“คำนูณ” อัดรัฐบาลเพิกเฉยปฏิรูปการเมือง “ไชยันต์” ชี้ประชานิยม เลวร้ายกว่าซื้อขายเสียง “วรเจตน์” วอนอย่าดึง “ฮิตเลอร์” มาเปรียบเทียบ ยืนยันการเลือกตั้งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของประชาธิปไตย “ส.ศิวรักษ์” ชี้ควรแก้ไข ม.112 ไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
รายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้เชิญวิทยากร ประกอบด้วย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา, นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม, ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แกนนำคณะนิติราษฎร์ และ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแสดงความคิดเห็นกรณีข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ โดยมีพิธีกรคือ นายภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา ได้เปิดรายการด้วยคำถามว่าจากนี้ไปจะมีทางออกอย่างไร
นายสุลักษณ์กล่าวว่า ทางฝ่ายพุทธบอกว่าต้องคิดให้รอบคอบถึงความเป็นไปได้ ตนเห็นว่าคณะนิติราษฎร์มีคุณูปการที่ปลุกให้คนเห็นว่าไม่ควรมีการรัฐประหารอีกต่อไป ที่นายคำนูณบอกว่าการเลือกตั้งต้องไม่ใช่ธนาธิปไตย ก็ต้องหาทางออก เพราะเลือกตั้งอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ(ชินวัตร) ก็มาวันยังค่ำ ระบอบประชาธิปไตยเราเอาแบบฝรั่งมา มีแต่คณะสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตยแท้ มีสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ ต้องดูว่าเราจะแก้ไขอย่างไร คนเสื้อแดงต้องชม หลายคนก็รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณกะล่อน แต่อีกหลายคนไม่รู้ จะทำอย่างไร ต้องให้เขาเข้าหาสัจจะ อหิงสา ส่วนประชาชนพื้นล่าง ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ประชาธิปไตยพื้นฐาน พวกเอ็นจีโอ ต้องลงไปหาพวกนี้ ที่นายคำนูณพูดว่าสิ่งที่คณะกรรมชุดนายอานันท์เสนอเป็นพื้นฐานที่ทำได้ ที่ นพ.ประเวศเสนอก็ทำได้ ต้องเอามาศึกษา
ดร.วรเจตน์กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตยบ้านเรา เราต้องยึดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตนเห็นด้วยที่จะปฏิรูปให้การเลือกตั้งยุติธรรม ปฏิรูประบบตุลาการ ปฏิรูปสภาผู้แทน แต่พื้นฐานสำคัญ คือ คะแนนเสียงที่ให้ไปแล้วไม่ถูกเคารพ เราต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนก่อน ส่วนไม่เห็นด้วยก็ค่อยๆ เปลี่ยน ว่ากันไปตามระบบที่ถูกต้อง แต่คนต้องมีสิทธิตัดสินใจก่อน การปฏิรูปโครงสร้างต้องทำทั้งหมด นิติราษฎร์มีความคิดเห็นบางส่วน ที่จะทยอยเสนอออกมา อย่างน้อยจะทำให้เกิดการถกเถียงกัน แต่พื้นฐานต้องเป็นตรงนี้ ถ้าบอกว่าประชาธิปไตยเราต้องเคารพคะแนนเสียงประชาชน
นายคำนูณกล่าวว่า ปัญหาคือ นักการเมือง กลุ่มทุน ธนาธิปไตย เมื่ออำนาจอยู่ในมือเขาแล้ว เขาไม่ไปต่อ เมื่อบ้านเมืองมีวิกฤติ เราหาทางออก จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อยากจะเสนอภาพรวมว่าไปให้ไกลถึงจุดนั้นเลย ให้มีการปฏิรูปรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง การจัดโครงสร้าง องค์กรของรัฐ ประเทศไทยต้อมีพิมพ์เขียว ของสิ่งที่อยากให้เป็น เราถึงจะเขียนโครงสร้างการจัดการทางการเมืองไปตรงนั้น การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ แต่ทำเท่าที่จำเป็นได้ไหม เรื่องการปฏิรูปรัฐบาลต้องตอบคำถามที่ว่าไม่มีการบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลเลย ทั้งกรรมการชุดนายอานันท์ นพ.ประเวศ เพราะอะไร ตกลงจะไม่เอาหรืออย่างไร ก็เอาให้ชัดเจน คนที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาแล้วจะปรองดองสังคมได้ จะต้องเป็นผู้ให้ ต้องเป็นผู้เสียสละด้วย ไม่ใช่ชนะการเลือกตั้งมาแล้วรุกต่อ ถือว่ามีอาญาสิทธิจากการเลือกตั้ง จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในอนาคต
ดร.ไชยันต์กล่าวว่า ทางออกของประเทศไทย กระบวนการที่สำคัญ คือต้องให้ประชาชนเข้ามาถกเถียง ให้ประชาชนได้เรียนรู้จากโจทย์จริง การไม่ชอบรัฐประหาร การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตอนนี้ธนาธิปไตย ก็จะอ่อนลงอยู่แล้ว จากการที่ประเทศยากจน เลือกนักการเมืองฉ้อฉลเข้ามา เพราะมีการซื้อขายเสียง แต่แนวโน้มจะไม่เป็นการซื้อขายเสียง แต่จะเข้าสู่เรื่องของประชานิยม ซึ่งน่ากลัวกว่าธนาธิปไตย ประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่โหมดนี้ ไม่ได้ซื้อขายเสียง แต่เลือกด้วยความเต็มใจ โดยเลือกนโยบายที่เป็นประชานิยม อันนี้น่าห่วงกว่า ประเทศจะฉิบหายได้ การเลือกตั้งที่เป็นการใช้ประชามติรับรองตัวบุคคล อย่างฮิตเลอร์ใช้กึ่งๆ การเลือกตั้งเพื่อรับรองตัวเองเข้าไปสู่อำนาจ การเลือกตั้งคือการรับรองยอมรับนโยบาย อย่างเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ เอาการเลือกตั้งมารับรองตัวเองว่าชอบธรรม
