบสักทีว่าตกลงต้องเสียเท่าไหร่ เลยไม่กล้าประกันต่อ

หรือกรณีที่บ้านแห้งแล้ว โรงงานแห้งแล้ว ตามระเบียบต้องนั่งเฉยๆทำอะไรไม่ได้ถ้าจะเคลมประกัน หากเข้าไปซ่อมแซมก่อน ประกันไม่จ่าย เพราะมองว่าไม่เสียหายแล้ว นี่คือปัญหา ต้องให้เขาประเมินก่อน แต่ใครจะมาประเมินให้ทั่วถึงไหว ขณะเดียวกัน เจ้าของบ้าน โรงงาน ก็ต้องรีบเข้าไปอยู่ เรื่องประกันภัยมันเป็นความเสี่ยง รัฐบาลต้องรีบสร้างความมั่นใจกับบริษัทประกันภัย ซึ่งก็กลับมาเรื่องฟื้นฟูที่ต้องชัดเจน ให้เขาเห็นว่าจะไม่มีปัญหาอีกในอนาคต

ถ้าเป็นไปได้ ครั้งนี้เป็นวิกฤตพิสดาร การแก้ปัญหาก็ต้องพิสดาร ทำแบบปกติไม่ได้ ตนขอเสนอว่าต้องคุยกับบริษัทประกันภัย ประเมินยังไม่ได้ว่าเสียหายเท่าไหร่ คนก็ต้องเข้าไปอยู่ ก็รู้ว่าทุนประกันอยู่ที่เท่าไหร่ สมมุติอยู่ที่ 100 เสียหายหมดก็จ่าย 100 ไม่หมดก็จ่ายไปตามจำนวน เบื้องต้นให้รัฐบาลจ่ายไปก่อน 10-20 เปอร์เซ็นต์ มันไม่เกินอยู่แล้ว จ่ายให้ไปก่อนแล้วเดี๋ยวค่อยมาเคลียร์กับบริษัทประกัน

นายพรศิลป์กล่าวต่อว่า มั่นใจได้ว่าบริษัทประกันไม่ทิ้งประเทศไทย นี่เป็นธุรกิจ อย่างไรเขาก็ต้องเอาไว้ แต่เบี้ยต้องสูงแน่ๆ และเรื่องของการจัดการประกันภัยวันนี้เกี่ยวกับความเสียหายต้องทำให้รวดเร็ว สร้างความมั่นใจให้คนทั่วไป รัฐบาลยังไม่ออกมาพูดชัดเจน และมันยังเกี่ยวเนื่องกับกรณีที่ภาคประชาชน นำโดย อ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ จะฟ้องรัฐบาล อันนี้ไม่ทำให้บริษัทประกันไม่จ่าย ขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวกัน จ่ายแน่นอน ส่วนที่บอกกันว่าบริษัทประกันจะไปสืบหาต้นตอและฟ้องเอาผิดกับรัฐบาล หลักการแล้วถูกต้อง แต่ในทางปฏิบัติไม่ฟ้องหรอก มันเสียเวลา

นายพรศิลป์ยังกล่าวอีกว่า บริษัทประกันภัยทุนจดทะเบียนไม่กี่พันล้าน แต่ต้องมาจ่ายเป็นหมื่นล้าน มองกันว่ามีโอกาสที่หลายๆบริษัทต้องปิดกิจการ ถ้าเพิ่มทุนแล้วไม่สามารถเพิ่มตามได้ เพราะเงินทุนหมด และตามเกณฑ์บริษัทประกันภัย ถ้าเป็นล้มไปสามารถให้ต่างชาติเข้ามาซื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า บริษัทคนไทยอาจหายไปเกือบหมด แต่ผลกระทบเศรษฐกิจจะไม่มากเท่าแบงก์ล้ม เพราะมีบทบาทจำกัด

ด้าน นายณรงค์กล่าวว่า ตนมองว่าหลังภัยพิบัติเศรษฐกิจจะดี มีความต้องการซื้อสินค้าจำนวนมาก เพราะเกิดความขาดแคลนในภาวะน้ำท่วม อีกทั้งสิ่งของเครื่องใช้ก็ต้องซื้อใหม่ เผลอๆจีดีพีไม่ลดหรอก ข้าวน้ำท่วมก็ไม่ร้ายแรงเท่าฝนแล้ง ไม่ฟื้นฟูยากอย่างที่คิด ที่เป็นห่วงคือการตั้งงบไว้เยอะมาก กลัวจะรั่วไหล นี่เป็นโอกาสโกงกินงบประมาณกันอย่างเมามัน

นายณรงค์กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องทำมากที่สุดไม่ใช่กู้เงินต่างประเทศมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ การฟื้นฟูภัยพิบัติต้องเอาเงินในประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ของคนในประเทศ รัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มาก

แต่หากกู้เงินตราต่างประเทศมา จะซื้อของในประเทศไม่ได้ ต้องซื้อของประเทศเจ้าของเงินนั้นๆ ก็เท่ากับสร้างงานในต่างประเทศ ตรงนี้ที่อันตราย อย่างกรณีอดีตนายกฯ (พ.ต.ท.ทักษิณ) ให้พม่ากู้เงินบาท เขาก็ต้องเอาเงินกลับเข้ามาซื้อในไทย ด้วยการซื้ออุปกรณ์สื่อสารของบริษัทอดีตนายกฯ นั่นแหละ มั่นใจด้วยว่าเงินในประเทศมีเพียงพอ เพราะหากมีการสร้างงาน รายได้ก็จะอยู่ในประเทศ และกลับคืนสู่รัฐในรูปของภาษี


ณรงค์ โชควัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น