xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” ติงอภิปรายไม่แตะนายกฯ ทำให้ไม่เห็นความล้มเหลวรัฐในภาพรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุริยะใส” ชี้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่แตะนายกฯ ทำให้ประชาชนไม่เห็นถึงความล้มเหลวการบริหารจัดการในภาพรวม ระบุเรื่องทุจริตก็สำคัญแต่หลักฐานชัดขนาดนี้ฟ้อง ป.ป.ช.เพื่อจัดการก็ได้ ด้าน “รศ.ตระกูล” แนะแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว ต้องปฏิรูปโครงสร้างบริหาร อย่างทุกวันนี้องค์การส่วนท้องถิ่นทำงานไม่เป็นระบบ มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ต่างก็จะปกป้องแต่พื้นที่ของตัวเอง พร้อมหนุนควรให้ผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้งเหมือน กทม.

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”  

วันที่ 28 พ.ย. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว และ รศ.ตระกูล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดยนายสุริยะใสกล่าวว่า การอภิปรายฝ่ายค้านไม่แตะน.ส.ยิ่งลักษณ์ คงกลัวคนว่าเอาช่วงน้ำท่วมมาเล่นการเมือง พอเข้าใจเหตุผลของประชาธิปัตย์ แต่สิ่งที่ฝ่ายค้านขาดคือการให้เห็นภาพรวมทั้งหมด กลัว เกร็งอะไรนักหนา ต้องเล่นตรงๆ นายกฯอย่างไรก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นคนตั้ง พล.ต.อ.ประชา

การอภิปรายเมื่อวาน 80 เปอร์เซ็นต์ ลดรูปความล้มเหลวการบริหารของรัฐไทย ให้เหลือแค่การทุจริตข้าวกล่อง ซึ่งก็ไม่ได้มีการห้ามพาดพิงนายกฯ แต่ในเมื่อนายกฯเป็นคนเซ็น มันหนีความรับผิดชอบไม่พ้น แม้ไม่ถูกพาดพิงก็หนีไม่พ้นในทางกฎหมาย เรื่องทุจริตข้าวกล่อง หลักฐานชัดขนาดนั้นเอาไปฟ้อง ป.ป.ช.ก็ได้แล้ว หรือแค่เปิดแถลงข่าวที่พรรคก็เป็นข่าวหน้าหนึ่งแล้ว แต่เสียดายเวลาถ่ายทอดสดออกทีวีทั้งวัน ควรให้เห็นภาพกว้างมากกว่า

นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า การวางผังเมืองใหม่ไม่พอ ต้องวางผังอำนาจการจัดการด้วย อย่าง จ.ปทุมธานี มี ส.ส. 2-3 พรรค บางคนเป็นรัฐมนตรีด้วย ยั้วเยี้ยไปหมด พอมาจากขั้วอำนาจที่ต่างกันก็เลยจะปกปักแต่พื้นที่ของตัวเอง รูปแบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ต้องกลับมาดูอย่างจริงจัง ถ้า ดร.โกร่งคิดแค่ว่าจะทำฟลัดเวย์ ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ถ้าไม่คิดจัดผังอำนาจใหม่ อันนี้น่ากลัว

ด้าน รศ.ตระกูลกล่าวว่า เรื่องอุทกภัยเป็นส่วนหนึ่ง แต่การบริหารจัดการของคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็สำคัญ การอภิปรายเมื่อคืน ประชาชนควรรู้เรื่องนี้ หนังสือคำสั่งของศปภ.แต่ละอันมีคนรับผิดชอบหมด แต่กลไกมันไม่เดิน อย่างประกาศอพยพ ในประกาศมีระบุทุกฝ่าย แต่การปฏิบัติจริงไม่มีใครทำ

การอภิปราย พล.ต.อ.ประชาเป็นเพียงตุ๊กตา ที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐผิดพลาดตรงไหน น้ำหนักคงไม่ใช่เรื่องซื้อส้วมแบบไหน เรื่องแบบนั้นผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ประเด็นใหญ่คือ ระบบบริหารจัดการ อย่างน้อยจะได้เป็นบทเรียนให้รัฐเห็นว่าถ้าเกดิเหตุการณ์แบบนี้ในอนาคตจะตั้งรับอย่างไร มันไม่ใช่แค่ออกคำสั่งโน่นนี่ แต่งานไม่ออกตามคำสั่ง

รศ.ตระกูลกล่าวอีกว่า การที่นายกฯใช้อำนาจตามมาตรา 31 ของพรบ.บรรเทาสาธารณภัยแสดงว่านายกฯยึดอำนาจผู้ว่ากทม.แล้ว การสั่งผู้ว่าให้ทำก็ต้องทำ ไม่อย่างนั้นเป็นการขัดคำสั่ง สามารถให้รมว.มหาดไทยดำเนินการได้ มองจริงๆแล้วศปภ.มีอำนาจเหนือกว่า แต่โครงสร้างการบริหารไม่เป็นอย่างนั้น แสดงว่าเบื้องหลังมีการเมืองระดับชาติที่ถือหางกันอยู่ และขี่กันอยู่ในเรื่องของพื้นที่

ปัญหาเชิงการเมืองและการบริหารในพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี ระบบบริหารเป็นระบบซ้อน ระบบภูมิภาค ผู้ว่าฯ จ.ปทุมธานีคนเก่า เป็นอีกพรรค ส่วนนทบุรีก็เป็นภูมิภาค คนที่สั่งการลงไปยังภูมิภาค คือ รมว.มหาดไทย นายกฯก็สั่งได้แต่ไม่ใช้ แต่กลับให้ ศปภ.สั่ง ซึ่ง ศปภ.มาจากกระทรวงยุติธรรม ระบบแบบนี้มันแปลก  

เราเห็นเลยว่า ระบบบริหารระบบภูมิภาคไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ภาระก็เลยตกมาที่องค์กรท้องถิ่น อย่างเทศบาลนครนนทบุรี และเทศบาลนครปากเกร็ด ผู้บริหารเก่งมากสามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้ แต่มันก็แค่ 2 พื้นที่ แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีบทบาท ต่างกับจังหวัดที่ห่างไกลออกไปอย่างนครสวรรค์ พิษณุโลก จังหวัดพวกนี้งค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีบทบาท เพราะมันอิงการเมืองระดับใหญ่ สามารถประสานผู้ว่าฯจังหวัดได้ดี ทำงานกับชาวบ้าน เทียบกับนนท์ กับปทุมฯ ซึ่งเป็นคนเมือง ระบบที่จะเข้าถึงมันไม่มี นี่คือโครงสร้างบริหารที่รัฐบาลต้องลงมาดู

ต่อไปที่จะเป็นปัญหาใหญ่คือ พวกหมู่บ้านจัดสรรราคาแพง ดูแลโดยนิติบุคคล ถ้าโครงสร้างบริหารยังเป็นอย่างนี้อยู่ พวกหมู่บ้านรวยๆก็จะจัดการบล็อกกันเอง แต่ชาวบ้านจนๆ จะทำอย่างไร คนเหล่านั้นยังต้องพึ่งพาท้องถิ่น พึ่งพารัฐ แล้วในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลทำอะไรได้ งบมีนิดเดียว อย่างตนอยู่ปทุมธานี ตอนนี้อยากหาคนรับผิดชอบ ไม่มี แต่ถ้าผู้ว่าฯเลือกตั้งมาแบบ กทม. ผู้ว่าฯ คนนั้นเดือดร้อนแล้ว เราควรเริ่มจากจังหวัดเหล่านี้ก่อน สมควรให้มีผู้รับผิดชอบที่ประชาชนเลือก



กำลังโหลดความคิดเห็น