ดร.วรเจตน์กล่าวว่า ฮิตเลอร์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ขึ้นครองอำนาจได้ เพราะมีกลุ่มอีลิทผลักดันให้ขึ้นสู่อำนาจ ไม่อยากให้เอามาเปรียบเทียบกับบ้านเรา และคนเยอรมันก็ไม่ชอบให้เอาฮิตเลอร์ไปเทียบกับใคร ส่วนเรื่องการเลือกตั้ง ต่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณชนะ ก็ไม่ใช่เป็นการฟอกความผิด เพราะในที่สุดกระบวนการตรวจสอบก็จะเดินต่อไปได้ แต่การเปิดโอกาสให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร สร้างความเสียหายกับประเทศรุนแรงกว่า ซึ่งไม่อาจแก้ไขได้ จริงอยู่ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแค่การเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของประชาธิปไตย ทุกๆ 4 ปีก็มีการเปลี่ยนแปลง ประชาชนก็จะเข้มแข็งขึ้น และเรียนรู้ไปด้วยกัน จะทำให้ระบอบไปได้ดีด้วย
นายสุลักษณ์กล่าวถึงเรื่องมาตรา 112 ว่า ชัดเจนว่าต้องแก้ไข มีคนชอบอ้างสถาบันฯ ใช้ไม่ได้ ต้องแก้ไข ตอนนี้กฎหมายหมิ่นประมาทก็มีมากมายแล้ว เรื่อง ม.112 ต้องปรับบทลงโทษให้ไม่แรงขนาดนี้ ประการที่สอง ไม่ใช่ใครๆ ฟ้องได้ ต้องให้มีคณะกฎหมายกลุ่มหนึ่งขึ้นมาดู ไม่อย่างนั้นจะมีคดีเรื่องนี้เต็มไปหมด
นายคำนูณกล่าวว่า กฎหมายทุกมาตรการสามารถแก้ไขได้ อย่างมาตรา 112 ก็แก้ได้ แต่ไม่ยกเลิก เคยมีการศึกษาว่าใครควรจะเป็นผู้ฟ้อง และเรื่องอัตราโทษที่เพิ่มขึ้นภายหลังปี 2519 มีอัตราโทษเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตนไม่เห็นด้วยที่ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกันทางการเมือง แต่เรื่องนี้ถูกผูกโยงในช่วง 4-5 ปีนี้ ถูกผูกโยงกับบริบททางการเมืองอื่นๆ ซึ่งยังมีเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้ามีพิมพ์เขียวการปฏิรูปประเทศโดยรวม สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะมีการพูดถึงในฟอรั่มนั้น โดยบุคคลที่เป็นอิสระทางการเมือง แต่ตอนนี้มีการเอา ม.112 มาผูกโยง กับการแก้รัฐธรรมนูญ จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการเมือง ดังนั้น ต้องแยกเป็นเรื่องๆ ไป
ดร.ไชยันต์กล่าวว่า ตนเห็นว่าควรยกเลิก แต่ต้องมีประชาพิจารณ์ ต้องให้ประชาชนได้พูดคุย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปแก้กฎหมาย เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ ในสิ่งที่ประชาชนได้รับผลกระทบ หรือได้ยินอะไรมา เป็นเรื่องดี จะทำให้สถาบันฯ มีความโปร่งใส และมีการปรับตัว เพื่ออยู่ร่วมกันต่อไป แต่ถ้ามีการกดเอาไว้ ก็จะเกิดการเคลื่อนไหวใต้ดิน มีปัญหาเรื่องล้มเจ้า รักเจ้า ต้องดูว่าทิศทางของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญลงรอยหรือยัง จะไปต่ออย่างไร น่าจะพูดคุยกันได้ โดยไม่ต้องเจอข้อหาอะไรแบบนี้
ดร.วรเจตน์กล่าวว่า ใครจะพูดเรื่องนี้ต้องกล้าหาญมาก เพราะจะถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานล้มเจ้า แต่เจตนาคือต้องการรักษาสถาบันฯ ไม่ใช่พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เรื่อง ม.112 มีปัญหา เรื่องตัวบท และอุดมการณ์เบื้องหลังตัวบท ถ้าศาลตีความอุดมการณ์เบื้องหลังตัวบทในกรอบแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ใช่ เพราะ ต้องเข้าใจว่าอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่วนเรื่องอัตราโทษนั้นชัดเจน การกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีกัน ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันฯ ถ้าจะปฏิรูปกฎหมายมาตรานี้ เสนอให้ย้อนดูรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ม. 112 เป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่มีคนเกี่ยวข้องมาก มีคนถูกจับ จึงต้องทำก่อน ส่วนในเรื่องอื่นๆ เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เรื่ององคมนตรี ไม่พูดถึงไม่ได้ ถ้าต้องการให้สังคมเข้มแข็งทางสติปัญญา
นายสุลักษณ์กล่าวว่า การปกครองแบบราชอาณาจักร มีรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ ถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่แยกออกจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็อยู่ไม่ได้ เพราะ ที่ผ่านมาสำนักงานทรัพย์สินฯไม่เคยถูกตรวจสอบเลย มีอำนาจแอบแฝงอยู่ สถาบันฯ จะอยู่ได้ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเชื่อว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก็คงประสงค์เช่นนั้น อนาคตก็สดใสงดงาม อยากให้ทำเรื่องนี้เพื่อถวายเป็นราชพลีในโอกาสพิเศษเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษาในปีนี้